- 04 ก.ค. 2562
เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี วันที่ 4 กรกฎาคม 2562 ทรงเจริญพระชนมายุ 62 พรรษา ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน มีพระพลานามัยแข็งแรง ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม
เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี วันที่ 4 กรกฎาคม 2562 ทรงเจริญพระชนมายุ 62 พรรษา ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน มีพระพลานามัยแข็งแรง ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม
เป็นที่ทราบกันดีว่า สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระองค์ทรงศรัทธาเลื่อมใสต่อองค์ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน มาก ถึงกับปวารณาขอเป็นลูกศิษย์ท่านพระอาจารย์มหาบัว ในปี พ.ศ.2538 และขอเป็นบุตรบุญธรรมในปี พ.ศ.2542 ขอเป็นบุตรบุญธรรมหลวงตาฯ อันเนื่องมาจากทรงเคยตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ไปยังวัดป่าบ้านตาดในหลายครั้งอีกด้วย
สำหรับความรักความผูกพันของพระองค์ต่อหลวงตามหาบัว ทรงกล่าวด้วยพระองค์เองอย่างภาคภูมิพระทัยหลายแห่ง หลายวาระ เช่น คราวหนึ่งที่ประทานสัมภาษณ์นิตยสารฉบับหนึ่ง
หลวงตามหาบัวจะมาฉันเช้าที่บ้าน นิมนต์ท่านไว้ อันนี้เป็นความปลาบปลื้มที่สุด เพราะหลวงตาอุตส่าห์รับเป็นศิษย์เมื่อปี พ.ศ. 2538 และเมื่อปีที่แล้วท่านก็รับเป็นบุตรบุญธรรม เป็นความซาบซึ้งมากแล้ว...มีเวลาก่อนนอนที่ไม่ขาดคือสวดมนต์แล้วนั่งสมาธิภาวนา มี 10 นาที ก็นั่ง 10 นาที มี 20 นาที ก็นั่ง 20 นาที แล้วแต่จะเป็นไปได้ แต่ทำเป็นประจำ
อีสานที่ไปบ่อย เพราะว่าศึกษาธรรมะอยู่ที่อุดรธานี ไปเกือบทุกวีกเอนด์ คือว่าตอนที่ไม่สบายแล้วปวดศีรษะไม่หายเสียที อันนี้เป็นเหมือนชะตาฟ้าลิขิต คือธรรมดาพระเถระองค์นี้ท่านไม่เคยไปไหน ท่านไม่ขึ้นเครื่องบิน ท่านมากรุงเทพฯ ไม่ชอบพับลิกซิตี้ ตอนที่ไม่สบายท่านมาโปรดที่โรงพยาบาล แล้วพอท่านพูดธรรมะปั๊บนี่ก็รู้สึกเข้าใจ รู้สึกสบายใจ ดีขึ้นเรื่อย ๆ เลยศึกษาธรรมะ บอกกับท่านว่า คงไม่ถึงกับไปนุ่งขาวห่มขาวหรอก แต่ว่าทำใจได้ขึ้นเยอะ
ท่านบอกว่า ทุกอย่างนี้ไปแบกไว้ทำไม ทุกอย่างมาถึงรับมาพิจารณา ถ้าไม่เกี่ยวกับตัวเราก็จับวาง ถ้าเป็นข่าวลือ ลือไป ถ้าคนมาถาม อธิบายหนเดียว แต่ถ้าถามหลายหนก็ไม่ต้องอธิบายแล้ว แสดงว่าเขาไม่ตั้งใจจะเข้าใจ เขาจะหาเรื่อง
