- 06 เม.ย. 2563
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานพระราชวโรกาสให้นายกรัฐมนตรีเข้าเฝ้าถวายรายงานสถานการณ์ระบาดโควิด-19 และพระราชทานอุปกรณ์ทางการแพทย์มอบแก่โรงพยาบาล
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีพระราชทานพระราชวโรกาสให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เข้าเฝ้าถวายรายงานสถานการณ์ระบาดโควิด-19 และพระราชทานอุปกรณ์ทางการแพทย์มอบแก่โรงพยาบาล
เวลา 10 นาฬิกา 24 นาที วันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 และมาตรการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล
พร้อมกับรับพระราชทานพระบรมราโชบาย และรับพระราชทานอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานแก่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข, โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร, โรงพยาบาลเหล่าทัพ และโรงพยาบาลตำรวจ ประกอบด้วย เครื่องช่วยหายใจ 132 เครื่อง, เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว 50 เครื่อง ซึ่งบางส่วนได้ดำเนินการติดตั้งในโรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว, หน้ากากอนามัย 2 ล้านชิ้น, หมวก Face Shield 3 หมื่น ใบ และชุดป้องกันการติดเชื้อโรค หรือ PPE 4 พันชุด
ทั้งนี้ ด้วยทรงห่วงใยและทรงให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสุขภาพอนามัยของประชาชน รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ในการรักษาโรคโควิด-19 โดยทรงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและทรงทราบว่าหากสถานการณ์รุนแรงขึ้น โรงพยาบาลในประเทศไทยจะมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ไม่เพียงพอ จึงทรงจัดหาพระราชทานแก่โรงพยาบาลต่าง ๆ เพื่อให้พร้อมรับมือกับโรคโควิด-19 อันจะเป็นประโยชน์แก่การให้บริการทางการแพทย์และประชาชน
ในวโรกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราโชบาย เพื่อเป็นแนวทางในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ความตอนหนึ่งว่า “มีอะไรที่จะมีส่วนช่วยเหลือ ที่จะแก้ปัญหาก็ยินดี เพราะว่าก็เป็นปัญหาของชาติ ซึ่งเรื่องโรคระบาดนี่ก็ไม่ใช่ความผิดของใคร แล้วสิ่งที่เกิดขึ้น ก็คือเรามีหน้าที่ที่จะดูแลแก้ไขให้ดีที่สุด อย่างที่เคยพูดไว้ว่า ถ้าเกิดมีความเข้าใจในปัญหา มีความเข้าใจ ไม่ใช่หมายความว่ายอมรับตามบุญตามกรรม แต่มีความเข้าใจในสถานการณ์ มีความเข้าใจในปัญหา และก็มีความรู้เกี่ยวกับโรค ก็คือเข้าใจในปัญหานั่นเอง อันแรกก็เป็นอย่างนี้
อันที่ ๒ ก็คือจากข้อที่ ๑ ก็คือการมีการบริหารจัดการ มีแผนเผชิญเหตุ มีระบบในการปฏิบัติ แก้ไขให้ถูกจุด รู้ปัญหา แก้ไขให้ถูกจุดโดยมีการบริหารจัดการ แล้วก็ในเวลาเดียวกันก็ต้องให้ประชาชนได้เข้าใจถึงวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง และเหตุผลที่จะต้องปฏิบัติ เพราะว่าการมีระบบ หรือแผนในการปฏิบัติตามแผนที่ได้วางไว้ตามความเป็นจริง ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แก้ถูกจุด ก็จะลดปัญหาลงไป จะแก้ได้ในที่สุด
ก็เชื่อแน่ว่าจะต้องแก้ไขและก็เอาชนะอันนี้ได้ เพราะว่าประเทศของเรานี่ก็นับว่าทำได้ดี ประเทศของเรานี่น่าภูมิใจว่าทำได้ดี และก็ทุกคนก็ร่วมใจกัน ก็ดีกว่าที่อื่นอีกหลายที่ แต่บางทีก็ต้องเน้นเรื่องการทำงานมีระบบด้วยความเข้าใจ และการมีระเบียบวินัยในการแก้ไขปัญหา
โดยมีเป้าหมายว่าเราจะต้องต่อสู้ให้โรคนี้สงบลงไปได้ในที่สุด เพราะว่าโรคมาได้ โรคก็ไปได้ โรคจะไม่ไปถ้าเราไม่แก้ไขปัญหา เราไม่แก้ไขให้ถูกจุด หรือเราไม่มีความขันติอดทนที่จะแก้ไข บางทีก็ต้องสละในความสุขส่วนตัวบ้าง หรือเสียสละในการกล้าที่จะสร้างนิสัยหรือสร้างวินัยในตัวเอง ที่จะแก้ไขเพื่อตัวเอง เพื่อส่วนรวม อันนี้เราก็ขอเป็นกำลังใจให้”
โอกาสนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีรับสั่งทรงห่วงใยแพทย์พยาบาล ว่า “...หมออาจจะเหนื่อยหน่อยช่วงนี้ ฝากเป็นกำลังใจให้หมอกับพยาบาลด้วยค่ะ...”
อนึ่งวันนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้คณะแพทย์จากโรงพยาบาลกรุงเทพ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายตรวจพระสุขภาพ โดยมีคณะผู้เเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทร่วมอยู่ในการตรวจด้วย ผลการตรวจปรกติ พระพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง