- 12 พ.ย. 2561
ข่าวดี! คลังออกกฎหมายมีลูกคนที่ 2 ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 6 หมื่น
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๔๖) พ.ศ. ๒๕๖๑
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ให้ไว้ ณ วันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๑ เป็นปีที่ ๓ ในรัชกาลปัจจุบัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ
ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคําแนะนําและยินยอมของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติทําหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๔๖) พ.ศ. ๒๕๖๑"
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความใน (๑) ของ (ค) ของ (๑) ของมาตรา ๔๗ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๔๔) พ.ศ. ๒๕๖๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน" (๑) บุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้มีเงินได้ หรือบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยาของ ผู้มีเงินได้ คนละ ๓๐,๐๐๐ บาท และสําหรับบุตรชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่คนที่สองเป็นต้นไป ที่เกิดในหรือหลังปี พ.ศ. ๒๕๖๑ ให้หักลดหย่อนได้เพิ่มอีกคนละ ๓๐,๐๐๐ บาท โดยในการนับลําดับบุตร ให้นับลําดับของบุตรทุกคนไม่ว่าจะมีชีวิตอยู่หรือไม่ก็ตาม"
มาตรา ๔ บทบัญญัติมาตรา ๓ ให้ใช้บังคับสําหรับเงินได้พึงประเมินประจําปีภาษี พ.ศ. ๒๕๖๑ ที่จะต้องยื่นรายการในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ เป็นต้นไป
มาตรา ๕ บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรที่ถูกยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้ยังคงใช้บังคับต่อไปเฉพาะในการปฏิบัติจัดเก็บภาษีอากรที่ค้างอยู่หรือที่พึงชําระสําหรับเงินได้พึงประเมิน ก่อนปีภาษี พ.ศ. ๒๕๖๑
มาตรา ๖ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ประเทศไทยมีอัตราการเกิดของประชากรลดลง ทําให้มีประชากรวัยแรงงานลดลงและอัตราส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้มีเงินได้มีบุตรมากกว่าหนึ่งคน อันจะส่งผลให้โครงสร้างประชากรของประเทศมีความเหมาะสมกับการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต สมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์การหักลดหย่อนสําหรับบุตร จึงจําเป็นต้องตรา
พระราชบัญญัตินี้