- 26 ก.ค. 2561
เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมกับจังหวัดระนอง จัดกิจกรรมวันอนุรักษ์ป่าชายเลน “เราทำความดีด้วยหัวใจ อนุรักษ์ป่าชายเลนจังหวัดระนอง สู่มรดกโลก” โดยได้รับเกียรติจากนายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นประธานกล่าวเปิดงานพร้อมกับมอบนโยบาย ในโอกาสนี้ นายสุเทพ
เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมกับจังหวัดระนอง จัดกิจกรรมวันอนุรักษ์ป่าชายเลน “เราทำความดีด้วยหัวใจ อนุรักษ์ป่าชายเลนจังหวัดระนอง สู่มรดกโลก” โดยได้รับเกียรติจากนายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นประธานกล่าวเปิดงานพร้อมกับมอบนโยบาย
ในโอกาสนี้ นายสุเทพ วงษ์พานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เป็นผู้กล่าวต้อนรับ และนายอภิชัย เอกวนากุล ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ โดยมีคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดระนอง หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัดระนอง องค์กรส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นักเรียน นักศึกษา และประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วมกิจกรรม จำนวนกว่า 500 คน ณ ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีป่าชายเลนที่ 3 (ระนอง) ต.หงาว อ.เมือง จ.ระนอง
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดี ทช. กล่าวว่า วันที่ 26 กรกฎาคม ของทุกปี องค์การ UNESCO ได้ประกาศให้เป็นวันสากลเพื่อการอนุรักษ์ระบบนิเวศป่าชายเลน หรือวันป่าชายเลนโลก ตามคำร้องขอของประเทศสมาชิกที่เห็นว่าทรัพยากรป่าชายเลนนั้น มีความสำคัญเป็นอย่างมากไม่ว่าจะช่วยเรื่องการปกป้องชายฝั่ง ลดความรุนแรงจากผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป็นแหล่งที่ให้ความมั่นคงในชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนชายฝั่งซึ่งควรได้รับการตระหนักอย่างทั่วถึง
ด้วยเหตุนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในฐานะที่เป็นหน่วยงานภายใต้กำกับการดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีภารกิจหลักในการดูแล อนุรักษ์ และฟื้นฟู ทรัพยากรป่าชายเลน และทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้น เพื่อมุ่งมั่นที่จะกระทำความดีด้วยหัวใจ ทำกิจกรรมอนุรักษ์ป่าชายเลนจังหวัดระนองให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ทั้งการศึกษาเรียนรู้คุณค่าความสำคัญของระบบนิเวศป่าชายเลน การปลูกฟื้นฟูสภาพป่า และการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำสู่ระบบนิเวศป่าชายเลน และสนองพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ และสนองพระราชดำริสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ซึ่งถือเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และทดแทนคุณแผ่นดิน
นายจตุพร กล่าวต่อว่า จากความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนในพื้นที่จังหวัดระนอง ซึ่งมีการสำรวจวิจัยอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนที่เป็นนักวิชาการของไทย นักวิชาการจากต่างประเทศ องค์กรจากต่างประเทศ ต่างมีหลักฐานจากการลงพื้นที่สำรวจว่าป่าชายเลน พบว่าพื้นที่จังหวัดระนองมีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก ไม่มีการตัดทำลายเพิ่ม พร้อมทำการซ่อมแซม ปลูกรักษาดูแลเพิ่มในส่วนที่เคยถูกบุกรุกถูกทำลายเมื่อในอดีต