น้ำตาร่วงพรู!! "ดร.ธรณ์"โพสต์ น้อยคนนักจะรู้ "ในหลวงร.9"พูดถึงโลกร้อนตั้งแต่ปี 2532 ย้ำโลกได้สูญเสียคนที่มีความรักและความพยายามสูงสุดไปแล้ว

ติดตามข่าวเพิ่มได้ที่ www.tnews.co.th

 


วันนี้ ( 17 ต.ค.)   ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว"Thon Thamrongnawasawat"  ข้อความระบุว่า
         
" หาข้อมูลไปสอนนิสิตเกี่ยวกับพระองค์และสิ่งแวดล้อม จึงตั้งใจอ่านเรื่องโลกร้อน เมื่อพิจารณาให้ดีถึงพบว่า #หาไปเถิดหาไป #ยังไงก็ไม่เจอคนเช่นนี้อีกแล้ว
โลกร้อนหรือที่นักวิทยาศาสตร์เรียก “สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง” เป็นคำใหม่ที่คนยุคเก่าแทบไม่รู้จัก  คนเพิ่งมาตื่นเต้นเมื่อดูสารคดี An Inconvenient Truth ( ภาพยนต์สารคดีว่าด้วยปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงที่ได้รับรางวัลออสการ์ ) ของอดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ อัล กอร์ ในเพ.ศ.2549
น้อยคนนักที่รู้ว่า พระองค์พูดถึงโลกร้อนไว้แล้วตั้งแต่พ.ศ.2532
         
ข้อความต่อจากนี้ ควรพิจารณาให้เข้าใจถ่องแท้
          1) พระองค์พูดก่อนหน้าอัลกอร์  17 ปี
          2) พระองค์น่าจะเป็นประมุขรัฐคนแรกที่พูดเรื่องนี้ให้ประชาชนฟัง
          3) พระองค์พูดในวันเฉลิมพระชนมพรรษา
          4) พระองค์ไม่มีทีมงานคอยช่วยเตรียมหาข้อมูลมากมาย
         
ข้อสุดท้ายต้องขยายความ ผมทำรายงานให้อาจารย์ของผม ดร.สุรพล สุดารา ในปี 2532 เรื่องโลกร้อนและน้ำทะเลสูงขึ้น
ในตอนนั้น ผมค้นข้อมูลเรื่องโลกร้อนในภาษาไทยแทบไม่เจอ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงน้ำทะเลจะท่วม แล้วพระองค์ทราบได้เช่นไร ?
คำตอบคือใช้ความอดทน ความพยายาม ค้นหาความรู้เองจากการแปลเอกสารภาษาอังกฤษ ซึ่งนั่นไม่แปลกหรอกหากพระองค์เป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่พระองค์เป็นประมุขประเทศ มีภารกิจมหาศาลเหลือจะกล่าว แล้วพระองค์หาเวลามาจากไหน ?
         
มีประมุขประเทศใดในโลกที่จะมีเวลามาหาข้อมูลเรื่องโลกร้อน และตั้งใจจะเล่าเรื่องโลกร้อนให้ประชาชนฟังในวันเกิดของตน ?คำตอบคือไม่มี
อัล กอร์ พูดแล้วก็จบ แล้วพระองค์จบไหม ?
พระองค์ไม่จบ พระองค์สู้ แม้ประชาชนอาจไม่เข้าใจ แต่พระองค์ทรงมั่นใจว่าวันหนึ่งจะเป็นผล
พระองค์พิจารณา จนพบเห็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ทั้งโลกมองไม่เห็น
พวกเราเหล่านักวิทยาศาสตร์ บอกว่าต้นเหตุโลกร้อนมาจาก “ก๊าซเรือนกระจก” แล้วเราก็บอกคนทั้งโลกเช่นนั้น ทุกคนจึงหาทางจัดการกับเจ้าก๊าซที่ว่า 
ใช้อนุสัญญา ใช้การกีดกันทางการค้า กลายเป็นเครื่องมือต่อรองในเวทีประชุมระหว่างประเทศ ฯลฯ แล้วมันสำเร็จไหม ?
         
