- 30 ส.ค. 2560
เมาไม่ขับกลับแบบนี้!! หนุ่มใช้บริการวินจยย. เข้าซอยยามวิกาล คนขับบอกเมาแต่ไม่ทิ้งหน้าที่ ทำเอาสนั่นโซเชียล พีคสุดก็ตอนขากลับนี่แหละ (มีคลิป)
เมื่อวันที่ 30 ส.ค.60 ผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ชื่อ Jatuporn Boonya ได้โพสต์คลิปวิดีโอที่ระบุว่าเป็นคลิปที่แชร์ต่อมาจากทวิตเตอร์ของคุณ Kana โดยในคลิประบุว่าลูกค้าได้ใช้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้างในซอยเพื่อเข้าบ้าน แต่ปรากฏว่าวินคนดังกล่าวดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ มีอาการมึนเมา จึงให้ลูกค้าขับแล้วตนเองซ้อนท้าย เนื่องจากทำตามกฏหมาย "เมาไม่ขับ" หลังจากนั้นจึงมีคนสงสัยว่าแล้วขากลับวินรายนี้จะทำอย่างไร ผู้โพสต์ได้ตอบกลับว่า "เข็นกลับ" โดยผู้โพสต์ได้ระบุว่า...
พี่วินบอกว่า "เมาไม่ขับ" จากทวิตเตอร์ของคุณ Kana โพสว่า "กูจะนั่งวินเข้าบ้าน แต่วินกินเหล้ามาละบอกกูว่าเมาไม่ขับ เลยให้กูขับเข้าบ้านเองแล้ววินเป็นคนซ้อน... ไรวะเนี้ย5555555555555555555" Cr.คลิป"Kana" #แบบนี้ก็ได้หรอ #SouthThailand #รองเท้าผ้าใบกับใจถึงๆ
หากอ้างอิงจาก พรบ.จราจรฉบับใหม่ ที่ได้รับการอนุมัติจาก คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2560 จะเห็นได้ชัดว่ามีการเพิ่มโทษสำหรับกรณีเมาแล้วขับจากเดิม จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับขั้นต่ำ 5,000 – 20,000 บาท อัตราการลงโทษใหม่ จะแบ่งออกเป็น 4 กรณี ได้แก่
1. ความผิดฐานขับรถขณะเมาสุรา : จะมีโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับขั้นต่ำ 10,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลมีอำนาจในการ สั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ ไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือ เพิกถอนใบอนุญาต อีกทั้งยังเพิ่มมาตรการยึดรถในชั้นศาล ไม่เกิน 7 วัน
2. ความผิดฐานเมาแล้วขับ ทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่ร่างกาย หรือจิตใจ : ให้มีโทษคงเดิม คือ จำคุก 1 – 5 ปี ปรับ 20,000 – 100,000 บาท พักใช้ใบอนุญาตการขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือ เพิกถอนในอนุญาตขับขี่
3. ความผิดฐานเมาแล้วขับ เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส : มีโทษจำคุก 2 – 6 ปี ปรับ 40,000 – 120,000 บาท พักใช้ใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือ เพิกถอนในอนุญาตขับขี่
4. ความผิดฐานเมาแล้วขับ เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย : มีโทษจำคุก 3 – 10 ปี ปรับ 60,000 – 200,000 บาท รวมทั้งให้ เพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
กฎหมายพรบ.จราจร ฉบับเดิมได้กำหนดปริมาณแอลกอฮอล์ที่ เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ให้ถือว่าเมาสุรา แต่ พรบ.จราจรฉบับใหม่ได้มีการปรับแก้ใหม่ ให้เป็น
- กรณีที่ผู้ขับขี่มีอายุไม่เกิน 20 ปี หากมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ให้ถือว่าเมาสุรา
- กรณีที่ผู้ขับขี่ไม่มีใบอนุญาตขับรถ หรือ ผู้ขับขี่ที่ได้รับใบอนุญาตขับรถชั่วคราว หากมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ให้ถือว่าเมาสุรา
- บุคคลอื่นๆมีข้อกำหนดตามกฎหมายเดิม คือ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์จึงถือว่าเมาสุรา
สำหรับ ปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกาย ถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจไม่แพ้บทลงโทษจากกรณีเมาแล้วขับ เพราะนอกจากกฎหมายฉบับใหม่จะเพิ่มโทษแล้ว ยังมีการเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถสั่งตรวจสอบปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดได้ จากเดิม เจ้าหน้าที่สามารถสั่งตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดแต่ไม่ได้กำหนดวิธีการตรวจสอบไว้ แก้เป็น
เจ้าหน้าที่สามารถใช้ตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายได้ เช่น การทดสอบลมหายใจ ปัสสาวะ เลือด หรือวิธีการอื่นๆตามสมควร แม้กฎหมายจะระบุไว้ว่า เจ้าหน้าที่สามารถใช้วิธีการดังล่าวเพื่อตรวจหาปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายได้ แต่ต้องเป็นไปตามสมควร และต้องดำเนินการโดยที่เจ้าตัวเจ็บปวดน้อยที่สุด
นอกจากนี้ยังมีคำสั่งจาก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช) ฉบับที่ 46/2558 ที่ระบุไว้ในกฎหมายฉบับนี้ว่า เจ้าหน้าที่สามารถยึดรถคนที่เมาแล้วขับ คนที่ขับขี่อันตราย หรือแข่งรถในทาง โดยกำหนดให้เจ้าของรถหรือผู้ขับขี่ต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าเก็บรักษารถเอง รู้แบบนี้แล้วก็อย่าเพิ่งตกใจกันไปค่ะ เพราะคำสั่งคสช.ฉบับที่อนุญาตให้มีการยึดรถนั้น เบื้องต้นจะถูกนำมาใช้ในวันหยุดยาว หรือเทศกาลต่างๆ เช่นเทศกาลปีใหม่ หรือสงกรานต์เท่านั้น
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราอาจจะต้องจับตาดูกฎหมายฉบับนี้กันต่อไป ว่ากฎหมายฉบับนี้จะผ่านการพิจารณาของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช) และมีผลบังคับใช้เฉพาะช่วงระยะเวลา หรือ เป็นกฎหมายถาวร
ขอบคุณ : Jatuporn Boonya ทวิตเตอร์ของคุณ Kana finance.rabbit.co.th