- 14 พ.ย. 2560
หม่อมโจ้ นำเครือข่ายประชาชนบุกสนง.กพ. ยุติการเดินหน้าร่าง กม.สิ่งแวดล้อม
วันที่ 14 พ.ย. เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน นำโดย มล.รุ่งคุณ กิติยากร เดินทางมาที่ สนง.กพ. เพื่อยื่นข้อเสนอต่อการแก้ไขพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เตรียมส่งให้คณะรัฐมนตรีในขณะนี้ โดยเน้นย้ำเรื่องการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
และเมื่อเวลาประมาณ 10.30น. เครือข่ายประชาชนฯ ได้อ่านแถลงการณ์ที่เป็นข้อเสนอของภาคประชาชนต่อการจัดทำร่างกฎหมาย อันสะท้อนถึง การเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายตามหลักการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 77 ที่กำหนดให้ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับรัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ต่อประชาชนนั้น ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรี ได้กำหนดแนวทางให้หน่วยงานรัฐดำเนินการตราร่างพระราชบัญญัติตามหลักการที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำ เช่น การเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์อย่างน้อย 15 วัน
โดยปัจจุบัน กระบวนการร่างกฎหมายพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จึงสะท้อนถึงความไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลในกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมาย และไม่เป็นไปตามหลักการของรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ภาคประชาชนจึงมีข้อเสนอในประเด็นที่สำคัญๆ เช่น
1. การอนุญาตให้เอกชนเข้ามาดำเนินการตามโครงการก่อนที่ EIA จะผ่าน (การนำเอาคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 9/2559 มาบัญญัติไว้ในร่างฯ) อันเป็นการเข้าข่ายละเมิดรัฐธรรมนูญตามมาตรา 58 ที่กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียของประชาชนก่อน กลุ่มเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนจึงเสนอให้ตัดมาตรา 53 วรรค 4 ออกจากร่างฯ
2. ต้องมีการแยกองค์กรบริหารจัดการระบบประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานอิสระหรือหน่วยงานกลาง
3. ควรจะมีการออกกฎหมายลูกเพื่อรองรับหลักเกณฑ์ต่างๆ และต้องกำหนดรายละเอียดเงื่อนไข เพื่อกำกับการใช้อำนาจรัฐไว้ เพื่อที่จะสามารถใช้สิทธิกระบวนการทางศาลตรวจสอบได้ อาทิ ต้องกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการพิจารณารายงาน EIAและเปิดเผยรายงานให้ชุมชนได้รับทราบ หรือมาตรการเพื่อป้องกันการหลบเลี่ยงการทำ EIA
* ด้านระบบของการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ภาคประชาชนเห็นว่าควรมีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment – SEA ) ที่เป็นการประเมินศักยภาพและข้อจำกัดของสิ่งแวดล้อม