- 13 มี.ค. 2561
กทม.งานเข้า!!"ดร.สามารถ"ยกปมหนุ่มวีลแชร์ทุบลิฟท์แนะกทม.เป็นเจ้าภาพเร่งปรับปรุงเอื้อคนพิการเหมือนช่วย"ป้าทุบรถ"
13 มี.ค.61 ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กส่วนตัว "ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์" กรณีนายมานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักรณรงค์เพื่อสิทธิผู้คนพิการ ทุบกระจกประตูลิฟต์ของสถานีบีทีเอสอโศก พร้อมกับนำภาพมาโพสต์เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ดร.สามารถ เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหา และการอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ รายละเอียดดังนี้ ...
จาก “ทุบรถ” ถึง “ทุบลิฟต์”
กทม.งานเข้า!
หลังจากมีเหตุการณ์ “ทุบรถ” เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2561 บริเวณตลาดในหมู่บ้านเสรีวิลล่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบก็เข้าไปแก้ไขปัญหาของผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากตลาดทันที
มาเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2561 หรือหลังจากเหตุการณ์ทุบรถประมาณ 3 สัปดาห์ ได้มีเหตุการณ์ “ทุบลิฟต์” เกิดขึ้นที่สถานีอโศกของรถไฟฟ้าบีทีเอส ผู้ทุบลิฟต์เป็นชายใช้รถเข็น คาดว่าคงไม่พอใจที่ไม่ได้รับความสะดวกสบายในการใช้ลิฟต์สำหรับคนพิการ เนื่องจากต้องกดปุ่มเรียกพนักงานของบีทีเอสให้มาเปิดประตูลิฟต์ซึ่งถูกล็อกไว้ บางครั้งก็ต้องรอนาน ถ้าฝนตกก็ต้องตากฝน ถ้าแดดออกก็ต้องตากแดด นับว่าน่าเห็นใจคนพิการยิ่งนัก
รถไฟฟ้าบีทีเอสกำกับดูแลโดย กทม. ทั้งนี้ กทม.ได้ให้สัมปทานแก่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี สัญญาสัมปทานระบุให้บีทีเอสซีต้องลงทุนเองทั้งหมด โดย กทม.ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการโยกย้ายระบบสาธารณูปโภคภายในวงเงิน 500 ล้านบาท ในสัญญาไม่มีการระบุให้บีทีเอสซีต้องติดตั้งลิฟต์สำหรับคนพิการไว้ด้วย
แต่ กทม.เล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ จึงได้ลงทุนติดตั้งลิฟต์ไว้ 5 สถานี ประกอบด้วยสถานีหมอชิต สยาม อโศก อ่อนนุช และช่องนนทรี ลิฟต์เหล่านี้จะให้บริการเฉพาะคนพิการเท่านั้น โดยจะนำคนพิการจากบริเวณทางเท้าไปสู่ชั้นชานชาลา ไม่แวะที่ชั้นขายตั๋ว ขั้นตอนการใช้ลิฟต์มีดังนี้ (1) คนพิการกดปุ่มเรียกพนักงาน (2) พนักงานมาเปิดประตูลิฟต์ซึ่งถูกล็อกไว้ คนพิการไม่สามารถเปิดเองได้ ในขั้นตอนนี้ผู้พิการจะต้องแสดงบัตรผู้พิการเพื่อรับคูปองใช้บริการฟรี และเพื่อให้พนักงานของบีทีเอสซีบันทึกข้อมูลการใช้รถไฟฟ้าของคนพิการไว้ เหตุที่ต้องล็อกประตูลิฟต์ไว้ก็เพราะบีทีเอสซีต้องการป้องกันไม่ให้ผู้โดยสารอื่นขึ้นไปใช้รถไฟฟ้าโดยไม่เสียค่าโดยสารและเพื่อรักษาความปลอดภัย และ (3) พนักงานนำคนพิการขึ้นลิฟต์ไปสู่ชั้นชานชาลาเพื่อเตรียมขึ้นรถไฟฟ้า พร้อมกับแจ้งไปยังพนักงานที่สถานีปลายทางว่าคนพิการอยู่ตู้ไหน ให้รอรับด้วย
