- 15 พ.ค. 2560
รายการที่นิวส์สด ลึก จริงวันนี้ (15พค.60)นำเสนอประเด็นกทม.จำกัดสิทธิผู้ประมูลทำโครงการป้ายจราจรอัจฉริยะจะเข้าข่ายล็อคสเปคหรือไม่
กลุ่มธรรมาภิบาลเครือข่ายภาคประชาชนต้านทุจริตและคอรัปชั่น เข้ายื่นหนังสือต่อ นายไชยา หัวหน้ากลุ่มงานระบบจราจรอัจฉริยะ และนายอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพ เพื่อเสนอแนะ เรื่องขอให้ตรวจสอบ ร่าง TOR และร่างเอกสารประมูลโครงการให้สิทธิเอกชนดำเนินงานป้ายจราจรอัจฉริยะ50ป้าย พร้อมการดูแลบำรุงรักษา ที่ส่อว่าน่าจะเอื้อประโยชน์ต่อผู้ใดผู้หนึ่งและไม่เปิดกว้างให้แข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และขอแสดงความเห็น เสนอแนะต่อร่าง TOR ในฐานะภาคประชาชนเพื่อให้เกิดความโปร่งใส
ร่างTOR คุณสมบัติของผู้จะเสนอราคา คือ "ผู้จะเสนอราคาต้องเป็นนิติบุคคล หรือกลุ่มนิติบุคคล ที่จดทะเบียนในประเทศไทย ที่มีประสบการณ์ มีผลงานด้านการติดตั้งป้ายปรับเปลี่ยนข้อความ (VMS) หรืองานติดตั้งป้ายรายงานสภาพการจราจร ในสัญญาเดียววงเงินไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาท และเป็นผลงานที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับกรุงเทพมหานคร ส่วนราชการ หน่วยงานตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหาราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจที่กรุงเทพมหานครเชื่อถือ
ซึ่งปัจจุบันมีเอกชนไม่เกิน 5 รายที่มีคุณสมบัติตามร่างทีโออาร์ที่กทม.กำหนด
สำหรับโครงการป้ายจราจรอัจฉริยะของกทม.เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2548 โดยมีบริษัท จีเนียส ทราฟฟิค ซิสเต็ม จำกัด ได้รับสิทธิ์เป็นผู้ลงทุนก่อสร้างและบริหารจัดการดูแลรักษาป้ายจำนวน 40 จุดทั่วพื้นที่ กทม. และสัญญากำลังจะสิ้นสุดสิ้นเดือนพ.ค.นี้ จึงทำให้กรุงเทพมหานครจัดทำทีโออาร์เพื่อเปิดประมูลใหม่
ทีโออาร์โครงการป้ายจราจรอัจฉริยะโครงการใหม่พบว่า กทม. ตั้งราคาต่ำสุดของการประมูลเริ่มต้นที่ 15.3 ล้านบาท รูปแบบสัญญาจะให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน ปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของป้ายจราจรอัจฉริยะจำนวน 50 ป้าย คือปรับปรุงป้ายเดิม 40 ป้าย และติดตั้งป้ายใหม่ 10 ป้ายให้มีความทันสมัยมากขึ้น
โดยเอกชนที่ชนะการประมูลจะได้สิทธิ์ในการหาผลประโยชน์จากการโฆษณาบนป้ายจราจรอัจฉริยะเป็นเวลา 3 ปี โดยเอกชนต้องชำระค่าตอบแทนรายปีจำนวนปีละไม่น้อยกว่า 3.5 ล้านบาท และชำระค่าใช้สิทธิรายเดือนต่อจุดติดตั้งเป็นเงินไม่น้อยกว่า 1 .9หมื่นบาทต่อจุด รวม 50 จุด คิดเป็นเงินไม่น้อยกว่า 9.8 แสนบาท และกทม.จะพิจารณาต่ออายุสัญญาอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 3 ปี รวม 9 ปี