แต่การที่จะนำป่าชายเลนไปเสนอเป็นมรดกโลกได้นั้น ต้องมีการพูดคุยกับคนหน่วยงานในพื้นที่ว่ามีความคิดเห็น มีความยินยอมหรือไม่ เพราะหากว่าป่าชายเลนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกแล้ว ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับป่าชายเลนต้องช่วยกันรักษาดูแลมากขึ้นกว่าเดิม เพราะเมื่อเกิดการรักษาดูแลเพิ่มเติมในส่วนที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ในด้านต่างๆ จะมีเพิ่มขึ้น เป็นผลดีกับประชาชนที่อยู่โดยรอบหรือทำมาหากินในพื้นที่ป่าชายเลนโดยตรง ซึ่งเบื้องต้นได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีในการนำเสนอให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับทราบและการรับข้อมูลจากภาคประชาชนที่เข้ามาให้ข้อมูล แต่ยังมีรายละเอียดอีกมากที่ต้องดำเนินการ เป็นการเริ่มต้นที่ดีที่ทุกภาคส่วนมีความร่วมกันที่ต้องการให้ป่าชายเลนระนองเป็นมรดกโลก
โดยในปีนี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และจังหวัดระนอง มีนโยบายร่วมกันในการผลักดันให้ป่าชายเลนจังหวัดระนองเป็นมรดกโลก เพราะเห็นว่าป่าชายเลนของเรามีความโดเด่นด้านความสมบูรณ์ ด้านการศึกษา วิจัย และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์ป่าชายเลนการเป็นมรดกโลกจะทำให้จังหวัดระนองและประเทศไทยได้รับประโยชน์และโอกาสมากขึ้นในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและเศรษฐกิจบนรากฐานการอนุรักษ์ ดังนั้น จึงขอให้พี่น้องประชาชนและหน่วยงานทุกภาคส่วนช่วยกันเตรียมความพร้อมและร่วมผลักดันไปด้วยกัน โดยการร่วมกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู และบำรุงรักษาป่าชายเลนของเราให้คงความสมบูรณ์อย่างต่อเนื่อง และปลูกฝังจิตสำนึกการอนุรักษ์ให้แก่เด็กๆ เยาวชนรุ่นต่อไป
นายอภิชัย เอกวนากุล ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน กล่าวว่า ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ได้มีการมอบพันธุ์กล้าไม้ให้แก่ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลน ตัวแทนกลุ่มเด็กๆ และเยาวชน พร้อมทั้งร่วมกันปลูกป่าชายเลน บนเนื้อที่ 30 ไร่ ใช้กล้าไม้โกงกางใบใหญ่ จำนวน 20,000 ต้น การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ จำนวน 66,000 ตัว การจัดนิทรรศการด้านป่าชายเลนระนอง สู่มรดกโลก และเยี่ยมชมระบบนิเวศป่าชายเลน บริเวณพื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง โดยใน 2 ปีที่ผ่านมา จ.ระนองได้ทวงคืนพื้นที่ได้แล้วกว่า 2,000 ไร่ และในปีนี้ทวงคืนได้ 300 ไร่
ซึ่งพื้นที่ป่าชายเลนของจังหวัดตั้งแต่ อำเภอกระบุรี อำเภอละอุ่น อำเภอเมือง อำเภอกะเปอร์ อำเภอสุขสำราญ มีประมาณ 160,000 ไร่ ร่วมกับพื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง และพื้นที่ชุ่มน้ำระนอง ทั้งหมดประมาณกว่า 700,000 ไร่ ซึ่งมีความสมบูรณ์ทางมวลชีวภาพอย่างมากโดยวัดได้จากพื้นที่ป่าชายเลน 1 ไร่ที่วัดค่ามวลชีวภาพได้ทั้งหมด 45 ตัน ในขณะที่ในจังหวัดอื่นที่มีป่าชายเลนวัดได้เพียงครึ่งหนึ่งของระนองเท่านั้น ทำให้เป็นเป้าหมายหลักในการผลักดันสู่การเป็นมรดกโลก 3 องค์ประกอบ ได้แก่ 1.มีพันธุ์ไม้ดึกดำบรรพ์ขนาดใหญ่ที่มีอายุกว่า 200 ปี อย่างต้นโกงกาง ต้นตะบูน ต้นแสมดำ และมีสัตว์ดึกดำบรรพ์อย่างแม่หอบ 2.ค่ามวลชีวภาพที่บ่งบอกความอุดมสมบูรณ์ และ 3.การมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าชายเลน