- 01 พ.ย. 2560
รุ่นส่งไปตาย !!! "ไอ้โล้นยาลอ" เปิดเรื่องราว นปพ.48 สมัครด้วยใจจากเหนือ-อีสานลงช่วยดับไฟใต้ ก่อนกลับบ้านด้วยร่างไร้วิญญาณ!
อัศวินหลังโล่ตอนที่4 เรื่องเล่าจากประสบการณ์จริงของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ใน3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า 10 ปี โดยก่อนหน้านี้ได้เขียนเล่าไว้แล้วกว่า 3 ตอนถึงกลวิธีการก่อเหตุของผู้ก่อความไม่สงบ อุดมการณ์ และพิธีสาบานตนพร้อมบทลงโทษหากขัดขืน และในตอนที่ 4 ผู้เขียนที่ใช้ชื่อว่า อัศวินม้าไม้ ได้บอกเล่าเรื่องราวของ "ไอ้โล้นยาลอ" หรือ นักเรียนนายสิบตำรวจรุ่นพิเศษ นปพ.48 ซึ่งเป็นรุ่นที่มีการเปิดรับสมัครผู้สนใจโดยเน้นย้ำว่าจะส่งไปประจำการณ์ในพื้นที่3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อร่วมมือกับแนวรบต่อสู้เพื่อแผ่นดิน หลายๆคนมาจากทางภาคเหนือ ภาคอีสาน บอกลาบ้านเกิดและครอบครัวเพื่อลงปฎิบัติหน้าที่โดยที่ไม่ทราบชะตากรรมอนาคตภายภาคหน้า
จารึกชื่อพวกเขาไว้เป็นตำนาน
"ไอ้โล้นยาลอ-นปพ.48" ชีวิตเพื่อชาติ
อัศวินหลังโล่ ตอนที่4 #ไอ้โล้นยาลอ นปพ.48 ชีวิตเพื่อชาติ
ลูกอิสาน เข้ามา เป็นตำรวจ
ส่งประกวด จากแดน ที่ราบสูง
มุ่งชีวิต ไปสู่ แดนหนังตะลุง
ที่ราบสูง มุ่งสู่ ทักษิณ
แม้ชีวิต ต้องมี เสียเลือด
แผ่นดินเดือน ต้องตาย วายชีวา
กัดฟันสู้ สู้สุดแรงล้า ให้ชื่อข้า
ดังก้องปฐพี
เป็นเนื้อเพลงที่เหล่านักเรียนนายสิบตำรวจ ของศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภาค7 หรือภูธร7 แต่งเนื้อทำนองขึ้นมาเพื่อใช้ประกอบในการวิ่งออกกำลังกายของพวกเขาเช้าเย็น เพื่อกระตุ้นจิตใจความฮึกเหิมกับในสิ่งที่เขาจะต้องไปเผชิญในเบื้องหน้าอีกไม่นาน
ปลายปี 2547 สถานการณ์ไฟใต้กระพือไปทั่วทุกพื้นที่ ขบวนการได้ขยายพื้นที่เป้าหมายและสร้างสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง มีแนวร่วมขบวนการ เปอมูดอ RKK เพิ่มขึ้นเรื่อยๆทุกวัน มีศักยาภาพในการก่อเหตุ ยิ่งทำยิ่งสร้างความมั่นใจ สร้างขวัญกำลังใจให้ตัวเอง กับแผนการบันได 7ขั้น ที่ทางเจ้าหน้าที่ได้ไปครวจค้นในโรงเรียนสอนศาสนาแห่งหนึ่ง ที่มีนาย มะแซ อูเซ็ง เป็นผู้จัดการ ผลการตรวจค้น พบแผนการจัดตั้ง และการคัดเลือกเยาวชนมาเป็นแนวร่วม การคัดเลือกเยาวชนนั้น จะคัดเลือกดังนี้
การเข้าเป็นสมาชิกฝ่ายทหารหรือRKK.นั้น BRN.จะคัดเลือกจากเยาวชนมลายู เฉพาะผู้ชายที่ร่างกายแข็งแรง สนใจศาสนา เรียนดี มีความประพฤติดีเท่านั้น คัดเลือกเยาวชนชายในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา เข้าเป็นRKK. ซึ่งกระบวนการคัดเลือกจะใช้เวลานานมาก จนถึงขั้นตอนเล่าประวัติศาสตร์ปัตตานีแล้วจึงชักชวนสาบานตนต่อคัมภีร์กุลอ่าน จึงเริ่มฝึกอีก5ขั้นตอนคือ
ขั้นที่ 1 ปลูกฝังอุดมการณ์(ตือกัฟ)ประวัติศาสตร์ เชี้อชาติ ศาสนา บัญญัติ10ข้อ ญิฮาด
ขั้นที่ 2 ฝึกร่างกาย12ท่า(ตือปอ)
ขั้นที่ 3 ศึกษาวิถีชีวิตคนมลายู(ตารัฟ)
ขั้นที่ 4 ทดสอบร่างกาย(ตาแย)
ขั้นที่ 5 ฝึกการช่วยรบ ดูหนังสงคราม ฝึกกับคู่บัดดี้
เมื่อฝึกจบ5ขั้นตอนนี้แลัว จะเป็นเยาวชนช่วยรบ(เปอมูดอ)กระจายอยู่ตามหมู่บ้านและถ้าRKK.ขาดแคลน BRN.จะคัดเลือกเปอมูดอเข้ารับการฝึกอีก2ขั้นคือ
ขั้นตาดีกา ฝึกอาวุธและยุทธวิธีของกองโจร และการก่อการร้าย
ขั้นปอเนาะ ฝึกการวางแผนในสงครามกองโจรและการก่อการร้าย และสุดท้ายต้องทดสอบการวางแผนและการปฏิบัติการรบให้สำเร็จ1ครั้ง ก็ จะจบ ขึ้นทะเบียนเป็น RKK.ได้ (อ้างอิงจาก อดีต มทภ.4)
เมื่อทางฝ่ายขบวนการเริ่มมีการจัดตั้งกองกำลังที่เข้มแข็ง เพิ่มขึ้นเรื่อยๆทุกวัน จากการข่าวลับรายงานว่า BRN ตั้งเป้ามีนักรบที่ผ่านการฝึกอาวุธ จำนวน4-5หมื่นคน และ ฝ่ายสนับสนุนอีก จำนวนหนึ่ง ก็พร้อมที่จะประกาศชักธงขึ้นสู่ยอดเสา ปลดธงชาติไทย แต่ในขณะกลับกัน ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ประจำในพื้นที่ บางคนอายุล่วงไป50กว่าปี ศักยภาพในการตอบโต้ สู้รบก็ลดถอยลง
ในการรับมือกับนักรบหนุ่มของขบวนการ ทางหน่วยเหนือในขณะนั้นจึงได้ขออนุมัติรับสมัครนักเรียนนายสิบตำรวจในกรณีพิเศษ จำนวน700กว่านาย เพื่อส่งลงไปประจำในพื้นที่ ต้องการเด็กหนุ่ม อายุ18-27 ปี ไปรับมือกับแนวร่วมขบวนการที่จัดตั้งขึ้นมา และส่วนมากนายสิบหนุ่มเหล่านี้จะมาจากที่ราบสูง ตอนเหนือ อิสาน ของประเทศ มาด้วยใจมุ่งมั่น ผู้เขียนในขณะนั้นก็เป็นเพียงวัยรุ่นทั่วไป ที่มองสถานการณ์3จว.ใต้ ห่างไกลจากชีวิตตนเอง ใช้ชีวิตสนุก ในรั้วมหาวิทยาลัย ตกเย็นเดินห้างจีบสาว เข้าร้านเกมส์ เล่น ragnarok แถวเกษตรศาสตร์ เป็นที่รวมพลของชาวเกมส์เมอร์ยุคนั้น ก็ไม่เคยคิดว่าวันหนึ่ง ตัวเองจะได้เข้ามาร่วมกับสถานการณ์ไฟใต้ที่กำลังร้อนระอุ อยู่ในขณะนั้นเช่นกัน เช้าวันหนึ่งได้เปิดโทรทัศน์เห็นข่าว ขบวนการได้กระจายกำลังออกโจมตีสถานที่ราชการทุกจุดพร้อมกันทั่วพื้นที่ นั่นคือจุดตัดสินใจเรามันขาลุยอยู่แล้ว สมัยเรียนช่างกลก็บ้าพลังเป็นประธานสาย เป็นแกนนำรุ่น ถึงเวลาที่จะต้องไปใช้พลังให้ถูกทาง ก็ได้หาข่าวการรับสมัคร ตำรวจทหาร ที่สมัครใจลงไปทำงานในพื้นที่ ตอนนั้นไม่คิดอะไรมาก คิดแต่เพียงว่าอยากไปลุยไปสู้ดูสักครั้ง เกิดมาครั้งเดียวตายหนเดียว ขอตายให้มันสมศักดิ์ศรีหน่อยละกัน
วันแรกที่ลงไป หลังจากกราบลาพ่อแม่คนรักเรียบร้อย ใจมันก็หดหู่บ้าง นั่งรถบัสที่เขาจัดส่งจากนครปฐม เพื่อนๆบางคนก็น้ำตาไหล บางคนไม่พูดจากับใครตลอดเส้นทาง เราได้แต่เพียงมองตากันเข้าใจกันและกัน ที่ที่เราจะไปเต็มไปด้วยอันตรายและบางคนนี่เป็นการลาพ่อแม่คนรักครั้งสุดท้าย
