สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่อยากรบกวนเชิญพระราชอาคันตุกะงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่อยากรบกวนเชิญพระราชอาคันตุกะงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แต่หากใครมาให้ถือเป็นแขกรัฐบาล

จากกรณีวันนี้(1 มี.ค.) คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ “งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” นำโดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการฝ่ายพิธีการ เป็นประธาน และ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล, พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และ นางทัศนีย์ ผลชานิโก รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ร่วมแถลงข่าวงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 1/2562 ห้องประชุม 1 อาคารหอประชุมกรมประชาสัมพันธ์ กรุงเทพฯ

 

ทั้งนี้ในฐานะประธานฝ่ายพิธีการงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก นายวิษณุ เครืองาม กล่าวว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่กำลังจะมีขึ้นในอีกประมาณ 1 เดือนข้างหน้านี้ ถือว่าเป็นพระราชพิธีสำคัญที่ยิ่งใหญ่เป็นอันดับที่ 2 รองจากพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ซึ่งไม่ต้องมีการก่อสร้างถาวรวัตถุใดๆ เพียงแต่เอาโบราณวัตถุเดิมที่มีอยู่มาบูรณะซ่อมแซมใหม่ ส่วนใหญ่หนักในเรื่องของขั้นตอนพิธี ซึ่งเป็นพิธีพราหมณ์ตามพระราชประเพณี แบ่งออกได้เป็น 3 ช่วงเวลา ได้แก่ พระราชพิธีเบื้องต้น เบื้องกลาง และเบื้องปลาย

 

สำหรับฝ่ายจัดพิธีการจะต้องมีการเตรียมการต่าง ๆ ดังนี้ 1. เตรียมเรื่องตราสัญลักษณ์ ซึ่งจะใช้ประทับลงบนคนโทน้ำศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงมอบให้ กทม.นำไปประดับตกแต่งสถานที่และเส้นทางเสด็จฯ ตลอดจนธงพระราชพิธีที่มีพื้นสีเหลืองและตราสัญลักษณ์อยู่ตรงกลาง และจัดทำเป็นเข็มที่ระลึก ซึ่งจะจัดทำเป็นเข็มพระราชทานแก่ข้าทูลละอองทุลีพระบาท และสำนักนายกรัฐมนตรีจะขอพระราชทานพระราชานุญาตนำไปจัดทำเป็นเข็มที่ระลึกเพื่อจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป

 

 

 

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่อยากรบกวนเชิญพระราชอาคันตุกะงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 

2. เตรียมเลือกพระบรมฉายาลักษณ์ เพื่อให้มีการใช้ให้เหมือนกันทั้งประเทศ 3. เตรียมน้ำสำหรับใช้พิธีสรงมุรธาภิเษก โดยจะมีพิธีพลีกรรมวันที่ 6 เมษายน 4. เตรียมน้ำศักดิ์สิทธิ์จากทุกจังหวัด สำหรับใช้เป็นน้ำอภิเษก จะมีพิธีตักน้ำจากแหล่งศักดิ์สิทธิ์พร้อมกันในวันที่ 6 เมษายน โดยวันที่ 8-9 เมษายน จะเชิญน้ำไปจัดเก็บในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของแต่ละจังหวัด จากนั้นแต่ละจังหวัดจะเชิญไปเก็บไว้ที่ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยจัดเก็บในคนโทตราสัญลักษณ์

 

5.ตระเตรียมเครื่องมือเครื่องใช้แผ่นทองคำสำหรับใช้จารึกพระสุพรรณบัฏ แกะดวงพระราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกร 6. เครื่องมือเครื่องใช้ก่อสร้างมณฑปพระกระยาสนาน ซ่อมเกยสำหรับที่จะเสด็จลงเสลี่ยงหรือพระราชยานก้าวลงประทับแล้วเสด็จฯ เข้าสู่พระอุโบสถ 7. การเตรียมเกี่ยวกับขบวนพยุหยาตรา ซึ่งในสถลมารคจะใช้ระยะเวลาทั้งหมด 4 ชั่วโมง 30 นาที ฝ่ายทหารได้มีการเตรียมการในส่วนนี้แล้ว ส่วนชลมารคซึ่งจะมีช่วงปลายเดือนตุลาคม โดยใช้เรือในพระราชพิธี ประกอบด้วย เรือพระที่นั่ง 4 องค์ ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์ และเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ ในรัชกาลที่ 9 และเรือพระราชพิธีอีก 48 ลำ ใช้ฝีพายจำนวน 2,200 นาย โดยขบวนพยุหยาตราชลมารคจะเริ่มที่ท่าวาสุกรีไปยังวัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหาร และจะมีการเห่เรือตลอดเส้นทาง ระยะทาง 4 กิโลเมตร

