- 20 มิ.ย. 2561
สวนกระแสสังคม! "อังคณา" ซัดหนัก? "โทษประหารชีวิต" ไม่ช่วยลด "อาชญากรรม" ลั่น!! กลุ่มค้านกฏหมายประหาร มีเป้าหมายชัด ต้องเยียวยาผู้ถูกกระทำ?!
จากกรณี พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า กรมราชทัณฑ์ ได้ดำเนินการบังคับโทษตามคำพิพากษาของศาลด้วยการประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดชาย "ธีรศักดิ์ หลงจิ" อายุ 26 ปี ผู้ต้องขังในคดีฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณโหดร้ายเพื่อชิงทรัพย์ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2555 เหตุเกิดที่จังหวัดตรัง โดยนักโทษเด็ดขาดดังกล่าวได้ทำร้ายและบังคับให้เอาทรัพย์สิน คือ โทรศัพท์มือถือ และกระเป๋าสตางค์ รวมทั้งใช้มีดแทงผู้ตาย รวม 24 แผล เป็นเหตุให้เหยื่อถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้น พิพากษาประหารชีวิตศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาพิพากษายืนเป็นผลให้คดีถึงที่สุด
สำหรับการบังคับโทษประหารชีวิตดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 ประกอบมาตรา 19 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประหารชีวิตนักโทษ พ.ศ.2546 ซึ่งกำหนดให้ดำเนินการด้วยวิธีการฉีดยาหรือสารพิษให้ตาย นับเป็นผู้ต้องขังรายที่ 7 นับแต่มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 16) พ.ศ.2546 ซึ่งเปลี่ยนวิธีการบังคับโทษประหารชีวิตจากการยิงเสียให้ตายเป็นการฉีดสารพิษ
และนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478 จนถึงปัจจุบัน มีการบังคับโทษประหารชีวิตมาแล้ว จำนวน 325 ราย โดยแบ่งเป็น การใช้อาวุธปืนยิงจำนวน 319 ราย (ยิงรายสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2546) การฉีดยาสารพิษ จำนวน 6 ราย (ฉีดสารพิษครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2546 และครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2552) ดังนั้นนักโทษรายนี้จึงถือเป็นนักโทษเด็ดขาดรายแรกในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา
ต่อมาเมื่อวานที่ผ่านมา (19/06/2561) กลุ่มแอมเนสตี้ได้เชิญชวนทุกคนที่มีจุดยืนด้านสิทธิมนุษยชน มาร่วมไว้อาลัยแด่การตัดสินโทษประหารชีวิต โดยพร้อมกันในวันอังคารที่ 19 มิ.ย. นี้ เวลา 14.00-14.30 น. ณ หน้าเรือนจำกลางบางขวาง
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลคัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด รวมทั้งงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของอาชญากรรม
สืบเนื่องจากกรณี บุคคลที่มีชื่อเสียงอย่าง นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)ระบุว่า โทษประหารไม่ได้ทำให้อาชญากรรมลดลง ตั้งประเด็นว่าการประหารเป็นการแก้แค้นหรือไม่? เมื่อทราบข่าวก็ตกใจ อยากให้กำลังใจทุกฝ่าย ซึ่งการอยู่ร่วมกันในสังคมต้องเคารพสิทธิในการมีชีวิตอยู่ อยากให้ฟื้นฟูเยียวยาจิตใจผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำขึ้นอีก
นอกจากนี้ยังมีการระบุถึงกลุ่มคนที่ค้านกฏหมายประหารด้วยยว่า ที่ได้ออกมาประณามเรื่องนี้ก็ต้องยอมรับว่าเขามีเป้าหมายหลักที่จะรณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั่วโลกอยู่แล้ว ซึ่งในเอเชียมีหลายประเทศที่ยังมีโทษประหารชีวิตรวมถึงประเทศไทย และมีหลายประเทศที่กำลังจะพยายามยกเลิกโทษดังกล่าว การออกมาประณามนี้ก็ถือเป็นงานของเขาและเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
ขอบคุณเนื้อหาจาก เรื่องเล่าเช้านี้