อีกแนวหนึ่งที่เราทำแล้วรู้สึกดีมาก คือนั่งวิปัสสนาที่ท่านหลวงตามหาบัวสอน ยังนั่งอยู่ทุกวัน วันละครึ่งชั่วโมงถึงสี่สิบห้านาที นั่งตอนกลางคืนก่อนนอน ที่ทำอยู่คือกำหนดลมหายใจ อยู่กับคำว่าพุทโธอย่างเดียว
แรก ๆ ก็ทำยาก หลัง ๆ ทำได้ เจตนาของการนั่งคืออยากให้สงบ ไม่ได้อยากเห็นอะไร วิธีปฏิบัตินี่จะนั่งท่าไหนก็ได้ ที่ไหนก็ได้ เดินไปรอบ ๆ ก็ยังได้
นอกจากนี้ ในรายการวู้ดดี้ เกิดมาคุย ยังได้เคยพระราชทานสัมภาษณ์โดยตรัสถึงคำสอนของหลวงตามหาบัวที่ยึดมั่นในพระหฤทัยเสมอมาว่า
คนเราสำคัญที่ใจ เพราะคนเรามีใจเป็นประธาน หากจิตใจดีแล้ว ทุกอย่างจะดีตามไปด้วย เพราะฉะนั้น หากมีสิ่งใดที่กระทบจิตใจ ถูกนินทากล่าวร้าย ขั้นแรกก็ต้องพิจารณาว่า สิ่งนั้นเป็นความจริงหรือไม่ หากเป็นความจริงก็ต้องพิจารณาตัวเอง ปรับปรุงแก้ไขตัวเองก่อนจะไปพิจารณาคนอื่น แต่หากสิ่งที่คนพูดกันนั้นไม่ใช่สิ่งที่ตรงกับความเป็นจริง ก็ต้องปล่อยวางสิ่งนั้นทันที รวมทั้งต้องให้อภัย เพราะการแบกของหนัก ๆ อยู่ มันหนัก ต้องปล่อยวางให้เร็วจะได้สบาย หลวงตามหาบัวเคยสอนไว้ว่า การปล่อยวางเป็นสิ่งที่ทำยาก แต่ก็ต้องค่อย ๆ ทำ ถึงเวลาปล่อยก็ต้องปล่อย และการนั่งสมาธิ ทำจิตใจให้นิ่งสงบจะสามารถช่วยให้ปล่อยวางได้
หลวงตามหาบัวยังสอนอีกว่า อดีตที่เป็นสิ่งที่ผ่านไปแล้ว เราแก้ไขไม่ได้ ดังนั้นเรื่องในอดีตต้องปล่อยวางไปเช่นกัน ส่วนเรื่องอนาคตเป็นสิ่งที่ยังมาไม่ถึง อย่าไปจินตนาการเพราะจะทำให้ฟุ้งซ่าน ดังนั้นควรอยู่และทำปัจจุบันให้ดีที่สุด แล้วอนาคตจะดีเอง
สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ตรัสอีกว่า ทรงเรียกหลวงตามหาบัวว่า "ท่านพ่อ" และหลังจากที่หลวงตามหาบัวละสังขารไป ทรงรู้สึกว้าเหว่อยู่บ้าง แต่ไม่ทรงกรรแสง เพราะหลวงตามหาบัวเคยสั่งไว้ ไม่ให้ร้องไห้ และสอนด้วยว่า หากทูลกระหม่อมเก็บ "พ่อ" ไว้ในใจ "พ่อ" ก็จะอยู่กับทูลกระหม่อมตลอดไป
หลวงตามหาบัว วิปัสสนาจารย์สายพระป่าในประเทศไทย ศิษย์ของพระครูวินัยธรมั่น ภูริทตฺโต ซึ่งมีโอกาสอุปฐากรับใช้หลวงปู่มั่นในช่วงปัจฉิมวัยและเป็นผู้หนึ่งที่ได้บันทึกประวัติของหลวงปู่มั่นโดยละเอียดในเวลาต่อมา ด้วยท่านเป็นพระที่มีจริยวัตรงดงามและเป็นพระสายปฏิบัติ ท่านจึงมีลูกศิษย์มากมาย ไม่แม้แต่ เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ ยังทรงขอเป็นลูกบุญธรรมของหลวงตามหาบัว
ขอบคุณข้อมูลจาก : บทสัมภาษณ์พระราชทานในนิตยสาร Peaple ฉบับเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2543 , หนังสือญาณสัมปันนธัมมานุสรณ์, รายการวู้ดดี้เกิดมาคุย