"นศ.-ปชช." แสดงพลังร่วมอ่านแถลงการณ์ จี้ "บิ๊กตู่" หยุดโรงไฟฟ้าเทพา

ติดตามข่าวสารที่ www.tnews.co.th

 

นักศึกษา ม.อ.ปัตตานี รวมทั้งเครือข่ายคนปัตตานี-สงขลาไม่เอาถ่านหิน และภาคประชาชน ร่วมแสดงพลังอ่านแถลงการณ์ 2 ฉบับ เรียกร้องนายกฯ สั่งยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน
      
      

วันนี้ (22 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวทีคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งจัดโดยนักศึกษาชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ม.อ.ปัตตานี มีเครือข่ายภาคประชาชน และนักศึกษาเข้าร่วมกว่า 1,000 คน เป็นไปอย่างคึกคักมาก
      
      

นายตูแวดานียา ตูแวแมแง แกนนำภาคประชาชน บอกว่า ถ้าโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาสร้างจริง วิถีวัฒนธรรมในพื้นที่จะถูกทำลาย สันติภาพ และความสงบก็จะมีเงื่อนไขต่อการสร้างสันติภาพได้ เหตุความไม่สงบก็เครียดมากแล้ว ทำไมยังส่งควันพิษ หมอกควัน มลพิษ น้ำเสีย จากโรงไฟฟ้าถ่านหินมาให้คนปัตตานีเทพาอีก โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาจะปล่อยมลพิษมาก ไม่เลือกฝ่าย ไม่ใช่กระทบคนหลักสิบหลักร้อย แต่กระทบคนเป็นแสน ซึ่งจะหนักหนาสาหัสกว่าเหตุความไม่สงบมาก
      
      

"แม้มีเทคโนโลยีที่พูดไว้ก็ตาม แต่ก็มักกรองได้ไม่เกิน 90% ส่วนที่เหลือก็ยังทำให้เป็นมะเร็งในระยะยาว อีกเงื่อนไขคือ อำนาจรัฐให้ พ.ร.บ.ความมั่นคงควบคุมสถานการณ์ไม่พอ ประชาชนจะคัดค้านมาก เชื่อว่าในที่สุดก็ต้องนำ พ.ร.บ.ฉุกเฉินกลับมาใช้ กรณีการเกิดระเบิดที่เทพาเมื่อไม่กี่วันนี้อาจเป็นการส่งสัญญาณให้แก่ฝ่ายความมั่นคงก็เป็นได้ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อกระบวนการสันติภาพเลย"
      
      

ขณะที่นักศึกษา อิห์ซาน นิปิ จากมหาวิทยาฟาฏอนี กล่าวว่า นักศึกษาฟาฏอนีได้ออกค่ายที่เทพาพบว่า ที่นั่นสมบูรณ์มาก ลงไปในคลอง สามารถจับปลากระบอกด้วยมือเปล่าได้ เพราะมีปลาเยอะมาก มีป่าชายเลนที่สมบูรณ์มาก มีสวนยาง มีทะเลที่สวยงาม และสมบูรณ์ แต่ กฟผ.และฝ่ายหนุนกลับบิดเบือนให้ข้อมูลสังคมว่า เทพาเหมือนทะลทราย แห้งแล้ง และยากจน ซึ่งเป็นการกล่าวเท็จอย่าวน่ารังเกียจ หากโรงไฟฟ้ามาตั้ง สุขภาพจะแย่ สิ่งแวดล้อมจะเสื่อมโทรม และการปกป้องชุมชนเป็นหน้าที่ของเรา ยิ่งคนมุสลิม ยิ่งต้องปกป้องสังคมไม่ให้ถูกทำลายจากถ่านหินสกปรก
        


ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เครือข่ายภาคประชาชนได้ร่วมกับนักศึกษาออกแถลงการณ์ 2 ฉบับ โดยเนื้อหาในแถลงการณ์ฉบับที่ 1 โดยเครือข่ายนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี เพื่อความเป็นธรรม มีเนื้อหาว่า “ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ประโยชน์ส่วนตนเป็นกิจที่สอง” จากปณิธานข้างต้น ข้าพเจ้า และนักศึกษาได้ตระหนัก และถือปฏิบัติมา
      
      


ซึ่งจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา มีขนาดใหญ่ถึง 2,200 เมกะวัตต์ ต้องเผาถ่านหินวันละ 23 ล้านกิโลกรัม และใช้น้ำจากน้ำทะเลถึงวันละ 9 ล้านลูกบาศก์เมตร มีเนื้อที่โครงการ 2,960 ไร่ ซึ่งมีระยะห่างจากปัตตานีเพียง 3 กิโลเมตร และมีป่าชายเลนที่มีเนื้อที่ประมาณ 10,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่จากอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา จนถึงอำเภอหนองจิก อำเภอเมือง อำเภอยะหริ่ง อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี ซึ่งมีทะเลผืนเดียวกันสำหรับการทำมาหากินที่มีมาแต่บรรพบุรุษ
      
      

โครงการดังกล่าวได้ทำลายฐานทรัพยากรชีวิตของคนสงขลา และจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีวัฒนธรรมการดำรงชีวิตที่ข้องเกี่ยวต่อทะเลเป็นหลัก และส่งผลกระทบต่อประชาชน ระบบนิเวศ และห่วงโซ่อาหารโดยรวมทั้งหมด จากการปนเปื้อนของโลหะหนัก รวมทั้งมลพิษที่ปล่อยออกจากโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งมีขนาดฝุ่นละออง 2.5 ไมครอน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบประสาท หลอดเลือด หัวใจ อีกทั้งยังเป็นมลพิษข้ามแดนที่ไปไกลถึง 1,000 กิโลเมตร และคงอยู่ในชั้นบรรยากาศได้นาน
      
