- 25 ส.ค. 2561
ทนายเกิดผลตั้งคำถามกรณีเพิ่มโทษใบขับขี่ หากทำแล้วไม่ได้ผลใครจะรับผิดชอบ
จากกรณีเมื่อวันที่ 24 ส.ค.61 กรมขนส่งทางบกร่วมแถลงข่าวกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรณีการแก้กฏหมายเพิ่มโทษเกี่ยวกับใบขับขี่รถ หวังเพิ่มความตระหนักและรับผิดชอบต่อสังคม ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมี พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ ผบก.ส.3 , พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. ,นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมขนส่งทางบก, รศ.ดร.กัณวีย์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ,นพ. ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน นโยบายเพื่อถนนปลอดภัย
นาย กมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมขนส่งทางบก กล่าวว่า กฎหมายด้านการขนส่งทางบกฉบับปัจจุบันได้บังคับใช้มาตั้งแต่ ปี 2522 ซึ่งจะต้องปรับเนื้อหาให้มีความทันสมัยและเหมาะสมกับสถานะการณ์ปัจจุบัน ให้มีส่วนสร้างความตระหนักและรับผิดชอบต่อสังคม เนื่องจากข้อมูลศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย พบว่ากลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยนต์มีโอกาสเสียชีวิตร้อยละ 34 ซึ่งสูงกว่ากลุ่มผู้ขับขี่ที่มีใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ถึงสองเท่า
จากข้อมูลสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า เด็กเยาวชนอายุระหว่าง 15-19 ปี เป็นกลุ่มที่เสียชีวิตสูงสุด เฉลี่ยปีละ 1,688 คน จากการศึกษาจากต่างประเทศที่ยอมรับด้านความปลอดภัย ในการใช้รถใช้ถนน เช่น ญี่ปุ่น,สหรัฐอเมริกา พบว่าประเทศญี่ปุ่นความผิดเกี่ยวกับการขับขี่โดยไม่มีใบอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 300,000 เยน หรือ 80,000 บาท จำคุกไม่เกิน 1 ปี ถูกตัด 12 แต้ม ส่วนในประเทศอเมริกา มีโทษปรับไม่เกิน 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 800,000 บาท จำคุกไม่เกิน 5 ปี และถูกบันทึกประวัติตลอดชีวิต
โดยทางกรมขนส่งได้ดำเนินการแก้ไข ปรับปรุงกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พระราขบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522และ พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 เข้าเป็นฉบับเดียวกัน เพื่อให้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการควบคุมกำกับพฤติกรรมของผู้ขับขี่มากยิ่งขึ้น รวมถึงการปรับบทลงโทษกับผู้ขับขี่กระทำผิด โดยความผิดเกี่ยวกับการขับโดยไม่แสดงใบอนุญาตขับรถ เสนอให้ปรับโทษจำคุกไม่เกิน3เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท จากเดิมที่ปัจจุบัน พ.ร.บ รถยนต์ จำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท และ พ.ร.บ.ขนส่ง จำคุกไม่เกิน 2ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท
ส่วนคนที่มีความผิดเกี่ยวกับการขับรถที่ใบอนุญาตสิ้นสุด ถูกสั่งพัก เพิกถอน หรือถูกยึดใบอนุญาต ปรับโทษคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท จาดเดิมพรบ.รถยนต์มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท พรบ.ขนส่ง มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท และพรบ.จราจร มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับ ไม่เกิน 40,000 บาท ส่วนความผิดเกี่ยวกับการขับรถโดยไม่แสดงใบอนุญาต ปรับโทษสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท จากเดิมตาม พรบ.รถยนต์ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท และพรบ.ขนส่ง ปรับไม่เกิน 5,000 บาท ซึ่งร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกฉบับใหม่อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนส่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา
พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ ผบก.ส.3 กล่าวว่า ในส่วนของการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายคงต้องใช้กระบวนการพิจารณาทางนิติบัญญัติที่ยาวนาน ดังนั้นต้องดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีใบขับขี่ และในส่วนของค่าปรับต่างๆ ทางตำรวจจะไม่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องใดๆทั้งสิ้น เมื่อจับตัวผู้กระทำความผิดที่ฝ่าฝืนกฎหมายแล้วจะส่งให้ทางศาล เป็นผู้พิจารณาในส่วนของค่าปรับต่างๆ ทั้งนี้ตำรวจเวลาที่เขียนใบเสียค่าปรับและคุยกับประชาชนจะต้องเปิดหน้าคุยให้เห็นหน้าทุกครั้ง ไม่เช่นนั้นก็มีโทษเช่นกัน จึงขอให้ประชาชนอุ่นใจได้ว่า กฎหมายดังกล่าวทำเพื่อประชาชนไม่ได้มีการอิงถึงผลประโยชน์ฝ่ายใดแน่นอน เพราะกฎหมายฉบับนี้ ช่วยกันในหลายๆหน่วยงาน
ล่าสุดบนเฟซบุ๊กของทนายชื่อดัง ทนายเกิดผล แก้วเกิด ได้โพสต์ถึงข่าวที่รายงานไปในข้างต้นนี้ ระบุ "ฟังกรมขนส่งทางบก และ สตช. แถลงข่าว เกี่ยวกับการเพิ่มโทษปรับ กรณี ลืม /ถูกพัก หรือ ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ ที่มีโทษปรับ และจำคุกสูงขึ้น โดยหลักการณ์ เป็นเรื่องที่ดี และเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ถ้าเพิ่มโทษสูงสุด แล้ว ไม่ได้ผล หรือ อุบัติเหตุไม่ลดลงจากเดิม เพิ่มเติมอาจมี ทุจริต / คอรับชั่นมากขึ้น ...ต่อไปจะทำอย่างไร .? จะเพิ่มโทษปรับขึ้นเป็นแสน โทษจำคุกให้เพิ่มขึ้นเป็น 5 ปี เพื่อที่ผู้ขับขี่จะได้เกรงกลัว..ถ้าไม่ได้ผลอีก จะเพิ่มโทษปรับเป็นล้าน หรือเพิ่มโทษเป็นประหาร ไปเลยหรือไม่ ถ้าไม่ได้ผล...ใครจะรับผิดชอบครับ !!"
ขอบคุณ เกิดผล แก้วเกิด