- 22 มี.ค. 2561
ย้อนดูชัดๆ!!จำได้ไหมเคยออกมาแล้วมาตรการทำหมันรถทัวร์ 2 ชั้น แต่ทำไมยังเห็นวิ่งกันเกลื่อน (รายละเอียด)
22 มี.ค.61จากกรณีอุบัติเหตุรถทัวร์ท่องเที่ยวพุ่งข้ามเกาะชนกับรถบรรทุก 18 ล้อ บริเวณโค้งมะกรูดหวาน ต.อุดมทรัพย์ อ.วังน้ำเขียว มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตจำนวนมาก โดยรถทัวร์คันดังกล่าวเป็นรถทัวร์ปรับอากาศ 2 ชั้น เป็นรถเช่าเหมาเดินทางจาก จ.กาฬสินธุ์ เดินทางไปท่องเที่ยวที่ จ.จันทบุรี ผู้รอดชีวิตจากอุบัติเหตุรายนี้ ให้การตรงกันว่า ได้ยินเด็กรถตะโกนบอกผู้โดยสารว่า เบรกแตก จากนั้นรถก็เสียการทรงตัวก่อนพุ่งชนรถคันอื่นและข้ามเกาะกลางไปชนร้านค้าข้างทาง นับว่าเป็นโศกนาฎกรรม ที่เกิดขึ้นซ้ำซากนำมาซึ่งความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน
ย้อนไปเมื่อช่วงต้นปี 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สั่งการให้กระทรวงคมนาคมเพิ่มความเข้มงวดเรื่องรถโดยสารสาธารณะ โดยเฉพาะรถโดยสาร 2 ชั้นที่มีความอันตรายและเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง โดยคำสั่งให้ยกเลิกการจดทะเบียนรถโดยสาร 2 ชั้นตั้งแต่ตั้งปี 2559 เป็นต้นไป สำหรับรถที่เคยจดทะเบียนก่อนหน้านี้ซึ่งมีอายุการใช้งาน 5 ปี ก็จะทยอยหมดอายุคาดว่าในปี 2563 จะไม่มีรถโดยสาร 2 ชั้นบนถนนในประเทศไทย
หากมาดูสถิติอุบัติเหตุจากรถโดยสาร จะพบว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นโดยส่วนใหญ่ จะเกิดกับประเภทรถโดยสารสาธารณะหลักๆ อยู่ 3 ประเภท ได้แก่ รถตู้ รถบัสชั้นเดียว และรถบัสสองชั้น เมื่อวันที่ 15 มี.ค.61 ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย เผยแพร่ข้อมูลทางเพจ" Thailand Accident Research Center"เกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบกในปี พ.ศ. 2558 พบว่า อัตราการเกิดอุบัติเหตุของรถตู้โดยสารสาธารณะ ต่อจำนวนรถตู้โดยสารสาธารณะที่จดทะเบียน 10,000 คัน สูงกว่า อัตราการเกิดอุบัติเหตุของรถบัสชั้นเดียว ต่อจำนวนรถบัสชั้นเดียวที่จดทะเบียน 10,000 คัน ถึง 2 เท่า หรืออธิบายได้ว่า “รถตู้มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ สูงกว่า รถบัส 1 ชั้น ถึง 2 เท่า” ส่วนอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถตู้สาธารณะนั้น ก็สูงกว่า อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถบัสชั้นเดียว ถึง 2 เท่า เช่นเดียวกัน หรือพูดอย่างง่ายๆ ว่า “การเดินทางด้วยรถตู้โดยสารสาธารณะ มีความเสี่ยงในการเสียชีวิตมากกว่า การโดยสารรถบัสชั้นเดียว ถึง 2 เท่า” ทั้งนี้จะยังไม่เปรียบเทียบกับรถบัสสองชั้นที่เป็นข่าวว่าจะมีการยกเลิกเช่นเดียวกัน
สำหรับกรณีรถบัสโดยสาร 2 ชั้น ประเด็นเรื่องการยกเลิกการใช้รถบัส 2 ชั้นที่นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการไว้นั้น ในมุมของผู้ประกอบการ ให้ความเห็นว่า รถบัส 2 ชั้น ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ตัวรถเองนั้นไม่น่ามีปัญหา ปัญหาน่าจะเกิดจากผู้ขับขี่มากกว่า ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทยจึงได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ
จากข้อมูลอุบัติเหตุของกรมการขนส่งทางบกในปี พ.ศ. 2558 พบว่า อัตราการเกิดอุบัติเหตุของรถบัส 2 ชั้น ต่อจำนวนรถบัส 2 ชั้น ที่จดทะเบียน 10,000 คัน สูงกว่า อัตราการเกิดอุบัติเหตุของรถบัสชั้นเดียว ต่อจำนวนรถบัสชั้นเดียวที่จดทะเบียน 10,000 คัน ถึง 6 เท่า หรือกล่าวง่ายๆได้ว่า “รถบัสสองชั้นมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ สูงกว่า รถบัส ชั้นเดียว ถึง 6 เท่า” ส่วนอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถบัส 2 ชั้น นั้น ก็สูงกว่า อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถบัสชั้นเดียว ถึง 6 เท่า เช่นเดียวกัน หรือ “การเดินทางด้วยรถบัส 2 ชั้น มีความเสี่ยงในการเสียชีวิตมากกว่า การโดยสารรถบัสชั้นเดียว ถึง 6 เท่า” ถ้าเปรียบเทียบตัวเลขในลักษณะนี้แล้ว ก็จะเห็นได้ว่าปัจจัยของการเกิดอุบัติเหตุนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้ขับขี่เพียงอย่างเดียว ตัวยานพาหนะเองก็น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ไม่เช่นนั้นทำไมอัตราการเกิดอุบัติเหตุของรถบัส 2 ชั้นถึงสูงกว่ารถบัสชั้นเดียวมากขนาดนี้
ดังนั้น จะเห็นได้ว่ารถบัส 2 ชั้น มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุและทำให้ผู้โดยสารเสียชีวิตมากกว่ารถบัสชั้นเดียว และถ้าจะอธิบายปัญหาของตัวรถบัส 2 ชั้นตามหลักการทางด้านวิศวกรรม ก็มีดังนี้
1) ปัญหาการพลิกคว่ำของรถบัส 2 ชั้น ที่มีโอกาสเกิดได้บ่อยกว่ารถบัสชั้นเดียว ไม่ว่าจะเป็นการพลิกคว่ำบนถนนหรือพลิกคว่ำข้างทาง โดยปัจจัยหลักที่เกี่ยวข้องคือตำแหน่งของจุดศูนย์ถ่วงที่อยู่สูงกว่ารถบัสชั้นเดียวทั่วไป เนื่องจากมิติของตัวรถบัส 2 ชั้นและน้ำหนักของผู้โดยสารและสัมภาระด้านบน
2) ปัญหาความแข็งแรงของรถบัส 2 ชั้น ที่ส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 80 เป็นรถที่ประกอบขึ้นจากการนำคัสซีเก่ามาซ่อมแซมและดัดแปลงเป็นตัวถังรถใหม่ เพื่อลดต้นทุนในการนำเข้ารถใหม่จากต่างประเทศที่มีราคาสูงกว่าเท่าตัว ไม่มีการคำนึงถึงมาตรฐานของความปลอดภัย ทำให้เมื่อเกิดอุบัติเหตุ สภาพตัวรถจะบิดเบี้ยว หลังคาเปิด เบาะหลุดกระจัดกระจาย และผู้โดยสารกระเด็นไปคนละทิศคนละทาง
3) นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่นๆ ที่รถบัสชั้นเดียวก็ประสบเช่นเดียวกัน ได้แก่ ปัญหาระบบเบรกลม ที่มักจะขัดข้องหรือหยุดทำงานขณะรถวิ่งลงเนินเขาเป็นระยะทางยาว ปัญหาการยึดเบาะที่นั่ง และปัญหาการไม่ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยหรือติดตั้งแล้วแต่ผู้โดยสารไม่คาดเข็มขัดนิรภัย
แต่สาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุรถบัส 2 ชั้น น่าจะเป็นที่มิติของตัวรถ หรือความสูงของตัวรถบัส 2 ชั้น โดยเมื่อประกอบกับความเร็วในการขับขี่ และสภาพถนนที่เป็นทางโค้ง จะทำให้รถบัส 2 ชั้นเกิดอุบัติเหตุเสียหลักหรือพลิกคว่ำได้ง่าย จึงเป็นที่มาของประกาศกรมการขนส่งทางบกที่กำหนดให้รถบัสที่มีความสูงตั้งแต่ 3.6 เมตรขึ้นไปต้องผ่านการทดสอบพื้นเอียง 30 องศา โดยได้เริ่มกำหนดให้รถบัสที่จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2556 ต้องนำรถเข้ามาผ่านการทดสอบพื้นเอียง ส่วนรถบัสที่จดทะเบียนก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2556 ก็ต้องทยอยนำรถเข้ามาทดสอบพื้นเอียงเช่นกัน แต่เมื่อปลายปีที่แล้ว กลับได้รับเสียงคัดค้านจากทางผู้ประกอบการ จึงทำให้กรมการขนส่งทางบกต้องอนุโลมให้กลุ่มรถบัสสูงกว่า 3.6 เมตรที่จดทะเบียนก่อน วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2556 ยังไม่ต้องนำรถมาทดสอบพื้นเอียง แต่จะต้องนำรถไปติด GPS ซึ่งเป็นมาตรการควบคุมการใช้ความเร็วของรถ และเมื่อถึงรอบที่รถบัสมีการเปลี่ยนตัวถัง ก่อนที่จะขอจดทะเบียนก็ต้องมาทดสอบพื้นเอียงก่อนเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ตัวถังจะมีอายุประมาณ 5-7 ปี นั่นก็หมายความว่า รถบัสรุ่นเก่าที่จดทะเบียนก่อน วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2556 ยังไงก็ต้องมาทดสอบพื้นเอียงอยู่ดี
