- 13 ก.ค. 2560
"แจ็ค หม่า" ส่ง ลาซาด้า ตั้งฐานเมืองไทย หวังขยายตลาดออนไลน์ หลังถูกอาลีบาบา ควบรวมกิจการ (รายละเอียด)
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงแผนการลงทุนเมืองอุตสาหกรรมการค้าผ่านระบบออนไลน์ หรือ Generation 5 Ecommerce Park ในโครงการสวนเทคโนโลยีด้านดิจิทัล (Ecommerce Park) ของบริษัท ลาซาด้า จำกัด ในเครืออาลีบาบา ซึ่งจะใช้พื้นที่ในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ประมาณ 300 ไร่ (500,000 ตร.ม.) นั้น ล่าสุด บริษัทลาซาด้าได้ยื่นเรื่องขอให้รัฐบาลไทยพิจารณาสิทธิประโยชน์ให้กับบริษัท ตาม พ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. 2560 หรือกองทุน 10,000 ล้านบาท สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายแล้ว เนื่องจาก Generation 5 Ecommerce Park เป็นโครงการที่จะประกอบไปด้วยศูนย์โลจิสติกส์กระจายสินค้าด้านออนไลน์, ศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D), ศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs), ศูนย์รวมกลุ่มผู้ประกอบการใหม่ (Startup) ผู้ผลิต ผู้ให้บริการ และพันธมิตรทางโลจิสติกส์ จึงสามารถเข้าหลักเณฑ์การพิจารณาของ พ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันฯได้ทั้งหมด โดยการลงทุนในเมืองอุตสาหกรรมการค้าผ่านระบบออนไลน์ดังกล่าว ในเฟสแรกไตรมาส 3 /2560 (เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2560) จะดำเนินการทำสัญญาจัดจ้างผู้รับเหมาก่อสร้าง จากนั้นในไตรมาส 4/2560 (เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2560) จะเริ่มก่อสร้าง ศูนย์โลจิสติกส์ เป็นแห่งแรกใช้เวลาประมาณ 18 เดือน จากนั้นถึงกลางปี 2562 จะเริ่มก่อสร้าง ศูนย์วิจัยพัฒนา (R&D) กับ ศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการ SMEs เฟส 2 ต่อทันที ทางลาซาด้าจะยืนยันพื้นที่ลงทุนในอีก 1-2 สัปดาห์ข้างหน้านี้ ซึ่งคาดว่าจะอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ EEC จากตัวเลือกขณะนี้เหลือเพียง 2 แห่งเท่านั้น แน่นอนว่าโครงการสวนเทคโนโลยีดิจิทัลจะต้องตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ที่ใกล้และเชื่อมโยงกับเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) หรือ Digital Park ที่ตั้งอยู่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ทั้งนี้ สัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคม หัวหน้าทีมของอาลีบาบาจากจีนจะเดินทางมาไทยเพื่อสรุปภาพรวมการลงทุนทั้งหมด
เข้า พ.ร.บ.เพิ่มขีดฯอีก 4 บริษัท
ด้าน นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่า พ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศฯ มีการกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาไว้แล้วชัดเจน โดยหลักการจะพิจารณาจากการเป็น 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ที่ประเทศต้องการ มีการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี มีการลงทุนด้านวิจัยพัฒนา (R&D) มีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในระยะยาว ส่วนการพิจารณาสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนของบริษัทลาซาด้านั้น กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะให้ในรูปแบบใด chonburiindex ตาม พ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันฯ เช่น ให้สิทธิประโยชน์ทั้งก้อนของโครงการใหญ่ Generation 5 Ecommerce Park หรือให้สิทธิประโยชน์เป็นรายโครงการย่อยอย่างศูนย์ R&D-ศูนย์โลจิสติกส์-ศูนย์บ่มเพาะ SMEs ซึ่งอยู่ในโครงการใหญ่ Generation 5 Ecommerce Park เช่นกัน ที่เราจะพิจารณาใช้หลักเกณฑ์ภายใต้ พ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันฯ นั้นแน่นอนว่าต้องเป็นอุตสาหกรรมที่มีอิมแพ็กต์ต่อประเทศแรงมากถึงจะได้สิทธิประโยชน์นี้ โดยจะต้องมีการลงทุนระยะยาวให้มีความต่อเนื่อง ไม่ใช่ลงทุนระยะสั้นแล้วจบ เราดูที่สาระของอุตสาหกรรมรายนั้น ๆ ไม่ใช่เรื่องเงินลงทุนอย่างเดียว ขณะนี้มีนักลงทุนที่จะขอใช้สิทธิประโยชน์ตามหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ.กองทุนเพิ่มขีดความสามารถฯอีกหลายราย ส่วนเรื่องของการจะให้เงินจากกองทุนฯแต่ละรายเท่าไรนั้น ไม่ได้กำหนดขั้นต่ำหรือเพดานขั้นสูงไว้ จะอยู่ที่นักลงทุนเสนอเข้ามาพร้อมโครงการ ว่าจะใช้เงินกองทุนทำอะไร ซึ่งเราเน้นด้านการทำ R&D จากนั้นเราจะมาพิจารณาว่า ที่ขอมานั้นเหมาะสมหรือไม่ ทั้งนี้ เงินจากกองทุนฯจะถือเป็นเงินสนับสนุนที่มีเงื่อนไขต้องให้อะไรกับประเทศไทย ด้วย ซึ่งไม่ใช่การให้ฟรี เพราะนั่นหมายถึงเราให้ไปแต่ไม่ได้อะไรกลับมาเลย สำหรับยอดคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก EEC ใน 5 เดือนแรก (มกราคม-พฤษภาคม 2560) อยู่ที่ 23,400 ล้านบาท เป็นคำขอใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย 14,200 ล้านบาท ทาง BOI คาดว่าตลอดทั้งปี 2560 ยังคงเป้ายอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนไว้ที่ 600,000 ล้านบาท
