- 19 ก.ค. 2561
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำโครงการ “ทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม” เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างต่อเนื่องโดยเน้นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการลดใช้ถุงพลาสติก และหลีกเลี่ยงการใช้โฟม ทั้งในหน่วยงานราชการ 20 กระทรวง ตลาดสดเทศบาล ห้างสรรพสินค้า สถาบันการศึกษา รวมไปจนถึงอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ สวนสัตว์ทั้ง 8 แห่ง และพื้นที่ชายชาดทั้ง 24 จังหวัด ตามที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับปัญหาขยะพลาสติก โดยมีการเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการในวันที่ 19 กรกฎาคม 61 ณ ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ กรุงเทพมหานคร
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำโครงการ “ทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม” เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างต่อเนื่องโดยเน้นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการลดใช้ถุงพลาสติก และหลีกเลี่ยงการใช้โฟม ทั้งในหน่วยงานราชการ 20 กระทรวง ตลาดสดเทศบาล ห้างสรรพสินค้า สถาบันการศึกษา รวมไปจนถึงอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ สวนสัตว์ทั้ง 8 แห่ง และพื้นที่ชายชาดทั้ง 24 จังหวัด ตามที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับปัญหาขยะพลาสติก โดยมีการเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการในวันที่ 19 กรกฎาคม 61 ณ ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ กรุงเทพมหานคร
โดย พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในช่วงระยะเวลา 20 ปี ที่ผ่านมามีการนำพลาสติกและโฟมมาใช้มากขึ้นในรูปแบบของบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ มากขึ้น จากสถิติ พบว่า ประเทศไทยมีการบริโภคถุงพลาสติกหูหิ้ว 45,000 ล้านใบต่อปี โฟมบรรจุอาหาร 6,758 ล้านใบต่อปี แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว 9,750 ล้านใบ ซึ่งพลาสติกและโฟมเหล่านี้เป็นวัสดุที่ย่อยสลายยากเมื่อไม่ได้รับ
การจัดการที่ถูกต้องภายหลังการบริโภคซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางบกและทางทะเล โดยพบว่ามีถุงพลาสติก ร้อยละ 18 และ โฟมบรรจุอาหาร ร้อยละ 9 ในขยะทะเลไทย และมีแนวโน้มในการเกิดการรั่วไหลของสารปรุงแต่งหรือสารประกอบที่ใช้ในการผลิตพลาสติกและโฟมที่ใช้บรรจุอาหาร ซึ่งอาจเป็นพิษและส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน และนายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 เมษายน 61
กรณีผลการประชุมขยะทะเลระดับอาเซียน เรื่อง การลดปริมาณขยะทะเลในกลุ่มประเทศอาเซียน (ASEAN Conference on Reducing Marine Debris in ASEAN Region) ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วน รวมทั้งบริษัท ห้างร้าน หรือสถานประกอบการต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการลดการใช้วัสดุที่ผลิตขึ้นจากพลาสติกเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อม
พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ กล่าวต่อว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเห็นความสำคัญและตระหนักถึงปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะพลาสติก ที่ผ่านมากระทรวงฯ ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการเลิกใช้พลาสติกที่เห็นผลเป็นรูปธรรม ได้แก่ การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ การลดใช้ถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้า มาตรการชายหาดปลอดบุหรี่ในพื้นที่ 24 จังหวัดชายทะเล การติดตั้งทุ่นลอยดักขยะปากแม่น้ำและคลองสำคัญเพื่อลดปริมาณขยะลงทะเล การเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มหรือแคปซีล (Cap Seal) ทั่วประเทศ ซึ่งสามารถลดขยะพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มได้ถึง 2,600ล้านชิ้นต่อปี หรือคิดเป็นน้ำหนัก 520 ตันต่อปี และการลด คัดแยกขยะมูลฝอยของหน่วยงานภายในกระทรวงฯ ดังนั้น เพื่อให้เกิดการขยายผลการดำเนินงาน ทั่วประเทศ
จึงจำเป็นต้องมีการขับเคลื่อนการดำเนินกิจกรรมลดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วและงดใช้โฟมบรรจุอาหารอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 เห็นชอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมดำเนินโครงการ “ทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม” เพื่อให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการขับเคลื่อนร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความยั่งยืนในการแก้ไข
