- 06 ก.ย. 2560
คดีวิสามัญ "ชัยภูมิ ป่าแส" ศาลนัดไต่สวน พยาน พร้อมเร่งตรวจสอบหลักฐาน หากพบ จนท.กระทำเกินกว่าเหตุญาติจะฟ้องดำเนินคดีให้ถึงที่สุด
จากกรณี ผู้ใช้งานเฟซบุ๊ค ชื่อว่า Somsri Chantorn ได้เผยแพร่ภาพและข้อความ เกี่ยวกับ คดีการตายของนายชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวชาติพันธุ์ลาหู่ ถูกเจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนสงครามยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2560 ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดเชียงใหม่เริ่มไต่สวน พยานฝ่ายอัยการในฐานะผู้ร้องทั้งหมด รวม 3 ปาก ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารประจำด่านตรวจบ้านรินหลวง ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ที่อยู่ในวันเกิดเหตุ ซึ่งผู้โพสต์ได้ระบุรายละเอียดไว้ดังนี้
วันที่ (4 ก.ย.) ศาลให้ไต่สวนพยานฝ่ายอัยการในฐานะผู้ร้อง รวม 3 ปาก ทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่ทหารประจำด่านตรวจบ้านรินหลวง ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ที่อยู่ในวันเกิดเหตุ
นายสุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ในฐานะทนายความฝ่ายผู้ตาย (นายชัยภูมิ) เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า ช่วงเช้าที่ผ่านมา ได้แถลงขอเลื่อนนัดไต่สวนคดีการตายของนายชัยภูมิ เนื่องจากทนายความฝ่ายผู้ตายมาไม่ครบ แต่ศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนการไต่สวน และเริ่มไต่สวนพยาน 3 ปากแรกของฝ่ายอัยการทันที
โดยฝ่ายอัยการได้ยื่นบัญชีพยานรวม 45 ปาก ขณะที่ทีมทนายฝ่ายนายชัยภูมิยื่นบัญชีพยานรวม 10 ปาก มีทั้งบิดา มารดา และน้องชายของนายชัยภมิ, พยานผู้รู้เห็นเหตุการณ์ในที่เกิดเหตุ, ครูที่โรงเรียนที่จะมาเล่าประวัตินายชัยภูมิ
รายงาน: หนึ่งเดือน คดีวิสามัญ "ชัยภูมิ ป่าแส" กับปมปริศนาที่ยังไม่คลี่คลายทบ.ตั้งคณะกรรมการสอบเหตุวิสามัญเยาวชนลาหู่
ส่วนหลักฐานกล้องวงจรปิดในวันเกิดเหตุ นายสุมิตรชัยบอกว่ายังไม่ปรากฏในบัญชีพยานหลักฐานของฝ่ายอัยการ โดยวันนี้อัยการได้ยื่นแสดงหลักฐานภาพถ่ายวันเกิดเหตุ และรถคันที่เกิดเหตุเท่านั้น ซึ่งต้องรอดูอีกครั้งว่าในชั้นสืบพยานที่เป็นเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน จะมีการนำหลักฐานส่วนนี้มาแสดงต่อศาลหรือไม่
"ทีมทนายฝ่ายผู้ตายได้ร้องขอต่อศาลให้นำหลักฐานกล้องวงจรปิดมาประกอบการไต่สวนแล้ว เพราะถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญ แต่จนขณะนี้เรายังไม่เคยเห็น หากอัยการไม่นำขึ้นสืบพยานหลักฐาน เราก็จะขอให้ศาลออกหมายเรียกข้อมูลส่วนนี้ต่อไป" ทนายความฝ่ายนายชัยภูมิระบุ
Image copyrightศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่นคำบรรยายภาพกองทัพอ้างว่าได้ส่งภาพจากกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุให้ตำรวจแล้ว แต่จนขณะนี้ยังไม่มีใครเห็นหลักฐานดังกล่าว
ด้านสำนักข่าวไทยรายงานว่า มารดาของนายชัยภูมิยืนยันว่าลูกชายไม่ได้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด จึงอยากขอความเป็นธรรมให้กับลูกชาย และอยากให้นายกรัฐมนตรีเข้ามาดู เพราะคู่กรณีเป็นฝ่ายทหาร
วันเดียวกัน ศาลจังหวัดเชียงใหม่ยังมีกำหนดนัดไต่สวนคดีการตายของนายอะเบ แซ่หมู่ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารประจำด่านตรวจบ้านรินหลวง ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2560 แต่ถึงเวลานัดพร้อมคู่ความ ปรากฏว่าทนายความในส่วนของบิดาผู้ตายติดภารกิจในจังหวัดอื่น ไม่ได้เดินทางมาที่ศาล ศาลจึงให้เลื่อนนัดสืบพยานไปเป็นวันที่ 21-22 ธันวาคม และ 26 ธันวาคม 2560
นายปรีดา นาคผิว ทนายความในส่วนของมารดานายอะเบ เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่าได้แถลงต่อศาลว่าจะขอสืบพยาน 6 ปาก ขณะที่อัยการยื่นขอสืบพยาน 7 ปาก สำหรับพยานฝ่ายผู้ตายที่เตรียมขึ้นเบิกความ ประกอบด้วย บิดาและมารดาของนายอาเบ, พยานผู้รู้เห็นเหตุการณ์, ผู้เชี่ยวชาญวัตถุระเบิดและอาวุธปืน และผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช
Image copyrightBBC THAI คำบรรยายภาพเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ช่วงเดือน มี.ค. 2560 เรียกร้องให้เร่งตรวจสอบกรณีวิสามัญฆาตกรรมนายชัยภูมิ ป่าแส
สำหรับนายอะเบ แซ่หมู่ ชาวชาติพันธุ์ลีซู และนายชัยภูมิ ป่าแส ชาวชาติพันธุ์ลาหู่ ถูกเจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนสงครามยิงเสียชีวิตวันที่ 15 ก.พ. 2560 และ 17 มี.ค. 2560 ตามลำดับ โดยกล่าวหาว่าทั้งคู่มียาเสพติดในครอบครอง และขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารขอตรวจค้น ได้พยายามต่อสู้และใช้อาวุธตอบโต้เจ้าหน้าที่
พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ได้ยื่นคำร้องชันสูตรพลิกศพ (ไต่สวนการตาย) ทั้ง 2 กรณีต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องด้วยเหตุแห่งการตายของนายอะเบและนายชัยภูมิ เจ้าหน้าที่ทหารอ้างว่าได้กระทำในขณะปฏิบัติราชการตามหน้าที่ จึงต้องดำเนินการไต่สวนเพื่อให้ทราบว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน อย่างไร และทราบถึงเหตุและพฤติการณ์แห่งการตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 อย่างไรก็ตามผู้ปกครองของนายอะเบและนายชัยภูมิยังติดใจในเหตุและพฤติการณ์แห่งการตายของบุตรชาย จึงร้องขอความช่วยเหลือจากองค์กรสิทธิมนุษยชนให้ช่วยเหลือทางกฎหมาย โดยทนายผู้ตายมีสิทธิ ซักถามพยานในชั้นศาลได้
ทั้งนี้การไต่สวนคดีการเสียชีวิต ถือเป็นการแสวงหาข้อเท็จจริง หากพบว่าเจ้าหน้าที่กระทำการเกินกว่าเหตุตามที่ญาติผู้ตายสงสัย ก็จะนำไปสู่การฟ้องดำเนินคดีเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ทหารต่อไป
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Somsri Chantorn