- 12 พ.ค. 2561
ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th
การนำภาพสัตว์มาเป็นลายยันต์นั้นมีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยมีคติความเชื่อว่า ภาพสัตว์ที่มีพลังอำนาจในตัวของมัน เช่น เสือ ราชสีห์ ลิง กระทิง ฯลฯ พระเกจิอาจารย์จะนำเอาอักขระเลขยันต์มาประกอบเขียนกำกับเพื่อให้ดูแล้วดี มีสง่า มีความขลังขึ้น พร้อมด้วยตัวคาถาอาคมเสริมเข้าไปในรูปภาพนั้น
ยันต์ที่เกี่ยวกับเสือและมหาอำนาจมาเขียน ซึ่งมีอยู่ ๒ บท คือ ๑.คาถาพญาเสือ ที่ว่า “พยัคโฆ พยัคฆา สูญญา ลัพภะติ อิ ติ ฮิ่ม ฮั่ม ฮึ่ม ฮึ่ม ฮั่ม ฮั่ม ฮะ ทุ สะ มะ นิ (หัวใจปะถะมัง) ทุ สะ นิ มะ (หัวใจอริยสัจ ๔) ทุ สะ นะ โส (หัวใจพระธรรมบท)” และ ๒.คาถาหัวใจสิงห์ ที่ว่า “สิง หะ นะ ทัง ยัน ตัง สัน ตัน วิ กรึง คะ เร”
ในบรรดารูปสัตว์มหาอำนาจ เสือ มักจะได้รับความนิยมอยู่ในอันดับต้นๆ เช่น ยันต์ “เสือเผ่น” ของ “พระอุดมประชานาถ” หรือ “หลวงพ่อเปิ่น ฐิตธัมโม” เกจิอาจารย์แห่งวัดบางพระ จ.นครปฐม น้อยคนนักที่จะไม่คุ้นหู ขณะที่ยันต์เสือเหลียวหลัง ของสำนักสักยนต์ อ.หนู กันภัย จ.ปทุมธานี ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน นอกจากนี้ยังมียันต์หลายอีกหลายชนิด เช่น ยันต์พญาเสือ ยันต์พญาเสือสมิงมหาเวทย์ ยันต์พญาเสือตะปบเหยื่อ ยันต์พญาเสือโคร่งมหาอำนาจ ยันต์พญาเสือคู่มหาลาภ ยันต์เสือคู่เมตตาศัตรูพ่าย หรือศัตรูกลับเป็นมิตร เป็นต้น
แต่มียันต์เสืออยู่สำนักหนึ่งที่แปลกตาและไม่ค่อยพบเห็น คือ “ยันต์เสือหัวขาด” ของพระครูปลัดธนาทร หรือหลวงพ่อไฉน ฉนฺทสาโร แห่งวัดคุณากร (วนาราม) บูรพาจารย์ บ้านกระพี้ ต.บ้านเหล่า อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น ที่เหล่าบรรดาผู้นิยมลายสักยันต์ไปให้หลวงพ่อลงเข็มอย่างไม่ขาดสาย ยกเว้นวันพระ กับวันพุธเท่านั้นที่หลวงพ่อไม่รับสักยันต์
สำหรับที่มาของ “ลายยันต์เสือหัวขาด” ถือกำเนิดที่ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี มีเรื่องเล่าที่เป็นเรื่องจริงว่าจะมีโจรอยู่กลุ่มหนึ่งที่มีวิชา ทั้งปล้น ฆ่า ข่มขืน ตำรวจไม่สามารถทำอะไรได้ ทั้งมีด ปืนผาหน้าไม้ต่างๆ ก็ไม่ระคายผิว จนกระทั่งเมื่อตำรวจจับได้ต้องประหาร หรือฆ่าโดยจับถ่างขาแล้วเอาไม่แหลมสวนทวารจึงตาย พอตำรวจจับโจรกลุ่มนี้ได้ก็เปิดเสื้อดูที่หน้าอก ปรากฏว่าพบลายสักของโจรกลุ่มนี้เหมือนกันหมดก็คือ ลายสักเสือหัวขาด
