- 26 ม.ค. 2562
สมเด็จพระเทพฯเสด็จฯองค์ประธานประชุมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก
จากกรณีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะองค์ประธานที่ปรึกษาการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีหมายกำหนดการจะเสด็จพระราชดำเนินร่วมการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ 1/2562 ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล ในวันนี้เวลา 17.30 น. โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เฝ้าฯ รับเสด็จ โดยเมื่อวันที่ 10 ม.ค.62 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเตรียมการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อรับทราบหมายกำหนดการพระราชพิธี วันที่ 4-6 พ.ค.62 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้บัญชาการเหล่าทัพและผู้แทนสำนักพระราชวังเข้าร่วมนั้น
ต่อมาจากนั้นภายหลังการประชุม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยว่า การแถลงรายละเอียดขอเป็นหลังวันที่ 26 ม.ค.นี้ เนื่องด้วยวันดังกล่าว เวลา 17.30 น. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะทรงพระกรุณาเสด็จเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะองค์ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการฯ จะเสด็จมาเป็นประธานในที่ประชุม ทั้งนี้ ประธานองคมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา เข้าร่วมประชุมด้วย และในส่วนของนายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยแบ่งเป็นคณะกรรมการต่างๆ 7 คณะ
“ประกอบด้วย 1.ฝ่ายพิธีการ มีตนเป็นประธาน 2.คณะกรรมการฝ่ายรักษาความปลอดภัย มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน 3.คณะกรรมการฝ่ายโครงการต่างๆมีพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ยุติธรรมเป็นประธาน 4.คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ มีพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน 5.คณะกรรมการฝ่ายกลั่นกรองการเสนองบประมาณ มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน 6.คณะกรรมการในส่วนของการทำจดหมายเหตุ และ 7.กรรมการในส่วนประสานงานต่างๆซึ่งเป็นชุดย่อยลงไป”
อย่างไรก็ตาม หลายเรื่องในที่ประชุมวันนี้ต้องนำความกราบบังคมทูลในวันที่ 26 ม.ค.ก่อน และบางเรื่องต้องขอพระราชวินิจฉัยจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รวมถึงบางเรื่องต้องนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทด้วย จึงไม่สามารถแถลงได้
ทั้งนี้นายวิษณุ ยังกล่าวอีกว่า โดยเบื้องต้นให้เป็นความรู้ก่อนว่า ขณะนี้หมายกำหนดการออกมาแล้วว่า พระราชพิธีจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน 1.การเตรียมการเบื้องต้น 2.พระราชพิธีเบื้องกลาง และ3.ส่วนที่เป็นกิจกรรมต่อเนื่องเบื้องปลาย โดยพระราชพิธีเบื้องกลางคือ ตัวพระราชพิธีที่มี 3 วันคือ วันเสาร์ที่ 4 พ.ค.วันอาทิตย์ที่ 5 พ.ค.และวันจันทร์ที่ 6 พ.ค.แต่พิธีเบื้องต้นที่นำหน้ามาก่อนนั้นมีเกือบเต็มทั้งเดือนเม.ย.โดยจะเริ่มจากพิธี"พลีกรรม"คือพิธีตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.กระทั่งสิ้นเดือนเม.ย.และต่อด้วยเดือนพ.ค.ในวันที่ 2-3 พ.ค.ต่อจากนั้นจะเข้าสู่พิธีเบื้องกลางซึ่งเป็นพระราชพิธีบรมราชภิเษกในวันที่ 4-6 พ.ค.
“โดยวันสำคัญที่สุดคือวันที่ 4 พ.ค.ที่ในปีนี้เป็นวันบรมราชาภิเษก แต่ในปีหน้าวันที่ 4 พ.ค.63 จะไม่ใช่วันบรมราชภิเษก เพราะบรมราชาภิเษกไปแล้ว จึงเป็นวันที่ระลึกถึงการบรมราชภิเษก ซึ่งปีหน้าวันที่ 4 พ.ค.63 จะเรียกว่า"วันฉัตรมงคล"และจะเรียกตลอดไปในรัชกาลนี้ ส่วนกิจกรรมเบื้องปลายต่อเนื่องหลังวันที่ 6 พ.ค.คือในวันที่ 8-9 พ.ค.ซึ่งเป็นพระราชพิธีพืชมงคล และหลังจากนั้นจะเป็นกิจกรรมของรัฐบาลและประชาชน ที่จะจัดน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย ตรงนี้หลายๆอย่างต้องรอให้คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องประชุมกันอีกครั้ง”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สมเด็จพระเทพรัตนฯ พระราชทานพร วันตรุษจีน ปีกุน 2562
- พระเทพฯเสด็จพะเยา ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์เฝ้าฯ สุดปลาบปลื้มพระราชทานรถให้โรงเรียนใช้โดยสาร
- พระเทพฯเสด็จอุทยานร.2 ท่ามกลางแดดบ่ายฉลองพระองค์เปียก แต่พระพักตร์ทรงยิ้มแย้มตลอดชั่วโมง