- 04 ก.ค. 2561
ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th
เพชรหึง หรือ ว่านเพชรหึง หรือ กล้วยไม้เพชรหึง ชื่อสามัญ Tiger orchid, Leopard flower เมื่อเอ่ยถึงคำว่า เพชรหึง คนไทยส่วนใหญ่จะนึกถึง ลมพายุขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง ซึ่งมักถูกเอาไปเปรียบเทียบกับอารมณ์หึงหวงอย่างรุนแรงของสามีภรรยา หรือคนรัก ทำให้เห็นภาพพจน์ว่า สามารถสร้างความเสียหายได้เทียบเท่ากับลมเพชรหึงเลยทีเดียว
เพชรหึงมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Grammatophyllum specinocum BL. อยู่ในวงศ์ Orchidaceae หรือวงศ์กล้วยไม้
แต่เพชรหึง ยังมีอีกความหมายหนึ่ง สำหรับคนไทย นั่นคือเป็นชื่อของพืชชนิดหนึ่ง ซึ่งคนไทยแต่ก่อนเรียกว่า ว่านเพชรหึง ทั้งที่ความจริง เพชรหึง อยู่ในวงศ์กล้วยไม้ (Orchidaceae) แต่เป็นกล้วยไม้ขนาดใหญ่กว่ากล้วยไม้ทั่วไปมาก คนไทยจึงมักจะไม่คิดว่าเพชรหึงเป็นกล้วยไม้
ลำต้น อาจสูงถึงกว่า 3 เมตร มีข้อตามลำต้นห่าง กันประมาณ 4 เซนติเมตร ลำต้นแก่มีสีเหลือง เส้น ผ่าศูนย์กลางลำต้นอาจถึง 5 เซนติเมตร แตกหน่อออกทางด้านข้าง
ใบ เป็นชนิดใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันบนลำต้น ใบกว้างราว 3 เซนติเมตร ยาวราว 60 เซนติเมตร ใบอ่อน โค้งลงด้านล่าง ใบเมื่อแก่จัดจะร่วงหลุดไปจากลำต้นทิ้งรอยแผลเป็นไว้เป็นระยะๆ ที่มองคล้ายข้อบนลำต้นนั่นเอง
ดอก ออกราวเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม โดยดอกจะทยอยบานติดต่อกันนานถึง 3 เดือน ช่อดอกมีทั้งชนิดช่อตั้งและช่อห้อย แต่ละช่ออาจยาวได้ 1.5 ถึง 2 เมตร ก้านดอกยาว 15-30 เซนติเมตร แต่ละดอกมีกลีบดอก 5 กลีบ เกสรตัวผู้ 3 อัน เกสรตัวเมีย 1 อัน มีรังไข่อยู่ 3 ห้อง เพชรหึงออกดอกตามบริเวณยอด ครั้งละ 2-3 ช่อ กลีบดอกสีเหลือง มีจุดประสีแดงเข้ม แต่บางต้นก็ไม่มีจุดสีแดงเลย
ผล ผลมี 3 พู รูปร่างยาว เมื่อผลแก่จะแตกออกเป็น 3 กลีบ มีเมล็ดสีดำขนาดเล็กอยู่มากมายปลิวไปตามลม
เพชรหึงมีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนของทวีปเอเชีย และหมู่เกาะตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก ในประเทศไทยพบอยู่ตามธรรมชาติในป่าของจังหวัดพิษณุโลก เลย ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชุมพร สุราษฎร์ธานี ตรัง และ นราธิวาส ชื่อที่เรียกในประเทศไทยคือ ว่านเพชรหึง ว่านหางช้าง ว่านงูเหลือม กล้วยกา เอื้องพร้าว เป็นต้น ในภาษาอังกฤษเรียก Leopard Flower เหตุที่คนไทยส่วนใหญ่ในอดีตเรียกเพชรหึงว่าว่านนั้น เพราะเพชรหึงมีสรรพคุณทางยาหลายอย่าง
สรรพคุณว่านเพชรหึง
1.ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ ด้วยการใช้ลำต้นกับก้านใบนำมาหั่นบาง ๆ ล้างน้ำให้สะอาดแล้วนำมาใส่โหลดองกับเหล้าไว้ดื่ม (ลำต้น,ก้านใบ)
2.ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง (ใช้สูตรเดียวกับยาอายุวัฒนะ) (ลำต้น, ก้านใบ)
3.ช่วยแก้อาการไอและอาการเจ็บคอ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
4.ช่วยขับลมในลำไส้ (ใช้สูตรเดียวกับยาอายุวัฒนะ) (ลำต้น, ก้านใบ)
5.ลำต้นเพชรหึงใช้ตำผสมเหล้าเอาน้ำมากินหรือนำมาฝนกับเหล้าดื่ม ส่วนกากที่เหลือเอามาใช้พอกปากแผล มีฤทธิ์เป็นยาเย็นช่วยถอนพิษ แก้อาการอักเสบ ช่วยแก้พิษตะขาบ และพิษแมงป่องต่อย (ลำต้น)
6.ช่วยรักษาอาการผื่นคันมีน้ำเหลือง (ลำต้น)
7. ลำต้นใช้ฝนกับน้ำซาวข้าวใช้ทาพอกรักษาฝี (ลำต้น) ช่วยรักษาฝีประคำร้อย (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
ขอบคุณข้อมูลจาก : doctor.or.th , medthai.com
ขอบคุณรูปภาพจาก : medthai.com , bbg.org , nusaanggrek.blogspot , orchidthailandmuangtak