- 25 ก.ย. 2560
ชำแหละ !?!? มหากาพย์โกงข้าว "น.พ.วรงค์" ผ่าจีทูจี ....เจาะลึกกางสัญญาแคชเชียร์เช็ค คว้านไปถึงคนทำ!
นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความถึง มหากาพย์โกงข้าว ตอนอวสานต์จีทูจี (6) ชำแหละสัญญาจีทูจีฉบับที่ 3
วันที่ 3 กรกฎาคม 2555 ลงนามสัญญาฉบับที่ 3 กับบริษัทกว่างตง ขายข้าวนาปรังปีการผลิต 2555 ข้าวขาว 5% ปริมาณ 500,000 ตัน และปลายข้าวขาว ปริมาณ 500,000 ตัน ราคาณ หน้าคลัง รวม 1,000,000 ตัน ราคาข้าวขาว5% ตันละ 13,860 บาท ปลายข้าวขาวตันละ 12,460 บาท การชำระเงิน 3 แบบคือ L/C โอนเงินผ่านธนาคาร และแคชเชียร์เช็ค ให้เสร็จสิ้นใน 10 เดือน รับมอบขั้นต่ำ 100,000 ตัน ข้าวที่ส่งมอบเพื่อการภริโภคภายในประเทศผู้ซื้อ แต่อาจส่งข้าวให้ประเทศที่ 3 ในรูปการค้าหรือบริจาค
วันที่ 20 สิงหาคม 2555 แก้ไขสัญญาฉบับที่ 3 ให้บริษัทกว่างตงเพิ่มปริมาณข้าวขาว 5% เพิ่มอีก 1,300,000 ตัน รวมเป็น 2,300,000 ตัน
ข้อสังเกตของการทำสัญญาฉบับที่ 3
1.การขายหน้าคลัง เพิ่มการชำระด้วยแคชเชียร์เชคและการส่งข้าวให้ประเทศที่สามในรูปการค้าหรือบริจาค เป็นความผิดปกติของการระบายข้าวแบบจีทูจี และเอื้อประโยชน์ให้ผู้ซื้อและการทุจริตเวียนเทียนข้าว
2.การทำสัญญาฉบับที่3 กับบริษัทกว่างตง ราคาข้าวขาว5% ตันละ 13,860 บาท ปลายข้าวเอวันเลิศตันละ 12,460 บาท ขณะที่สัญญาฉบับฉบับที่2 ข้าวขาว 5% ตันละ 16950 บาท ปลายข้าวขาวตันละ 13650 บาท ทำให้บริษัทกว่างตง ไม่มารับข้าวตามสัญญาฉบับที่2 ให้ครบหมด แต่มารับข้าวสัญญาฉบับที่ 3 แทน เพราะข้าวราคาถูกกว่า เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ซื้ออย่างเห็นได้ชัด
3.พบว่าบริษัทกว่างตงรับมอบข้าวขาว 5% ตามสัญญาฉบับที่2 ช่วงแรกไป 561,158.03 ตัน แต่มารับข้าวขาว 5% ตามสัญญาฉบับที่ 3 จำนวน 1,359,964.70 ตัน ส่วนปลายข้าวเอวันเลิศ รับมอบช่วงแรก ตามสัญญาฉบับที่ 2 จำนวน 156,610.32 ตัน แต่รับตามสัญญาฉบับที่ 3 จำนวน 303,466.87 ตันเพราะข้าวชนิดเดียวกัน ราคาถูกกว่า และสัญญาไม่มีบทลงโทษ
4.การแก้ไขเพิ่มชนิดข้าวและปริมาณข้าว ถือเป็นสาระสำคัญนอกขอบเขตสัญญา มีผลเสมือนหนึ่งเป็นการทำสัญญาใหม่ มิใช่ให้บริษัทกว่างตงอาศัยสัญญาที่ฝ่ายตนได้เปรียบมาแก้ไขสัญญาเพิ่มปริมาณข้าวเรื่อยๆ ยิ่งเห็นได้ชัดเจนว่า การเพิ่มปริมาณข้าวขาว 5% แต่ในราคาที่ถูกลงอีก ปริมาณมากถึง1.3 ล้านตัน เป็นการเอื้อประโยชน์ชนิดไม่เกรงกลัวใดๆทั้งสิ้น
ขณะเดียวกัน การลงนามสัญญาจีทูจีฉบับที่ 2 ลงนามวันเดียวกันกับ สัญญาฉบับที่ 1 คือวันที่6 ตุลาคม 2554 ที่ทำกับบริษัทกว่างตง มีรายละเอียดดังนี้
สัญญาฉบับที่ 2 ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2554 กับบริษัทกว่างตง ซื้อข้าวนาปี ปีการผลิตใหม่2554/2555 ปริมาณ 2 ล้านตัน ณ หน้าคลัง ประกอบด้วยข้าวขาว 5% ตันละ 16950 บาท ปลายข้าวขาวตันละ 13650 บาท ปลายข้าวหอมมะลิตันละ 14650 บาท ข้าวนึ่ง 100% ตันละ 17250 บาท ชำระด้วย L/C กำหนดส่งมอบ 10 เดือน
การลงนามในฉบับที่ 2 มีหลายประเด็นที่ฝ่ายไทยเราเสียเปรียบ