ต่อมา กทม.ได้ติดตั้งลิฟต์ครบทุกสถานี แต่ไม่ครบทุกฝั่ง ลิฟต์ชุดใหม่แตกต่างจากลิฟต์ชุดเดิมซึ่งติดตั้งที่ 5 สถานีดังกล่าวข้างต้น กล่าวคือลิฟต์ชุดใหม่เป็นลิฟต์ที่ทุกคนสามารถใช้บริการได้ ไม่มีการล็อกประตูลิฟต์ไว้ การใช้ลิฟต์ชุดใหม่แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้ (1) ผู้โดยสารขึ้นลิฟต์จากทางเท้าไปสู่ชั้นขายตั๋ว (2) ที่ชั้นขายตั๋ว คนพิการจะต้องแสดงบัตรเพื่อรับคูปองใช้รถไฟฟ้าฟรี และเพื่อให้พนักงานของบีทีเอสซีบันทึกข้อมูลการใช้รถไฟฟ้าของคนพิการไว้ ส่วนผู้โดยสารอื่นจะต้องซื้อตั๋ว และ (3) ขึ้นลิฟต์จากชั้นขายตั๋วไปสู่ชั้นชานชาลาเพื่อรอขึ้นรถไฟฟ้า
จะเห็นได้ว่าลิฟต์ชุดใหม่ไม่ได้สร้างความยุ่งยากให้กับคนพิการ เพราะไม่ต้องรอให้พนักงานมาเปิดประตูลิฟต์ให้ ดังนั้น ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะต้องหาทางแก้ปัญหาความยุ่งยากในการใช้งานลิฟต์ชุดเดิม ซึ่งติดตั้งมาตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2542
ผมขอเสนอแนะให้กทม. เป็นเจ้าภาพร่วมหารือกับบีทีเอสซี และสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยเพื่อหาหนทางปรับปรุงและแก้ไขสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ดังนี้
1. ทำหลังคากันแดดกันฝนบริเวณที่รอลิฟต์ และตลอดทางลาดสำหรับรถเข็น
2. ให้บีทีเอสซีติดตั้งเครื่องตรวจตั๋วโดยสารที่ชั้นชานชาลา ซึ่งจะช่วยให้บีทีเอสซีไม่ต้องล็อกประตูเข้าลิฟต์ เพราะผู้โดยสารที่ใช้ลิฟต์ทุกคนจะต้องมีตั๋วโดยสาร มิฉะนั้น จะเข้าชานชาลาไม่ได้ ในกรณีเป็นคนพิการก็ต้องมีคูปอง แนวทางนี้มีใช้อยู่แล้วที่ฝั่งขาออกของสถานีหมอชิต และช่องนนทรี ซึ่งคนพิการไม่ต้องเสียเวลารอพนักงานมาเปิดประตูลิฟต์ให้
3. หากไม่ใช้วิธีการในข้อ 2 ผมขอเสนอให้มีการสแกนบัตรคนพิการที่ประตูเข้าลิฟต์ที่ถูกล็อกไว้ เพื่อให้คนพิการเท่านั้นที่สามารถใช้ลิฟต์ได้ ผู้โดยสารอื่นไม่สามารถใช้ได้ วิธีการนี้จะสามารถป้องกันไม่ให้ผู้โดยสารอื่นที่ไม่มีตั๋วโดยสารขึ้นลิฟต์ไปสู่ชั้นชานชาลาได้ และจะช่วยให้คนพิการไม่ต้องเสียเวลารอพนักงานให้มาเปิดประตูลิฟต์
หวังว่า กทม.จะเร่งรัดหาทางแก้ไขเพื่อช่วยเหลือคนพิการให้สามารถใช้รถไฟฟ้าบีทีเอสได้อย่างสะดวกสบายเช่นเดียวกับการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากตลาดในหมู่บ้านเสรีวิลล่านะครับ
ขอบคุณเฟซบุ๊ก "ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์"