ปัญหาขยะพลาสติกพร้อมกันทั่วประเทศ โดยการสร้างความร่วมมือกับทั้งภาคราชการทั้ง 20 กระทรวง โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาชน ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกของประเทศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย 5 กิจกรรม ดังนี้
1. กิจกรรม : มาตรการลด และคัดแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้หน่วยภาครัฐของทุกกระทรวงมีการดำเนินกิจกรรมการลด คัดแยกขยะมูลฝอยภายในหน่วยงานเพื่อเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนและภาคเอกชน โดยดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 61 และให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการกำหนดให้ “ผลการลดและคัดแยกขยะมูลฝอย” เป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพของหน่วยงานภาครัฐ เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562
2. กิจกรรม : ทำความดีด้วยหัวใจ ลดรับ ลดให้ ลดใช้ถุงพลาสติก เพื่อส่งเสริม ห้างสรรพสินค้า
ร้านสะดวกซื้อ ตลาดสดทั่วประเทศ ลดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วและงดใช้โฟมบรรจุอาหาร รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนผู้บริโภค เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้บรรจุภัณฑ์หรือภาชนะที่ใช้ซ้ำได้ โดยร่วมกับกระทรวงมหาดไทยดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 61
3. กิจกรรม : การลดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วและงดใช้โฟมบรรจุอาหารในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ทั้ง 154 แห่ง โดยไม่นำถุงพลาสติกหูหิ้วและโฟมบรรจุอาหาร น้ำดื่มบรรจุขวดที่มีแคปซีลเข้ามาในเขตอุทยานแห่งชาติ และลดใช้แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว
4. กิจกรรม : การลดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วและงดใช้โฟมบรรจุอาหารในพื้นที่สวนสัตว์ โดยลดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว งดใช้โฟมบรรจุอาหาร และคัดแยกขยะมูลฝอยภายในสวนสัตว์ โดยเริ่มงดใช้โฟมบรรจุอาหารในพื้นที่สวนสัตว์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 61 ดังนี้ สวนสัตว์ดุสิต สวนสัตว์เปิดเขาเขียว สวนสัตว์เชียงใหม่ สวนสัตว์นครราชสีมา
สวนสัตว์สงขลา สวนสัตว์อุบลราชธานี สวนสัตว์ขอนแก่น และคชอาณาจักรสุรินทร์
5. กิจกรรม : การจัดการขยะบกสู่ขยะทะเล ในพื้นที่ ๒๔ จังหวัดชายทะเล เพื่อลดปริมาณขยะทะเล ในพื้นที่ ๒๔ จังหวัดชายทะเล
พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการ “ทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม” มีกำหนดการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 19 กรกฎาคม 61 ณ ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ กรุงเทพมหานคร โดยเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีการประกาศเจตนารมณ์ ในการร่วมขับเคลื่อนการดำเนินโครงการร่วมกันของภาคีความร่วมมือ ร่วมกับ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรุงเทพมหานคร กรมการปกครองท้องถิ่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME) และภาคีความร่วมมือภาคเอกชนอื่น ๆ
ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคาดหวังว่า ทุกหน่วยงานในกระทรวงทรัพยากรธรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งหน่วยงานราชการอื่น ๆ ทั้ง 20 กระทรวง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษา และประชาชน จะสามารถช่วยกันป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน โดยในเบื้องต้นมีเป้าหมายให้ข้าราชการ จำนวน 2.53 ล้านคน มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการลด และคัดแยกขยะมูลฝอย
เกิดภาพลักษณ์ที่ดี เป็นตัวอย่างในการดำเนินงานให้กับประชาชนและหน่วยงานเอกชน และทุกอาคารสำนักงานของหน่วยงานภาครัฐมีการดำเนินกิจกรรมที่ส่งเสริมสนับสนุนการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงาน เพื่อให้การจัดการขยะมูลฝอยมีประสิทธิภาพ ง่ายต่อการนำไปใช้ประโยชน์ อีกทั้งปริมาณขยะมูลฝอยของหน่วยงานภาครัฐลดลง ร้อยละ 5 หรือคิดเป็น 11,225 ตันต่อปี สามารถประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะมูลฝอยได้ 17 ล้านบาทต่อปี ปริมาณขยะรีไซเคิลที่คัดแยกได้จากหน่วยงานภาครัฐสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ 26,632 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
รวมทั้งสามารถลดปริมาณพลาสติกถุงหูหิ้ว 4,000 ล้านใบต่อปี ปริมาณโฟมบรรจุอาหาร ลดลง 1,000 ล้านชิ้นต่อปี ปริมาณแก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ลดลง 30 ล้านใบต่อปี และปริมาณพลาสติกถุงหูหิ้ว โฟมบรรจุอาหารและแก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งที่ลดลงเมื่อนำไปรีไซเคิลก่อให้เกิดรายได้ 2 ล้านบาทต่อปี และหน่วยงานภาครัฐประหยัดงบประมาณในการจัดการได้ 6 ล้านบาทต่อปี