1.สังเกตได้ว่า การลงนามซื้อข้าวนาปี ปีการผลิตใหม่2554/2555 วันที่ 6 ตุลาคม 2554 ก่อนที่โครงการรับจำนำจะเริ่มต้น เพราะโครงการรับจำนำเริ่มต้น 7 ตุลาคม 2554 เท่ากับว่า เป็นการจองซื้อข้าวตั้งแต่ข้าวยังอยู่ในนา
2.การทำสัญญาฉบับที่ 2 กำหนดข้าว 4 ชนิด แต่ไม่กำหนดข้าวแต่ละชนิดให้ชัดเจนว่า แต่ละชนิดปริมาณเท่าไร กลายเป็นว่ารัฐบาลต้องสต๊อคข้าวให้ฝ่ายผู้ซื้อตามที่ผู้ซื้อต้องการ และรัฐต้องแบกรับภาระค่าเช่าโกดัง ทำให้ผู้ซื้อเลือกข้าวที่ได้กำไร
3.การซื้อราคาหน้าคลังที่ให้ผู้ซื้อมาขนข้าวเอง ไม่มีการปฏิบัติในการซื้อแบบจีทูจี
4.สัญญาไม่มีกำหนดบทลงโทษ เอื้อประโยชน์แก่ผู้ซื้อ ทำให้ในช่วงที่ข้าวในตลาดราคาถูกลง ผู้ซื้อไม่มารับข้าวตามสัญญาที่ 2
5.แม้ราคาข้าวแต่ละชนิด ที่กำหนดราคาค่อนข้างสูง แต่ราคาตลาดในช่วงดังกล่าว ข้าวในแต่ละชนิดก็ราคาสูงกว่าที่ตกลง เช่นข้าวขาว 5% ราคาตลาดขึ้นสูงถึงตันละ 1,800 บาทจนกระทั่งช่วงหลังราคาข้าวในตลาดถูกลง ราคาข้าวขาว 5%ลดลงเหลือตันละ 1,500 บาทเศษ เป็นเหตุให้มีการทำสัญญาฉบับที่ 3 ในข้าวชนิดเดิมที่ต้องการ แต่ราคาการทำสัญญาฉบับที่ 3 ก็ถูกลงมาก ผู้ซื้อก็รับแต่ข้าวตามสัญญาที่ 3 แต่ไม่รับข้าวตามสัญญาที่ 2
6. การทำสัญญาที่1 และ 2 รวมข้าว4.195 ล้านตัน จำเลยที่เป็นรัฐมนตรีและเป็นประธานอนุกรรมการระบายข้าว ไม่เคยรายงานเรื่องดังกล่าวแก่ที่ประชุมอนุกรรมการ ทั้งๆที่เป็นข้อมูลสำคัญ ที่คณะอนุกรรมการต้องทราบเพื่อวางแผนการระบายข้าว
นอกจากนี้แล้ว ยังได้เอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทกว่างตง ในการแก้ไขสัญญาฉบับที่ 2 หลายครั้ง
วันที่ 12 ตุลาคม 2554 มีการแก้ไขสัญญาฉบับที่ 2 เพิ่มวิธีชำระเงินอีก 2 วิธีคือ แคชเชียร์เช็ค และโอนเงินผ่านธนาคาร เท่ากับเปิดช่องให้ใช้แคชเชียร์เชค และนำไปสู่การเวียนเทียน ขายข้าวในประเทศ (มีการแก้ไขพร้อมสัญญาฉบับที่ 1)
วันที่ 2 พฤศจิกายน 2554 แก้ไขสัญญาฉบับที่ 2 บริษัทกว่างตงขอเพิ่มปลายข้าวหอมอีก 250,000 ตัน รวมเป็น 2,250,000 ตัน ขยายเวลารับมอบข้าวอีก 2.5 เดือน
วันที่ 14 พฤษภาคม 2555 แก้ไขสัญญาฉบับที่ 2 อ้างว่าบริษัทกว่างตงขอเพิ่มข้าวหอมมะลิ 500,000 ตัน โดยรวมอยู่ในปริมาณตามสัญญา และขยายเวลารับมอบอีก 1 เดือน (ในการทำสัญญาฉบับที่ 2 ไม่ได้ตกลงข้าวหอมมะลิไว้แต่แรก)
วันที่ 23 สิงหาคม 2555 แก้ไขสัญญาฉบับที่ 2 แจ้งว่าบริษัทกว่างตงขอเพิ่มข้าวขาว 10% ปริมาณ 50,000 ตัน โดยให้รวมในสัญญาเดิม เสนอซื้อตันละ 13,860 บาท
ขณะที่ราคาตลาดตันละ 16,950 บาท(ในการทำสัญญาฉบับที่ 2 ไม่ได้ตกลงข้าวขาว 10%ไว้แต่แรก)
ศาลพิพากษาว่า การแก้ไขเพิ่มชนิดข้าวและปริมาณข้าว ถือเป็นสาระสำคัญนอกขอบเขตสัญญา มีผลเสมือนหนึ่งเป็นการทำสัญญาใหม่ มิใช่ให้บริษัทกว่างตงอาศัยสัญญาที่ฝ่ายตนได้เปรียบมาแก้ไขสัญญาเพิ่มปริมาณข้าวเรื่อยๆ
สิ่งที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ทำ จึงคล้ายกับว่าข้าวในโครงการรับจำนำเป็นสมบัติส่วนตัวที่จะเพิ่ม จะลดอย่างไรก็ได้ โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของชาติ
อ้างอิง Warong Dechgitvigrom