- 06 พ.ค. 2560
รฟม. ขอชี้แจงกรณีข้อสงสัยของชาวเน็ต ในการตีเส้นบนพื้นผิวจราจร บริเวณแยกบางพลัด
จากกรณีมีข้อสงสัยของชาวเน็ต เรื่องการตีเส้นบนพื้นผิวจราจร บริเวณแยกบางพลัด โดยเฉพาะการมองในภาพมุมสูง นั้น ...
รฟม. ขอเรียนชี้แจง ดังนี้ ตามที่ผู้รับจ้าง กิจการร่วมค้า เอสเอช-ยูเอ็น ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธา โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงเตาปูน-ท่าพระ (สัญญาที่ 3) จะดำเนินงานก่อสร้างโครงสร้างเหล็กทางวิ่งรถไฟฟ้าช่วงข้ามทางแยก (BOWSTRING) โดยจำเป็นต้องติดตั้งเสาเหล็กชั่วคราวกลางแยกขนาบข้างสะพานข้ามแยกบางพลัด จำนวน 4 ต้น โดยมีระยะเวลารวม 5 เดือน จึงได้จัดการจราจรโดยเบี่ยงช่องจราจร ใน 2 กรณี คือ
1) กรณีรถที่มาจากถนนจรัญสนิทวงศ์ขาเข้าเลี้ยวขวา เข้าถนนสิรินธร 1 ช่องทาง
2) กรณีรถที่มาจากถนนสิรินธรเลี้ยวขวาเข้าถนนจรัญสนิทวงศ์ มุ่งหน้าถนนท่าพระ 1 ช่องทาง
สำหรับการจราจรในช่องทางอื่นๆ จะมีการตีเส้นบนพื้นผิวจราจรชั่วคราว เพื่อเบี่ยงแนวโครงเหล็ก จำนวน 4 ต้น กลางแยกบางพลัด ซึ่งได้เริ่มเบี่ยงช่องจราจร ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2560 ในสัปดาห์แรกเป็นการทดสอบการปิดเบี่ยงจราจร (แสดงในภาพประกอบที่ 1)
เพื่อประเมินสภาพการจราจร และได้ทำการตีเส้นบนพื้นผิวจราจรตามมาตรฐานสำหรับการกำหนดช่องจราจรเพื่อนำการขับรถให้ตรงช่องจราจร และลดปัญหาการขับขี่ทับช่องจราจร (แสดงในภาพประกอบที่ 2) และสำหรับผู้ใช้เส้นทางจากถนนราชวิถี เลี้ยวขวา ถนนจรัญสนิทวงศ์ มุ่งหน้าพระราม 7 (แสดงในภาพประกอบที่ 3)
การตีเส้นดังกล่าวจะสามารถช่วยให้ผู้ขับรถไปในทิศทางที่ได้กำหนดไว้ เพราะหลังจากนี้จะมีเสาเหล็ก 4 ต้น มาบดบังวิสัยทัศน์กลางแยก และต้องมีการเบี่ยงหลบไปมา จึงเห็นควรว่าการตีเส้นนำสายตาชั่วคราวนี้ จะสามารถช่วยทำให้ระบายรถได้เร็วขึ้น
กรณีมองจากมุมสูงอาจทำให้ดูสับสน แต่ในมุมมองของผู้ขับรถพื้นราบ จะสามารถขับตามแนวเส้นประได้ไม่สับสน ทั้งนี้ จะสามารถลดการเบียดกันของรถยนต์ที่ขับโดยไม่มีเส้นนำสายตา และในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีการติดตั้งเสาเหล็กชั่วคราวกลางแยกบางพลัดจำนวน 4 ต้น จะทำให้บดบังวิสัยทัศน์การมองเห็น จึงมีการตีเส้นนำทางให้เพื่อำนวยความสะดวก
ขอบคุณ
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย