จองด่วนเลย!! TCELS จับมือมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์ฯ จัดอบรมดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมฟรี ถวายแด่พ่อหลวง 26 พ.ย.นี้

ติดตามข่าวเพิ่มได้ที่ www.tnews.co.th

วันนี้ ( 11 พ.ย.)   นพ.ยุทธ โพธารามิก  ประธานมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า  ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ร่วมกับมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย  จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "การให้สุขภาพจิตศึกษาแก่ผู้ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์" เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในวันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2559 โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย   ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้วัตถุประสงค์หลักเพื่อ ช่วยให้ผู้ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ สามารถให้การดูแลผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องจากเป็นการจัดการอบรมโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ประชากรผู้สูงอายุของประเทศไทยที่เพิ่มมากขึ้น ปัญหาเรื่องอัลไซเมอร์ก็เพิ่มมากขึ้นด้วย การให้การอบรมที่ถูกต้องในการดูแลผู้ป่วยและผู้ดูแลเองจะช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นต่อไปได้


ด้าน ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ในมุมมองของ TCELS เห็นพ้องกับมูลนิธิฯ ในการดำเนินงานเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะบทบาทในการช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์นี้ โดย TCELS ได้ผสมผสานการเข้าถึงเทคโนโลยีในยุคนี้ พัฒนาเป็นแอปพลิเคชันสำหรับสมาร์ทโฟน ทั้งระบบ Android และ iOS ชื่อ “Alz Calendar” หรือที่เรียกว่า “365 วันป้องกันอัลไซเมอร์” ให้ประชาชนเข้าถึงการใช้งาน

 

จองด่วนเลย!! TCELS จับมือมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์ฯ จัดอบรมดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมฟรี ถวายแด่พ่อหลวง 26 พ.ย.นี้


“แอปพลิเคชั่นนี้ จะเป็นการฝึกฝนที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังสมอง ทั้ง 365 วัน แบ่งเป็น การทำงานของสมองด้านต่างๆ ให้สามารถเกิดกิจกรรมในการออกกำลังสมองเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ต่อไป สามารถดาว์นโหลดได้แล้ววันนี้ที่ “Alz Calendar”ทั้งนี้ TCELS กำลังจัดพิมพ์ชุดความรู้ชื่อ คู่มือบริหารสมองฉบับประชาชน สำหรับผู้ที่ไม่สะดวกเข้าถึงข้อมูลโดยสมาร์ทโฟน และคาดว่าจะสามารถเผยแพร่อีกครั้งในโอกาสอันใกล้นี้ ที่เว็ปไซต์ ของ TCELS

ศ.พญ.นันทิกา  ทวิชาชาติ กรรมการและเลขานุการมูลนิธิฯ กล่าวว่า จากการศึกษาที่ผ่านมา ข้อมูลที่ได้ในการคัดกรองผู้สูงอายุ ในงานคัดกรองความจำ กรุงเทพมหานครฯ ในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปี ขึ้นไปจำนวน 2,685 ราย พบว่า กลุ่มตัวอย่างดังกล่าว เป็นโรคสมองเสื่อม (Dementia) ถึงร้อยละ 31.2 และมีอาการบกพร่องทางพุทธิปัญญาในระดับน้อย (Mild Cognitive Impairment) ที่สามารถพัฒนากลายไปเป็นโรคสมองเสื่อมได้ถึง ร้อยละ 34  และร้อยละ 34.8 เป็นกลุ่มปกติ  ยกตัวอย่างคือ ถ้าผู้สูงอายุเดินมา 10 คน ประมาณ 6 คน น่าจะมีความบกพร่องทางด้านความจำ โดยใน 3 คน เป็นโรคสมองเสื่อมแล้ว เป็นการย้ำให้เห็นความสำคัญในการดูแลผู้ป่วยที่ถูกต้องเหมาะสมจะช่วยให้คุณภาพชีวิตทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแลดีขึ้นต่อไป จึงอยากจะประชาสัมพันธ์ให้กับผู้ที่สนใจลงทะเบียนอบรมฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย  ติดต่อได้ที่ คุณนัฐพัชร์ 086 369 2628 หรือ คุณศรีสกุล 02 256 4298 ต่อ 14 รับจำนวนจำกัด