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาสำนักงานบริหารเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (สกรศ.) หรือคณะ EEC ชุดเล็ก กล่าวว่า บริษัทลาซาด้ามีเป้าหมายจะลงทุนในประเทศไทยเป็นเวลานานหลายสิบปี ดังนั้นจึงเปิดโอกาสให้ใช้เวลาในการเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุด และนี่จะเป็นรายแรกสำหรับการใช้ พ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันฯ จากนั้นก็จะทำให้รู้ว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้มีความสมบูรณ์เพียงใด หรือบกพร่องส่วนไหน ก็จะใช้เป็นแนวทางต่อไปสำหรับนักลงทุนรายอื่น ๆ ด้าน แหล่งข่าวในกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า หลังการเดินทางไปโรดโชว์ที่ญี่ปุ่นของคณะรัฐบาลไทย นำโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้มีการหารือกับนักลงทุน 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท Kyocera Corporation ผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์การแพทย์ที่ทำด้วย Advance Materials, บริษัท Spiber Inc. ซึ่งเป็นกลุ่ม startup ผลิต bio-based advanced material, บริษัท Panasonic Corporation ผู้ผลิตแบตเตอรี่รถไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และบริษัท Subaru Corporation ผู้ผลิตรถยนต์โดยผลการหารือทั้ง 4 บริษัทสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยแน่นอน ดังนั้นจึงเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่เข้าหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันฯ ซึ่งจะได้รับการ ยกเว้น ภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 15 ปี และหากลงทุนในพื้นที่เขต EEC ก็จะได้รับการลดหย่อนภาษี 50% อีก 5 ปี
จัดโซนโรงงานแต่ละชาติ
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.จะมุ่งการพัฒนาพื้นที่รูปแบบใหม่ที่เป็นนิคมอุตสาหกรรมบริการ และมีลักษณะเป็น แนวดิ่ง เนื่องจากบางอุตสาหกรรม เช่น ดิจิทัล ไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่มาก อาจเน้นการทำ R&D มากกว่าการผลิตที่ต้องใช้อาคารแบบโรงงานทั่วไป หลังการแก้ พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแล้วเสร็จและประกาศใช้ก็จะเข้ามารองรับการลงทุน โครงการต่าง ๆ ได้ทันที แผนการสร้างนิคมแนวดิ่งคาดว่าจะใช้พื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จ.ชลบุรี นายวีรพงศ์กล่าวนอกจากนี้ในพื้นที่แหลมฉบังจะเริ่มดำเนิน โครงการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs และ Startup ขนาด 350 ตารางเมตร ให้เป็น Co Working Space สำหรับกลุ่ม Startup ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) และภาคเอกชนในการสนับสนุนระบบ Internet ความเร็วสูง และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ อุปกรณ์ทดลอง ห้องแล็บ รวมถึงการจัดหลักสูตรสำหรับ SMEs ส่วน การลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก EEC นั้น ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (กรศ.) ได้สั่งให้ กนอ.ไปหารือกับผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม ถึงการเตรียมพื้นที่ให้กับนัก ลงทุนแต่ละประเทศ ซึ่งทาง กนอ.ได้หารือกับผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมไปแล้วจำนวน 4 ราย ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ (จ.ระยอง), นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร (จ.ชลบุรี), นิคมอุตสาหกรรม WHA (จ.ชลบุรี) และนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (จ.ชลบุรี) จะมีการจัดสรรพื้นที่หรือจัด Zoning ในนิคมไว้สำหรับตั้งโรงงานของนักลงทุนแต่ละประเทศ เช่น โซนจีน โซนญี่ปุ่น โซนเกาหลี ซึ่งแต่ละนิคมสามารถกำหนดราคาเพื่อแข่งขันกันได้ตามความเหมาะสมและการบริหาร จัดการ/การพัฒนา ภาคเอกชนสามารถดำเนินการได้เลย
ขอบคุณ chonburiindex