- 19 ก.ค. 2561
กินกันไปเท่าไหร่แล้ว!? เผยผลล่าสุด การทดสอบ "สารตกค้างในเนื้อไก่" แทบไม่อยากเชื่อ กว่าร้อยละ 40 ไม่ผ่านเกณฑ์!!
บนเพจ " มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค " ได้มีการเปิดเผยเรื่องราวที่น่าตกใจ หลังจากที่มีการสุ่มตัวอย่าง เนื้ออกไก่และตับไก่สด จำนวน 62 ตัวอย่าง เพื่อตรวจหา "การตกค้างจากยาปฏิชีวนะ" โดย เนื้ออกไก่และตับไก่สด ที่นำมาทดลองนี้ ได้สุ่มเลือกจากห้างสรรพสินค้า ตลาดสด และห้างออนไลน์
การตรวจสอบ ทำโดยการใช้สาร ยาปฏิชีวนะ 3 ชนิด ได้แก่ กลุ่มที่ 1 กลุ่มฟลูออโรควิโนโลน กลุ่มที่ 2 กลุ่มเตตราไซคลิน และ กลุ่มที่ 3 กลุ่มเบต้า - แลคแทม
ซึ่งจากการตรวจหา พบว่า ในเนื้ออกไก่และตับไก่สด มีสารตกค้างอยู่จำนวน 26 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 41.93 แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ ประเภทแรก พบ 5 ตัวอย่าง ไม่ผ่านการทดสอบมาตรฐานการใช้ยาปฏิชีวนะชนิดเอนโรฟลอคซาซิน เนื่องจากเป็นยาที่นอกเหนือบัญชีแนบท้ายประกาศ ซึ่งสามารถใช้ได้แต่ต้องไม่พบการตกค้างของยาดังกล่าว และประเภทที่ 2 มี 21 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนของยาด็อกซีไซคลิน แต่ไม่ตกมาตรฐาน และตรวจไม่พบยาปฏิชีวนะชนิดอะม็อกซีซิลลิน และอีก 36 ตัวอย่าง ตรวจไม่พบยาปฏิชีวนะทั้ง 3 กลุ่ม
อย่างไรก็ตาม เราไม่อาจที่จะหลีกเลี่ยง สารตกค้างในเนื้อไก่เหล่านี้ได้ ซึ่งทางด้าน นางสาวสารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการบริหารนิตยสารฉลาดซื้อ มพบ. ได้มีข้อเสนอเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค 5 ข้อ ดังนี้
1. ผู้บริโภคไม่ต้องการอาหารที่มีการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ เพราะการเกิดเชื้อดื้อยาเกิดได้ทั้งปริมาณการตกค้างทั้งน้อยและมาก
2. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ต้องปรับปรุงมาตรฐานการตกค้างให้ยอมรับได้น้อยที่สุด
3. กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องบังคับใช้แผนปฏิบัติการในการลดการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์ม
4. สำนักงานงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมปศุสัตว์ จะต้องเข้มงวด และติดตามการใช้ยาปฏิชีวนะไม่ให้ตกค้างเกินมาตรฐานที่กำหนด รวมถึงเปิดเผยข้อมูลการตรวจสอบอย่างเป็นระบบ สม่ำเสมอ
5. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการจัดการเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะ และร้านค้าต่างๆ ควรตรวจสอบที่มาของอาหารก่อนนำเข้ามาจำหน่าย อีกทั้งในส่วนของร้านค้าในตลาด ทาง มพบ. จะทำหนังสือไปถึงสมาคมตลาดสดไทยเพื่อให้ตรวจสอบและเฝ้าระวังด้วย
ขอบคุณที่มาจาก consumerthai.org