- 29 ม.ค. 2561
#ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่เพจความจริง และ www.tnews.co.th
ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดเป็นจำนวนมาก จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตสูงที่สุด โดยในปี 2012 มีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปอดทั่วโลก 1,590,000 คน สำหรับประเทศไทย ปี 2008 มีผู้ป่วยด้วยโรคนี้ถึง 8,403 คน นอกจากนี้โรคนี้ยังพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และผู้สูงอายุมากกว่าผู้ที่มีอายุน้อย จึงไม่ควรมองข้ามการตรวจเช็กร่างกายและดูแลตนเองให้ห่างไกลมะเร็งปอด
มะเร็งปอดเป็นเนื้องอกของปอดชนิดโตเร็ว ลุกลามสู่อวัยวะข้างเคียง และกระจายตัวไปยังอวัยวะอื่น ๆ ได้ เกิดจากเซลของเนื้อเยื่อในปอดแบ่งตัวเร็วผิดปกติจนควบคุมไม่ได้ ซึ่งอาจมีสาเหตุจากปัจจัยภายนอกและภายใน
-ปัจจัยภายนอก ได้แก่ สารก่อมะเร็งที่อยู่ในบุหรี่และมลภาวะต่าง ๆ อยู่ในสิ่งแวดล้อม กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ ซึ่งผู้สูบบุหรี่โดยตรงและผู้ที่ได้ควันบุหรี่โดยอ้อมจากควันบุหรี่จากผู้อื่นเป็นปัจจัยภายนอกที่สำคัญ นอกจากนั้นพบว่าสารก่อมะเร็งอาจมาจากสภาวะแวดล้อมและการทำงาน ได้แก่ Radon และ Asbestos เป็นต้น
-ปัจจัยภายใน ได้แก่ ความบกพร่องทางกรรมพันธุ์ หรือความเสื่อมของเซล ทำให้ไม่สามารถซ่อมแซมเซลล์ที่ผิดปกติได้
ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ด้วยอาการไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด แต่ในกรณีที่โรคลุกลาม นอกจากอาการที่ปอดแล้ว อาการจะขึ้นกับอวัยวะที่โรคลุกลามไปถึง ซึ่งอาจเป็นอวัยวะข้างเคียงหรือบริเวณอื่น ๆ ของร่างกายที่โรคกระจายไป อาการจะขึ้นอยู่กับบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากมะเร็งลุกลามไป
สาเหตุของมะเร็งปอดคือการสูบบุหรี่ ถือเป็นสาเหตุหลักของมะเร็งชนิดนี้ถึง 85% ของสาเหตุการเกิดทั้งหมด เนื่องจากภายในบุหรี่ประกอบไปด้วยสารพิษที่เป็นอันตรายและยังมีสารก่อมะเร็งมากกว่า 60 ชนิด ซึ่งสามารถพัฒนาให้เกิดมะเร็งปอด รวมไปถึงมะเร็งชนิดอื่นอย่างมะเร็งในช่องปากและมะเร็งหลอดอาหารได้ในภายหลัง นอกจากนี้ยาสูบประเภทอื่น เช่น ยานัด ซิการ์ ยาเส้น กัญชาผสมบุหรี่ ก็ยังสามารถเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งปอดได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน สารก่อมะเร็งเหล่านี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะไปทำลายเนื้อเยื่อภายในปอดได้ทันที ซึ่งปกติร่างกายจะพยายามซ่อมแซมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่หากมีการสูดดมเข้าไปมากขึ้นจะส่งผลให้เกิดความเสียหายกับเซลล์มากขึ้นจนร่างกายซ่อมแซมไม่ทัน กระทั่งเกิดความเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ที่ผิดปกติที่สามารถกลายเป็นมะเร็งบริเวณปอดได้ นอกเหนือจากการสูบบุหรี่ ยังพบว่ามีสาเหตุอื่น ๆ ที่สามารถก่อให้เกิดมะเร็งปอดได้เช่นกัน อาทิ สูดดมควันบุหรี่จากคนรอบข้าง ก๊าซเรดอน(สารกัมมันตรังสีที่มีอยู่ทั่วไป) สารพิษมลภาวะ ปอดติดเชื้อ
สามารถตรวจได้ด้วย 4 วิธีหลักๆ คือ 1.การเอกซเรย์ทรวงอก 2.การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือซีทีสแกน (CT-scan) 3.การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพทซีทีสแกน 4.การส่องกล้องและการตัดชิ้นเนื้อ (Bronchoscopy และ Biopsy)
ด้านการรักษาก็สามารถทำได้ 3 วิโ คือ 1.การผ่าตัด 2.การรักษาด้วยเคมีบำบัด 3.การฉายแสง อย่างไรก็ตามโรคมะเร็งปอดเป็นโรคที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่ยังมีโอกาสการรักษาให้หายขาดได้ หากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในระยะต้นของการเกิดโรคได้เร็วมากเท่าไหร่ยิ่งส่งผลดีต่อการรักษาได้มากเท่านั้น แต่หากผู้ป่วยอยู่ในระยะที่มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นหรือระยะสุดท้ายจะรักษาไม่หายขาด
หากใครที่มีอาการของโรคมะเร็งปอดอาจต้องเผชิญกับปัญหาภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะมีน้ำในโพรงเยื้อหุ้มปอด หายใจสั้น ไอเป็นเลือด มะเร็งแพร่กระจายสู่บริเวณอื่น ทางที่ดีควรเลือกที่จะป้องกันและลดความเสี่ยงด้วยการไม่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการรับควันบุหรี่ เลือกทานแต่อาหารที่ดีต่อสุขภาพ ป้องกันตนเองจากมลภาวะหรือควันพิษ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพียงเท่านี้คุณก็จะสามารถลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งปอดได้แล้ว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งผิวหนัง มะเร็งลำไส้ มะเร็งช่องปาก มะเร็งลำคอ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งสมอง มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งเม็ดเลือด มะเร็งตับ