 

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่อยากรบกวนเชิญพระราชอาคันตุกะงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 

“ที่สำคัญคือการประชุมตระเตรียมคัดเลือกบุคคลที่จะเข้าเฝ้าฯทูลละอองทุลีพระบาทในพิธีต่าง ๆ อาทิ พิธีในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พิธีในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พิธีในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พิธีเสด็จออกมหาสมาคมที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท และภายในพระอารามหลวงทั้ง 3 แห่ง เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านสถานที่

 

นอกจากนี้ วันที่ 6 พฤษภาคม เสด็จออกสีหบัญชร ประชาชนสามารถเฝ้าทูลละอองทุลีพระบาทฯ ถวายพระพรชัยมงคลได้ที่ถนนสนามไชย สวนสราญรมย์ ศาลฎีกา ไปจนถึงสนามหลวง คาดว่าจะมีประชาชนนับแสนนับล้านร่วมเฝ้าชื่นชมพระบารมี ซึ่งกรุงเทพมหานคร จะติดตั้งจอแอลอีดีเพื่อให้ประชาชนได้รับชมการถ่ายทอดสดอย่างพร้อมเพรียงกัน หลังจากนี้ จะเสด็จรับคณะทูตถวายพระพรชัยมงคล ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นการเสร็จพระราชพิธีเบื้องกลาง”

 

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่อยากรบกวนเชิญพระราชอาคันตุกะงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 

อย่างไรก็ตามนายวิษณุ ยังกล่าวอีกว่าส่วนเรื่องการเชิญพระราชอาคันตุกะ ได้ตกลงกันว่าจะไม่มีการเชิญ เพราะพระองค์ท่านตรัสว่าไม่อยากให้มีการรบกวน แต่หากประเทศใดจะเดินทางมาให้แจ้งความประสงค์มา จะถือเป็นแขกของรัฐบาล เราจะดูแลต้อนรับอำนวยความสะดวกอย่างดี

 

นอกจากนี้ นายวิษณุ กล่าวอีกว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงแนะนำให้ระมัดระวังเรื่องการเคลื่อนย้ายผู้คนระหว่างพิธีต่างๆ เนื่องพระราชวงศ์หลายพระองค์ รวมทั้งบุคคลสำคัญต่าง ๆ หลายท่านเป็นผู้สูงอายุ การเดินจากที่หนึ่งไปยังที่หนึ่งเป็นการเปลี่ยนจุดที่ละเอียดอ่อน จะต้องเป็นฝ่ายรอเฝ้าฯ ก่อนหรือตามไปเฝ้าฯ ทีหลังต้องได้จังหวะจะโคนที่พอดีสำหรับพระราชพิธีครั้งนี้รัฐบาลตั้งงบไว้ 1,000 ล้านบาท จะถูกนำมาใช้อย่างเป็นประโยชน์ ใช้ไปแล้วจะอยู่คงทนถาวร ไม่สิ้นเปลือง เช่นในการปรับปรุงเส้นทางต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคตด้วย รวมถึงจะมีการนำสายไฟลงใต้ดิน ตลอดเส้นทางเสด็จฯ เลียบพระนครระยะทาง 7 กิโลเมตร และการซ่อมแซมเรือในพระราชพิธีที่เราไม่ได้ซ่อมมากว่า 10 ปี

 

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่อยากรบกวนเชิญพระราชอาคันตุกะงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 



อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง    
-เตรียมพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ ใจกลาง"กุดน้ำกิน" เพื่อไปใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
-"รัฐบาล" เปิดตัว "หนังสือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก" เผยแพร่ให้ประชาชนได้ตระหนักสำคัญถึง โบราณราชประเพณีของชาติ