รถบัสวิ่งผ่านมาถึงสี่แยกดอนยาง ปัตตานี มีพี่ตำรวจมารอรับนำหน้าปิดท้ายขบวน เป้าหมายที่จะไป ศปก.ตร.สน.ยะลา ไปรวมพล รายงานตัว รับแจกอาวุธ และแยกกันไปตามที่แต่ละคนสมัครใจเลือกที่จะไปลงประจำจังหวัดใหน เดินไปเดินมาก็เจอรุ่นพี่ตำรวจคนบ้านเดียวกัน เข้ามาทักทาย ~มึงจำไว้ว่าที่นี่มันสนามรบ ที่นี่ไม่ต้องการวีรบุรุษ รักษาชีวิตให้รอดปลอดภัยแล้วกลับไปหาพ่อแม่ สงครามที่นี้ไม่มีทางสงบมึงจำคำกูไว้~ คำพูดที่ได้ยินทั้งกระตุ้นและหดหู่ใจในเวลาเดียวกัน เอาวะไหนๆก็เลือกมาแล้วนี่ อย่ากลัวดิวะ ฝึกมาแล้ว ขอใช้หน่อยเหอะ ร้อนวิชา มันไม่ใช่เหล็กจะยิงไม่เข้า เมื่อได้รายงานตัวก็แยกย้ายกันไป ผ่านไปไม่ถึงเดือน เพื่อนร่วมรุ่นก็พลาดท่าให้กับพวกมัน2นาย ที่นราธิวาส โดนล้อมเข้าตีป้อม ยิงแล้วเผาทั้งเป็น เป็นการข่มขวัญของขบวนการต่อนายสิบตำรวจจบใหม่ เป็นการรับน้องที่เจ็บปวดหัวใจของเพื่อนร่วมรุ่นอย่างมาก มีใบปลิวข่มขวัญ ให้พวกเรานายสิบตำรวจใหม่ถอดใจ กลับบ้านไป อย่าเอาชีวิตมาทิ้งที่นี้ พ่อแม่ลูกเมียคอยอยู่ ชีวิตมีค่ากว่าเงินเสี่ยงภัย 2500บาทต่อเดือนที่รัฐจ่าย แต่ตรงกันข้ามมันสร้างความรักความสามัคคีในเพื่อนร่วมรุ่น เราต้องเอาคืนให้เพื่อน ให้ได้สักวัน
ตำรวจทางใต้ การออกทำงาน ออกจากที่ตั้งแต่ละครั้ง ไม่รู้ว่าจะต้องเจออะไรบ้าง จะได้กลับมาที่ตั้งแบบมีลมหายใจอีกหรือไม่ ทุกคนเพียงหวังว่าวันหนึ่งไฟใต้จะดับลง ได้กลับบ้านไปอยู่กับครอบครัว พ่อแม่พี่น้องลูกเมียและคนที่รักที่คอยพวกเขาอยู่ และ สามารถกลับไปเล่าด้วยความภาคภูมิใจว่า ครั้งหนึ่ง คนแถวปัตตานียะลานราธิวาส เขาจะแบ่งแยกดินแดน พ่อเป็นหนึ่งในตำรวจที่ลงไปปฏิบัตืหน้าที่ ต่อสู้จนสุดความสามารถ ปะทะกับผู้ก่อการร้าย จนสามารถทำให้ไฟใต้ดับลงได้ นักรบทุกคนย่อมอยากมีเกียรติประวัติ ความทรงจำเหล่านี้ไว้เล่าให้ลูกหลานฟัง ในความเสียสละของพวกเขาด้วยความภาคภูมิใจ ทุกคนพร้อมที่จะรับ อะไรจะเกิด มันก็ต้องเกิด เมื่อเลือกที่จะเดินบนเส้นทางนี้
ไอ้โล้นยาลอ หรือ นปพ.48 นักเรียนนายสิบตำรวจรุ่นพิเศษ หรือบางคนเรียกรุ่น ส่งไปตาย ได้สร้างคุณงามความดี จารึกไว้บนแผ่นดินด้ามขวานมากมาย บาดเจ็บล้มตายไปหลายคน บางคนก้าวหน้าในอาชีพ ได้เป็นนายร้อยนายพัน บางคนกลับบ้านเพียงร่างที่ไร้วิญญาน ขามามารถบัส ขากลับ ได้กลับแบบvipที่นอนอย่างดี มีธงชาติคลุม กับสายการบิน c130 มันเท่ใช่ไหมละ วิถีนักรบ มันก็เป็นแบบนี้ ถ้ายังอยู่ในสมรภูมิ ในพื้นที่ วันหนึ่งมันอาจจะเป็นเราหรือคนข้างกายเราทุกคนสามารถพบเจอได้หมด แต่ถ้าวันนี้หรือวันใดพลาด ก็ขอให้จดจำชื่อและเกียรติของพวกข้าไว้ 'นักเรียนนายสิบตำรวจรุ่นพิเศษ นปพ.48 หรือ ไอ้โล้นยาลอ ขอจารึกชื่อไว้เป็นตำนานวงการตำรวจไทย
โปรดติดตามต่อในตอนที่5 อัศวินหลังโล่ เขียนจากเรื่องราวประสบการณ์จริง10ปีในพื้นที่ไฟสงคราม
ฝากกดแชร์กดไลท์ ด้วยนะครับ
อัศวินม้าไม้