- 21 พ.ย. 2560
"ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล" เตือนรบ.-คสช. ออกกม.เงินกู้นอกระบบ ซ้ำรอยรบ.ยิ่งลักษณ์ ซัดขรก.ยอมเหล่ตาให้นักการเมืองโกง
เฟซบุ๊คของผู้ใช้ชื่อ Thirachai Phuvanatnaranubala ของนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความว่า รัฐบาล คสช. เสนอกฎหมายเงินกู้นอกงบประมาณ - เลียนแบบรัฐบาลยิ่งลักษณ์หรือ?"
คุณคำนูณ สิทธิสมานเจออีกแล้ว เขาเขียนในเฟสบุ๊คว่า
"เปิดช่องให้ออกกฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินและใช้เงินกู้นั้นไปโดยไม่ต้องส่งคลัง !
นี่คืออีกสารัตถะสำคัญมากหนึ่งของร่างพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. .... ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสนช.ในวันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน 2560 นี้ โดยปรากฎอยู่ในมาตรา 53 และ 54
ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีข้อถกเถียงกันมากว่าการใช้เงินกู้จากกฎหมายพิเศษออกไปตามโครงการเลยโดยไม่ต้องนำส่งคลังและไม่ต้องผ่านกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปีสามารถกระทำได้หรือไม่ โดยผมเองเห็นว่าไม่สามารถกระทำได้ การถกเถียงที่เกิดจากความเห็นต่างนี้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในที่สุด โดยผมเป็นคนหนึ่งที่ร่วมเสนอความเห็นต่อศาลฯ ในที่สุดศาลฯได้มีคำวินิจฉัยที่ 3-4/2557 เมื่อ 12 มีนาคม 2557 ว่าไม่สามารถกระทำได้
หากร่างกฎหมายใหม่ฉบับนี้ผ่านออกมาใช้บังคับ โดยไม่มีการแก้ไขหลักการตามที่ปรากฏในภาพ การออกกฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินและใช้เงินกู้นั้นออกไปนอกกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปี ก็สามารถทำได้แล้ว
สาเหตุที่ร่างกฎหมายปรากฎออกมาเช่นนี้ เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ให้กำเนิดหลักการใหม่ไว้ในมาตรา 140 แตกต่างไปจากเดิมที่เคยเป็นมาหลายสิบปี"
ร่างมาตรา 53 ดังกล่าวเปิดให้รัฐบาลกู้เงินนอกงบประมาณได้และเก็บไว้ให้หน่วยงานใช้เงิน โดยไม่ต้องนำส่งคลัง
ร่างกฎหมายนี้จึงจะเป็นการเปิดให้รัฐบาลนี้และทุกรัฐบาลต่อไปสามารถกู้เงินเพื่อโครงการเฉพาะ ซึ่งไม่น่าจะต่างจากกรณีที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เสนอขอกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทเพื่อโครงการรถไฟความเร็วสูง
ในครั้งนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้กรุณาเรียกผมไปเป็นพยาน ผมได้แจ้งไม่เห็นด้วยในหลักการกู้เงินนอกระบบงบประมาณ เพราะถ้าเปิดให้ทำได้ ต่อไปโครงการใหญ่ๆ ก็จะมีแต่การกู้ยืมเฉพาะเรื่อง เพราะสะดวกและไม่อยู่ในควบคุมของระบบงบประมาณ ไม่ถูกควบคุมโดยรัฐสภา
การปฏิบัติเช่นนี้จะเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของระบบงบประมาณไทยอย่างหนัก ทั้งที่รัฐมนตรีคลังระดับปูชณียบุคคลได้ตั้งระบบ กำหนดกติกา ที่ล้วนเป็นแนวทางสากลที่รัดกุมและใช้มาได้ดีเป็นระยะเวลายาวนาน
ถึงแม้ร่างมาตรา 54 กำหนดให้หน่วยงานที่ใช้เงินจะต้องปฏิบัติตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินกู้อย่างเคร่งครัด และใช้จ่ายเงินกู้ให้เป็นไปอย่างโปร่งใส แต่การทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงที่เกิดขึ้นตลอดมานั้น ย้ำว่าระบบข้าราชการโดยตัวเองไม่เป็นเสาหลักแน่นหนาที่ประเทศสามารถพึ่งพาได้จริงจัง แต่โอนอ่อนไปตามแรงบีบของนักการเมืองได้อย่างไม่น่าเชื่อ ถึงแม้จะทำให้ตัวเองเสี่ยงติดคุกติดตราง ข้าราชการไทยก็มิได้หวั่น ดังนั้น การบัญญัติให้หน่วยงานที่ใช้เงินต้องกำกับดูแลตนเองให้เกิดธรรมาภิบาล จึงเป็นความฝันที่เลื่อนลอย และถ้าไม่มีการกำกับดูแลโดยภาคการเมืองในรัฐสภา ฐานะการคลังของประเทศก็อาจจะเละเป็นโจ๊กใส่ใข่เยี่ยวม้าสไตล์ฮ่องกง
ไม่น่าเชื่อว่า ประวัติการคลังอันมีชื่อเสียงที่ตกทอดมาตั้งแต่รัฐมนตรีคลังระดับอ๋องในอดีต เช่น คุณบุญมา วงศ์สวรรค์ ดร.เสริม วินิจฉัยกุล ดร.พนัส สิมะเสถียร ฯลฯ จะมลายหายไปในยุครัฐบาล คสช. เชียวหรือ?
เสนอกฎหมายอย่างนี้ คิดรอบคอบแล้วหรือ?