- 13 ต.ค. 2560
ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่เพจความจริง และ www.tnews.co.th
พระราชดำรัส
“...ที่หาดใหญ่ ที่น้ำท่วมอย่างมากมายเช่นนี้ ท่านผู้ที่อยู่ในท้องที่ก็ได้เห็นด้วยตาของตนเอง แต่ว่าไม่ทันรู้ว่ามันมาอย่างไร ถ้าถามผู้อยู่ที่หาดใหญ่เองทั้งประชาชน ทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารและพลเรือน ว่าน้ำนั่นมาอย่างไร สักแปดสิบเปอร์เซ็นต์จะไม่ทราบ แม้แต่ผู้ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในทางอุทกศาสตร์ หรือในทางชลประทานก็ไม่ทราบ ความจริง ก่อนที่เกิดเรื่องอย่างนี้ได้เคยไปที่หาดใหญ่แล้ว และเคยไปชี้ว่าควรที่จะทำอะไร แต่ไม่ได้ทำ หรือทำแล้ว ก็ได้สร้างอะไรอื่น ๆ ขึ้นมาขวางกิจการที่จะป้องกัน หรือทำให้ไม่เกิดอุทกภัยเช่นนี้ ถ้าไปดูท่านผู้ที่อยู่แถวนั้น และจะกลับบ้าน หรือกลับไปในที่ที่ไปปฏิบัติได้ ให้ไปดูทางด้านตะวันตกของเมือง มีถนน แต่ว่าถนนนั้นพยายามทำขึ้นมาแล้วเป็นคล้าย ๆ ผนังกั้นน้ำมิให้น้ำเข้าไปในเมือง ก็ไม่ได้ทำหรือทำแล้วก็ไม่ได้รักษา ทางทิศเหนือ หรือทางตะวันตกเฉียงเหนือ มีถนนที่กำลังสร้าง หรือสร้างใหม่ ๆ กั้นน้ำเป็นเหมือนเขื่อน มิให้น้ำออกจากตัวเมืองได้ จึงทำให้น้ำท่วมในตัวเมืองถึง ๒ เมตร ๓ เมตร ทีแรกได้ยินข่าวว่าน้ำท่วม ๒ เมตร ๓ เมตร ไม่เชื่อ ฟังวิทยุ ดูในหนังสือพิมพ์ว่า ทำไมน้ำจะท่วมได้ ๒ เมตร ๓ เมตร ก็เป็นความจริงว่าท่วม ท่วมรถยนต์ไม่เห็นเลย ท่วมไปหมด คนที่อยู่บ้านชั้นเดียว ก็ต้องปีนขึ้นไปบนหลังคา อันนี้เป็นความจริง แต่ว่าถ้าหากทำอย่างที่ว่า ซึ่งบอกให้ทำมาเป็นเวลากว่า ๑๐ ปีแล้ว ทำพนัง หรือคัน และไม่ทำถนนที่กั้นน้ำเป็นเขื่อน ก็จะทำให้ตัวเมืองหาดใหญ่ไม่เป็นอ่างเก็บน้ำ ที่แปลก โดยมากก็ชอบทำเป็นอ่างเก็บน้ำ เพื่อจะเก็บน้ำเอาไว้ใช้ แต่นี่มาทำอ่างเก็บน้ำเอาไว้จม...”
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชการที่ 9 พระราชทานในโอกาสที่คณะกรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เข้าเฝ้า ฯ ณ ศาลาดุสิดาลัย วันจันทร์ ที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๓
โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ตามแนวพระราชดำริ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชการที่ 9 ได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานร่วมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการแก้ไขและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน และพื้นที่ธุรกิจในเขตอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้ เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2531 ได้เกิดอุทกภัยอย่างรุนแรง สร้างความเสียเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีสาเหตุสำคัญเนื่องมาจากปริมาณน้ำคลองอู่ตะเภาที่ไหลผ่านอำเภอหาดใหญ่ มีระดับสูงล้นตลิ่ง แล้วไหลบ่าเข้าท่วมบริเวณกลางเมืองหาดใหญ่ และพื้นที่ทั่วไปเป็นบริเวณกว้าง น้ำที่ไหลบ่าเข้ามานั้นได้ท่วมพื้นที่ต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว และท่วมขังมีความลึกมากทำให้สภาพเศรษฐกิจ โดยส่วนรวมของอำเภอหาดใหญ่และทรัพย์สินของราษฎรได้รับความเสียหายอย่างไม่เคยปรากฏ เช่นนี้มาก่อน การแก้ไขและบรรเทาอุทกภัยด้วยวิธีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่คลองอู่ตะเภาและลำน้ำสาขา เพื่อสกัดน้ำจำนวนมากไม่ให้ไหลลงมายังเมืองหาดใหญ่นั้น คงไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะไม่มีทำเลที่เหมาะสมในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำที่มีขนาดใหญ่ดังกล่าวได้ ดังนั้นการแก้ไขและบรรเทาน้ำท่วมที่ควรพิจารณาดำเนินการ น่าจะได้แก่การขุดลอกคลองระบายน้ำที่มีอยู่ พร้อมกับขุดลอกคลองระบายน้ำขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นอีกให้สามารถระบายน้ำและแบ่งน้ำจากคลองอู่ตะเภาที่ไหลลงมาท่วมตัวอำเภอหาดใหญ่ ให้ระบายลงสู่ทะเลสาบสงขลาโดยเร็วทั้งนี้ให้พิจารณาร่วมกับระบบผังเมืองให้มีความสอดคล้อง และได้รับประโยชน์ร่วมกันด้วย
พระองค์ท่านทรงดำรัสไว้ว่า
“...การแก้ไขและบรรเทาอุทกภัยด้วยวิธีการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่คลองอู่ตะเภาหรือตามลำน้ำสาขาเพื่อสกัดกั้นน้ำจำนวนมากไม่ให้ไหลมายังเมืองหาดใหญ่นั้นคงไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะไม่มีทำเลที่เหมาะสมในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำที่มีขนาดใหญ่ดังกล่าวได้เลย ดังนั้นการแก้ไขและบรรเทาน้ำท่วมที่ควรพิจารณาดำเนินการ น่าจะได้แก่การขุดคลองระบายน้ำขนาดใหญ่ ให้ทำหน้าที่แบ่งน้ำจากคลองอู่ตะเภาหรือช่วยรับน้ำที่ไหลลงมาท่วมตัวอำเภอหาดใหญ่ ให้ระบายลงสู่ทะเลสาบสงขลาโดยเร็ว นอกจากนั้นหากต้องการที่จะป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนและพื้นที่ธุรกิจให้ได้ผลโดยสมบูรณ์แล้ว หลังจากที่ก่อสร้างคลองระบายน้ำเสร็จ ก็ควรพิจารณาสร้างคันกั้นน้ำรอบบริเวณพื้นที่ดังกล่าวพร้อมกับติดตั้งระบบสูบน้ำออกจากพื้นที่ไม่ให้ท่วมขังตามความจำเป็น ทั้งนี้ให้พิจารณาร่วมกับระบบของผังเมืองให้มีความสอดคล้องและได้รับประโยชน์ร่วมกันด้วย...”