ในส่วนของการติด GPS นั้น อาจช่วยในเรื่องความปลอดภัยในการใช้รถบัสสองชั้นได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้านโครงสร้างของตัวรถที่ไม่เหมาะสมสำหรับการนำมาใช้เป็นรถโดยสารสาธารณะที่วิ่งระหว่างเมืองได้ ดังนั้น การลดปัญหาอุบัติเหตุจากรถโดยสารสองชั้น จึงควรให้มีการจำกัดการใช้งานและควบคุมจำนวนรถบัสสองชั้นมากกว่า โดยในระยะสั้นควรจำกัดเส้นทางการเดินรถ ของรถบัสสองชั้นในเส้นทางที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุรุนแรง ได้แก่ เส้นทางบริเวณทางเขาที่มีทางโค้งและทางลาดชัน ส่วนในระยะยาว ควรมีมาตรการเข้มข้นในการจัดหารถโดยสารใหม่ไม่ว่าจะเป็นของภาครัฐหรือภาคเอกชน โดยควรสนับสนุนให้จัดซื้อเฉพาะรถบัสชั้นเดียว ในขณะเดียวกันการต่อทะเบียนรถบัสสองชั้นที่มีอยู่เดิมก็จะมีกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้น ดังนั้นวิธีการนี้จะควบคุมปริมาณรถบัสสองชั้นให้น้อยลงเรื่อยๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป จนกระทั่งรถบัสสองชั้นนั้นหายไปในที่สุด ผู้ประกอบการก็จะมีระยะเวลาให้ได้พิจารณาเปลี่ยนมาใช้รถบัสชั้นเดียวที่มีความปลอดภัยมากกว่า ซึ่งในภายภาคหน้า ถ้ามาตรการเหล่านี้ได้ผล จำนวนรถบัสสองชั้นที่จดทะเบียนในแต่ละปี คาดว่าน่าจะน้อยลง จนเราจะไม่เห็นอุบัติเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นกับรถบัสสองชั้นอีก
ในส่วนของคนขับรถนับว่าเป็นปัจจัยหลักของการเกิดอุบัติเหตุ การขนส่งทางบกยังเข้มงวดผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถสาธารณะทุกคน เพื่อให้ได้คนขับรถที่มีคุณภาพ มีจิตสำนึกในการขับรถอย่างปลอดภัย ต้องผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการขับรถอย่างปลอดภัยและต้องผ่านการอบรมตามหลักสูตรที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดไม่น้อย 12 ชั่วโมง ประกอบด้วย กฎหมาย ระเบียบ และประกาศของทางราชการที่เกี่ยวข้องกับการขับรถสาธารณะ มารยาทสำหรับผู้ขับรถสาธารณะ กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกที่ควรทราบ และเทคนิคการขับรถอย่างปลอดภัย และผู้ประกอบการขนส่งจะต้องจัดให้มีการอบรมหลักสูตรอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ขับรถเป็นประจำทุกปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และกรมการขนส่งทางบกยังพัฒนากระบวนการออกใบอนุญาตขับรถและผู้ประจำรถให้มีคุณภาพ ตามมาตรฐานสากล ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ทั้งระบบ ในทุกขั้นตอนเป็นระบบ Electronic ตั้งแต่กระบวนการแสดงตัวตน การอบรม และทุกขั้นตอนการทดสอบ ยกเลิกการทดสอบโดยเจ้าหน้าที่ เป็นการยกระดับพัฒนาหลักสูตรทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ ได้กำหนดเป็นแผน ปฏิบัติการ Action Plan ประกาศใช้ปี 61
ขอบคุณข้อมูล กรมการขนส่งทางบก / ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย / มูลนิธิฮุก 31 นครราชสีมา / จส.100