      


การแสดงจุดยืนครั้งนี้ไม่ได้เป็นการขัดขวางการพัฒนา แต่เพียงอยากให้การพัฒนาอยู่บนพื้นฐาน วัฒนธรรม และสิ่งดีงามที่มีมาแต่บรรพบุรุษจะเป็นอย่างไร ถ้าอนาคตข้างหน้า สงขลา เทพา จะนะ และปาตานี แผ่นดินที่มีจิตวิญญาณถูกทับถมด้วยปูนซีเมนต์ ปล่องท่อ และหมอกควัน
      
      

“ทำไมแผ่นดินที่เราร่วมกันรักษาจะต้องมีคนมาเอาไปเพียงเพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มน้อย ในขณะที่คนยากคนจนต้องเป็นคนเสียสละ”

 

ในนามเครือข่ายนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี ขอเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้พิจารณาให้ประชาชนจังหวัดชายแดนใต้ได้มีส่วนร่วมพิจารณาตัดสินใจต่อโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการพัฒนาขนาดใหญ่อื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อไป
      
      


ส่วนแถลงการณ์ฉบับที่ 2 อ่านโดยตัวแทนเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS) เรื่อง จุดยืนของประชาชนในจังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา และสตูล ต่อโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา
      
      

ด้วยการดำเนินการตามโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ผ่านมานั้น ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เรียกว่า ค.1 ค.2 และ ค.3 ซึ่งมีลักษณะที่เกณฑ์คนเข้ามาร่วมในเวทีเพื่อให้ได้เห็นภาพว่ามีจำนวนคนที่สนับสนุนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเป็นจำนวนมากอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์
      
      

โดยที่ผู้จัดนั้นพยายามเบี่ยงเบนยัดเยียดข้อมูลที่ไม่ครอบคลุมความเป็นจริงทั้งหมดให้แก่ประชาชนที่ถูกเกณฑ์ดังกล่าว และมีเจตนาอย่างชัดเจนในการกีดกันไม่ให้ประชาชนที่มีชุดข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับมหันตภัยของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาได้เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น ค.1-ค.3

 

โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนในเขตพื้นที่อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ซึ่งห่างจากพื้นที่ตั้งของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตร และเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกลับไม่ได้ถูกนับรวมในกลุ่มเป้าหมายที่จะทำการศึกษาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมหันตภัยโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาอย่างมีนัยสำคัญ
      
      

ทั้งๆ ที่ข้อมูลจากการศึกษาของนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทั้งในพื้นที่ และนอกพื้นที่ และในต่างประเทศต่างชี้ให้เห็นว่า ระยะของผลกระทบจากมหันตภัยของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ที่เผาถ่านหินปริมาณมหาศาลถึง 23 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
      
      


การมีปล่องควันที่สูงไม่ต่ำกว่า 200 เมตร การยื่นสะพานลงไปในทะเลระยะไม่ต่ำกว่า 3 กิโลเมตร มีเสาสะพานไม่ต่ำกว่า 1,000 ต้น และการขนส่งถ่านหินทางเรือไปมาในระยะ 15 กิโลเมตรนั้น ระยะของผลกระทบนั้นไม่ใช่แค่เพียงรัศมี 5 กิโลเมตรเท่านั้น แต่ในทางกลับกันมวลสารที่มาจากควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ฝนกรด ขี้เถ้าลอย และหนัก และการกัดเซาะชายฝั่งของโครงโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพานั้น
      
      


นอกจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี และสงขลาเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง แต่ทั้งนี้ พี่น้องประชาชนในจังหวัดนราธิวาส ยะลา และสตูล ตลอดจนทางทิศเหนือของประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ก็จะได้รับผลกระทบด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้น ทางเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS) จึงมีจุดยืนต่อกรณีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ค.1 ค.2 และค.3 ที่ผ่านมานั้น ดังต่อไปนี้
      
      

1.เวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ค.1 ค. 2 และค.3 ที่ผ่านมานั้นไม่มีความชอบธรรมใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่เปิดโอกาสให้แก่ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงรัศมี 5 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งรวมถึงจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูลได้นำเสนอความเห็นด้วย
      
      

2.ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และอีก 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เทพา จะนะ นาทวี และสะบ้าย้อย ไม่มีความจำเป็นใดๆ ทั้งสิ้นที่ต้องมีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เพราะลำพังสถานการณ์ความขัดแย้งถึงตายด้วยอาวุธตลอดระยะเวลา 1 ทศวรรษกว่าที่ผ่านมา ก็หนักหนาสาหัสมากพอแล้ว และถ้ามีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาขึ้นมาเชื่อว่า จะเป็นการยิ่งโหมไฟใต้มากกว่าการพัฒนาอย่างแน่นอน
      
      

3.ทางเครือข่ายประชาชน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา และสตูล จะร่วมกับเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS) ในการพยายามถึงที่สุดตามแนวทางสันติวิธีเพื่อหยุดการดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาให้ได้
      
      

4.ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน. ) ภาค 4 ส่วนหน้า จะต้องนำกรณีปัญหาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา บรรจุเป็นวาระเพื่อคลี่คลายป้องกันปัญหาความไม่พอใจของประชาชนต่อกลไกอำนาจรัฐที่เกี่ยวข้องต่อโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพานั้น จะกลายเป็นน้ำผึ้งเพียงหยดเดียวทำลายบรรยากาศการพูดคุยเพื่อสันติสุขชายแดนใต้ เพียงแค่สนองความโลภของคนไม่กี่คน ด้วยจิตรักษ์สิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ

 

ขอบคุณข้อมูล/ภาพจาก : MANAGER