ตำรวจจึงตามหาอาจารย์ที่สักลายเสือหัวขาดนี้เพื่อขอให้เลิกสักให้ลูกศิษย์ ปรากกฏว่าผู้ที่สักลายสักเสือหัวขาดนี้เป็นหลวงพ่อวิชิต สิริภัทโท เจ้าอาวาสวัดเขานางนม อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ตำรวจจึงขอให้ท่านเลิกสักจนมีอยู่วันหนึ่งหลวงพ่อไฉนท่านเดินทางไปที่ จ.ชลบุรี มีชาวบ้านได้เล่าถึงเรื่องราวของลายสักของหลวงปู่ท่านนี้ให้หลวงพ่อฟัง หลวงพ่อท่านจึงเดินทางไปกราบท่านและขอเรียนวิชากับท่านที่วัดเขานางนม พอไปถึงพระลูกวัดก็บอกท่านว่าหลวงปู่ท่านอยู่ข้างบนศาลา ซึ่งเป็นที่แปลกใจคือ พอหลวงพ่อท่านขึ้นไปกราบก็ไม่พบหลวงปู่ ท่านจึงลงมาถามพระลูกวัดอีกครั้งพระลูกวัดก็บอกว่าหลวงปู่นั่งอยู่ที่เดิมนั่นแหละ ท่านจึงกลับขึ้นไปอีกครั้งปรากฏว่าหลวงปู่ท่านนั่งยิ้มให้หลวงพ่อ ท่านนั่งกำบังตัวอยู่ตั้งแต่ตอนแรก หลวงพ่อท่านจึงเข้าไปกราบและขอเรียนวิชานี้
ที่แรกนั้นหลวงปู่ท่านจะไม่สอนให้เพราะเห็นว่าลูกศิษย์ที่สักไปเป็นเสือเป็นโจรกันหมด ด้วยปัญญาอันเฉียบแหลมของหลวงพ่อไฉน ท่านจึงคิดที่จะตั้งเป็นหลักที่ปักไว้ที่ธรณีล่ามโซ่เสือหัวขาด ซึ่งหมายถึง ไม่ทำใครก่อนแต่ใครอย่ามาทำเราก่อน หลวงปู่ท่านจึงสอนให้ เพราะต้นฉบับนั้นเสือหัวขาดจะไม่มีหลักมาปักแล้วล่ามโซ่ไว้ และลายสักเสือหัวขาด
ทุกวันนี้จึงถือว่าหลวงพ่อไฉนเป็นพระผู้สืบทอด “ลายสักเสือหัวขาด” เพียงผู้เดียวที่สืบทอดวิชามากจากหลวงพ่อวิชิต สิริภัทโท โดยเริ่มสักเสือหัวขาดตัวแรกใน พ.ศ.๒๕๔๐ จนถึงทุกวันนี้น่าจะมีลายยันต์เสือหัวขาดนับหมื่นตัว
บวชและสึกที่สุดบวชไม่สึก
หลวงพ่อไฉน เป็นคนวัดพระยาไกร เขตยานนาวา กรุงเทพฯ เป็นบุตรของ นายเฉลียว และนางสมจิตร สงปรีดี มีพี่น้อง ๕ คน ท่านเป็นคนที่ ๔ เมื่อวัยเด็กท่านชอบเรื่องของพระมาก และศึกษาการเป็นอยู่ของพระ และเมื่ออายุ ๑๕ ปี นั่งกสิณทุกอย่าง คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เมื่ออายุครบหลังปลดจากทหารท่านก็ได้บวชเป็นพระเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๐ โดยได้เดินธุดงค์ไปยัง จ.เพชรบูรณ์ อ.บึงสามพัน ท่านได้ตำราการทำกสิณของหลวงปู่แหวน ที่วัดหินดาดน้อย ท่านจึงเริ่มศึกษาอย่างจริงจังและเดินธุดงค์ไปในสถานที่ต่างๆ หลายจังหวัด เช่น เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ ลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย อุดร ขอนแก่น ศรีสะเกษ และอีกหลายจังหวัด
เมื่อกลับมาถึงวัดหนามแดงท่านก็ได้พบกับอาจารย์มานิต อาจารย์มานิตเป็นศิษย์ของอาจารย์ย่ามแดง เป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท และพระอีก ๓ รูป แต่แล้วท่านต้องสึกจากการบวชเป็นพระเพราะไม่มีใครดูแลแม่ เมือ พ.ศ.๒๕๓๑ เมื่อถึง พ.ศ.๒๕๓๓ ท่านก็บวชอีกครั้งเพราะท่านไม่ชอบชีวิตของการครองฆราวาส ชีวิตของท่านจึงหวนคืนสู่เพศบรรพชิตอีกครั้ง