พระองค์ทราบดี ต้นเหตุโลกร้อนไม่ใช่ก๊าซเรือนกระจก
ต้นเหตุแท้จริงคือ “ความโลภ” ความไม่รู้จักพอ
มหาบุรุษของโลก คานธี เคยกล่าวถ้อยคำไว้
“The world has enough for everyone's need, but not enough for everyone's greed.”
เราอ่านจบแล้ว เรารู้สึกว่าเท่ดีจัง จากนั้นเราก็ลืม

แต่พระองค์ไม่ลืม พระองค์ใช้ “เนื้อแท้ของปรัชญา” จนก่อเกิด “เศรษฐกิจพอเพียง”
เศรษฐกิจพอเพียงอาจตีความได้ว่า ทำให้ประชาชนใช้ชีวิตอย่างมีความสุขตามอัตภาพ ช่วยทำให้ประเทศเข้มแข็ง ฯลฯ
แต่ผมมั่นใจ ประโยชน์ข้อหนึ่งของเศรษฐกิจพอเพียงคือ “การต่อสู้กับความโลภ” และมีแค่ “พอเพียง” ที่สามารถสู้กับภาวะโลกร้อนได้  มิใช่อนุสัญญาหรือใดๆ
พระองค์ต่อสู้มาตลอด ท่ามกลางกระแสทุนนิยมหลั่งไหลเข้ามา GDP รายได้ต่อหัวประชากร ตัวเลขโน่นนี่นั่น  ที่นำมาซึ่งความเจริญและนำมาซึ่งความพินาศย่อยยับของธรรมชาติ ของลมฟ้าอากาศ ของแผ่นดิน ของท้องทะเลภัยแล้งผ่านไป น้ำท่วมเข้ามา ปะการังฟอกขาว ฯลฯ เป็นการต่อสู้กับทะเลคลั่งด้วยความเพียรพยายาม ดุจพระมหาชนก บทพระราชนิพนธ์ของพระองค์
         
ถ้าพิจารณาให้ถ่องแท้ คุณจะเห็นว่า เรื่องนี้ไม่มีปาฏิหาริย์ใดเป็นเพียงเรื่องของชายคนหนึ่ง ต้องการรักษาสัญญาที่ให้ไว้เมื่อ 70 ปีก่อนเขาค้นคว้า เขาค้นพบ เขาบอกเล่าเขาคิดหาทางแก้ไขที่ต้นเหตุ เขาพยายาม และพยายามจนวินาทีสุดท้ายหากมีปาฏิหาริย์ คงมีเพียงคำเดียว “พยายาม” เป็นความพยายามด้วยพลังใจที่ยิ่งใหญ่
แล้วพระองค์นำ “พลังใจ” เฉกเช่นนั้นมาจากไหน ?
พระองค์อาศัยอะไรเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวกับประโยคที่พระองค์เคยตรัสไว้ ? "...เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"
         
ผมเข้าห้องน้ำเพื่อล้างหน้าเป็นรอบที่สิบ ผมกลับมานั่ง แล้วผมก็ค้นพบคำตอบของคำถาม
พลังใจของพระองค์มาจากรัก ความรักของพระองค์ที่มีต่อคนไทยเป็นความรักยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่คนหนึ่งคนจะมีต่อคนหลายคน...หลายสิบล้านคน
ต้องเป็นความรักเยี่ยงนั้น จึงจะก่อเกิดพลังใจเยี่ยงนั้น
และก่อเกิดผลงานอันเป็นที่สุดของความสามารถมนุษย์ผลงานอันเป็น “ปาฏิหาริย์”

ผมตระหนักแล้ว ผมโชคดีแค่ไหนที่เกิดมาในแผ่นดินนี้หาไปเถิด หาไปทั้งโลกหล้า ไปทั่วฟ้ามหาสมุทรสุดขอบทวีปไม่มีอีกแล้ว...
โลกไม่ได้สูญเสียคนที่มีบารมีสูงสุด  แต่โลกได้สูญเสียคนที่มีความรักและความพยายามสูงสุดไปแล้ว
         
นั่นคือบทสรุปสุดท้ายของบทเรียนที่จะสอนนิสิต หากอาจารย์ยังสามารถนั่งสอนอยู่ไหวและเมื่อพิจารณาจากการเขียนเรื่องนี้ที่บอกตามตรงว่าแทบตาย ผมไม่คิดว่าจะสอนได้จนจบชั่วโมง"