- 08 ธ.ค. 2561
ชายคนยากหอบสายบัวถวายพระ ชาวเน็ตอนุโมทนาสาธุ ตัวอย่างทำบุญด้วยศรัทธา
เรียกได้ว่าเป็นภาพที่คนในโลกโซเชียลได้มีการแชร์ส่งต่อพร้อมทั้งแสดงความเห็นกันอย่างมากมาย เมื่อเฟซบุ๊ก "พระภู ธรรมนันท์" ได้มีการโพสต์ภาพพร้อมคลิปวิดีโอบรรยายเหตุการณ์ที่ชายคนหนึ่งได้นำสายบัวที่ตั้งใจเก็บเพื่อมาถวายพระ เนื่องด้วยไม่มีเงินทองไปซื้อข้าวปลาอาหารเหมือนคนอื่น ๆ เขา โดยรายละเอียดข้อความนั้นมีอยู่ว่า "#คนจนผู้ยิ่งใหญ่ ชายผู้เข็ญใจปรารถนาถวายทานแด่คณะสงฆ์ แต่ไม่มีทรัพย์ จึงเก็บสายบัวมาถวายทาน นับว่าเป็นกุศลอย่างยิ่ง #ทีมงานจึงได้มอบถุงน้ำใจผ้าห่มแก่ชายผู้เข็ญใจท่านนี้"
ทั้งนี้ มีคำกล่าวบอกเอาไว้ว่า 10 วิธีทำบุญ ให้ได้บุญนั้นควรจะทำอย่างไร ซึ่ง "บุญ” ทั่วไปหมายถึง การกระทำความดี มาจากภาษาบาลีว่า "ปุญญะ” แปลว่า เครื่องชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ดังนั้น บุญจึงเป็นเสมือนเครื่องกำจัดสิ่งเศร้าหมองที่เราเรียกกันว่า "กิเลส” ให้ออกไปจากใจ บุญจะช่วยให้เราลด ละ เลิกความโลภ ความเห็นแก่ตัว ความมีจิตใจคับแคบ อันเป็นสาเหตุให้เกิดความทุกข์ โดยในทางพระพุทธศาสนา การทำบุญมีด้วยกัน 10 วิธี เรียกว่า "บุญกิริยาวัตถุ 10” หรือ สิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ 10 ประการ
ได้แก่ 1. ให้ทาน หรือ ทานมัย อันหมายถึง การให้ การสละ หรือการเผื่อแผ่แบ่งปัน ไม่ว่าจะเป็นเงินทอง ข้าวของเครื่องใช้หรือสิ่งอื่นใด และไม่ว่าจะให้แก่ใครก็ถือเป็นบุญทั้งสิ้น ซึ่งการให้ทานนี้อยู่ที่ไหน ๆ ก็ทำได้ และไม่จำเป็นต้องเงิน ข้อสำคัญสิ่งที่บริจาคหรือให้ทานแก่ผู้อื่นควรเป็นสิ่งยังใช้ได้ มิใช่เป็นการกำจัดของเหลือใช้ที่หมดอายุ หมดคุณภาพให้ผู้อื่น 2.รักษาศีล หรือ สีลมัย คำว่า ศีล หมายถึง ข้อบัญญัติทางพระพุทธศาสนาที่กำหนดการปฏิบัติทางกายและวาจา เช่น ศีล ๕ ศีล ๘ หรืออาจจะหมายถึงการรักษากายวาจาให้เรียบร้อย การรักษาศีลเป็นการฝึกฝนมิให้ไปเบียดเบียนผู้อื่น
3.เจริญภาวนา หรือภาวนามัย เป็นการทำบุญอีกรูปแบบที่มุ่งพัฒนาจิตใจและปัญญา ทำให้จิตใจสงบ เห็นคุณค่าสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง ซึ่งในข้อนี้หลายคนอาจจะทำเป็นประจำอยู่แล้ว เช่น นั่งสมาธิ วิปัสสนา
4.การอ่อนน้อมถ่อมตน หรือ อปจายนมัย ซึ่งการประพฤติตนเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนจะถือเป็นบุญอย่างหนึ่ง
5.การช่วยขวนขวายทำในกิจที่ชอบ หรือไวยาวัจจมัย คือเป็นการให้ความช่วยเหลือแก่สังคมรอบข้างในการทำกิจกรรมความดีต่าง ๆ
6.การให้ผู้อื่นมาร่วมทำบุญกับเรา หรือ ปัตติทานมัย กล่าวคือ ไม่ว่าจะทำบุญอะไร ก็เปิดโอกาสให้คนอื่นได้มาร่วมทำบุญด้วย ไม่ขี้เหนียวหรืองกบุญเพราะอยากได้บุญใหญ่ไว้คนเดียว
7.การอนุโมทนาส่วนบุญ หรือ ปัตตานุโมทนามัย คือ การยอมรับหรือยินดีในการทำความดีหรือทำบุญของผู้อื่น เมื่อใครไปทำบุญมาก็รู้สึกชื่นชมยินดีไปด้วย โดยไม่คิดอิจฉาหรือระแวงสงสัยในการทำความดีของผู้อื่น
8.การฟังธรรม หรือ ธรรมสวนมัย การฟังธรรมจะทำให้เราได้ฟังเรืองที่ดีมีประโยชน์ทั้งต่อสติปัญญา และการดำเนินชีวิต ซึ่งการฟังธรรมนี้ไม่จำเป็นต้องไปฟังที่วัดหรือจากพระท่านโดยตรง แต่อาจจะฟังจากเทป ซีดี หรือเป็นการฟังจากผู้รู้ต่าง ๆ และธรรมในที่นี้ก็มิได้หมายถึงแต่เฉพาะหลักธรรมในทางศาสนาเท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึงเรื่องจริง เรื่องดี ๆ ที่ทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้และปัญญา
9.การแสดงธรรม หรือ ธรรมเทศนามัย คือการให้ธรรมะหรือข้อคิดที่ดี ๆ แก่ผู้อื่น ด้วยการนำธรรมะหรือเรื่องดี ๆ ที่เป็นประโยชน์ไปบอกต่อ
10.การทำความเห็นให้ถูกต้อง เหมาะสม หรือ ทิฏฐุชุกรรม คือ การไม่ถือทิฐิ เอาแต่ความคิดเห็นของตนเป็นใหญ่ แต่ให้รู้จักแก้ไข ปรับปรุงพัฒนาความคิดเห็น และความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ ให้ถูกต้องตามธรรมอยู่เสมอ
โดยการทำบุญที่จะให้ได้ผลบุญมากหรือน้อยนั้น มีหลักเกณฑ์อยู่ 3 ประการคือ - ผู้รับ จะต้องเป็นผู้มีศีล มีคุณธรรมความดี - วัตถุสิ่งของที่ให้ต้องบริสุทธิ์หรือได้มาโดยสุจริต เป็นของที่เหมาะและมีประโยชน์ต่อผู้รับ -ผู้ให้ ต้องมีศีลมีธรรมและมีเจตนาที่เป็นบุญกุศลในการทำ จึงจะได้บุญมาก
ขอบคุณ : พระภู ธรรมนันท์, กระทรวงวัฒนธรรม