หลวงพ่อไฉน จำพรรษาอยู่ที่วัดมิตรภาพ ต.กลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา อยู่ ๔ ปี ก่อนที่เจ้าคณะอำเภอส่งให้ท่านมาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดซับสวอง ต.ขนงพระ อ.ปากช่อง โดยเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๐ ท่านเปิดการสักยันต์ในสายของหลวงปู่ศุข จนมีลูกศิษย์มากมายและเป็นที่รู้จักของคนใน อ.ปากช่องและจังหวัดอื่นๆ มากมาย ท่านเป็นเจ้าอาวาสได้ ๑๐ ปี ท่านก็ลาออกและเดินทางไปอยู่วัดดอยน้อย อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ แต่ก็อยู่ได้แค่ครึ่งปี ท่านก็ต้องกลับมาอยู่ปากช่องอีกครั้งเพราะลูกศิษย์ขอให้กลับมา จึงกลับมาอยู่ที่วัดหนองแก ต.วังไทร อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
ประมาณปลาย พ.ศ.๒๕๕๓ ชาวบ้านกระพี้ อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น ขอบารมีนิมนต์หลวงพ่อไฉนให้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าโพธิ์นิมิตร ชื่อวัดเก่า จนถึงวันนี้จากวัดป่าที่มีเพียงศาลาเก่าๆ หนึ่งหลังและกุฏิไม้เก่าๆ กลายมาเป็นวัดที่แตกต่างจากเมื่อก่อนอย่างสิ้นเชิง
วัดคุณากร (วนาราม) บูรพาจารย์ แม้ขึ้นชื่อว่าเป็นวัด แต่ศาสนสถานภายในวัดถูกสร้างอย่างเรียบง่าย มุงด้วยสังกะสีพอหลบแดด กันฝนได้ บังลมได้ ตามกำลังศรัทธาของญาติโยม ซึ่งจะว่าไปแล้ว "ส้วมของวัดหลายแห่งของวัดใหญ่ วัดดัง สร้างแพงและดีกว่าศาลาการเปรียญของวัดด้วยซ้ำ ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบุญที่วัดคุณากร โทร.๐๖-๒๕๖๕-๔๖๑๕ และ ๐๙-๓๕๒๕-๕๒๖๙
วัตถุมงคล สักยันต์สร้างวัด
หลวงพ่อไฉนสร้างวัตถุมงคลตั้งแต่สมัยท่านเป็นฆราวาสก็มี ท่านมีวิชาและลูกศิษย์ลูกหาตั้งแต่ก่อนบวช เช่น ท้าวเวสสุวัณ รุ่นแรก สร้างประมาณ พ.ศ. ๒๕๒๙ และอีกหลายอย่าง เช่น สากกะเบือแช่น้ำมนต์ ใครที่อยากได้ต้องไปอธิษฐานจิตเอาเอง แล้วแบมือรอที่บนผิวน้ำ เพราะท่านจะแช่ไว้ในอ่างน้ำ แล้วหากใครมีวาสนาที่จะได้ สากกะเบือก็จะลอยขึ้นมาหาเอง ผู้ที่ได้สากกะเบือรุ่นนี้ไป มักจะพบเจอประสบการณ์กับตัวเอง
นอกจากสักยันต์แล้วก็คือการทำตะกรุด ท่านจารมือเองทุกดอก บางทีก็มีลูกศิษย์นำโลหะมาให้ท่านทำให้ ดังนั้นใครที่มีไว้ต่างก็หวงแหน มีเงินก็หาซื้อไม่ได้ ท่านมักจะสอนลูกศิษย์เสมอว่าให้มีศรัทธาเป็นที่ตั้ง ศรัทธาในองค์หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ เพราะถ้าหากไม่มีความศรัทธาแล้ว วัตถุมงคลหรือรอยสักก็จะไม่เกิดผลอะไรทั้งสิ้น