- 16 ธ.ค. 2561
เตือนภัย "Phishing" กลลวงใหม่ยุคไซเบอร์ ล้วงข้อมูลรหัสส่วนตัว แยบยลจนเหยื่อไม่รู้ตัว
เตือนภัย!! Phishing กลลวงใหม่ยุคไซเบอร์
วันที่15 ธ.ค.61เพจ123 คนดีมีน้ำใจ รับแจ้งข้อมูลเตือนภัยจากคุณรณชัย จากการติดตามเพจ123คนมีน้ำใจ จะเห็นได้ว่าตอนนี้คนถูกหลอก ทาง Facebook และ ธุรกรรมออนไลน์ กันมาก ซึ่งผมเองก็โดน Phishing บัตรเครดิต KTC แต่ดีที่มูลค่าความเสียหายไม่มาก ตอนนี้กำลังทำเรื่อง ปฏิเสธการเรียกเก็บ KTC จำนวน 1,080 บาท จึงอยากแจ้งฝากเตือน...
หลายท่านอาจเคยได้ยินเกี่ยวกับการทุจริตทางสื่ออินเทอร์เน็ตโดยอาศัยการปลอมแปลงหน้าเว็บไซต์ขึ้นมาเพื่อล่อลวงให้ผู้ใช้บริการกรอกข้อมูลรหัสประจำตัว และรหัสผ่านโดยที่มิได้สังเกตเห็นความผิดปกติของเว็บไซต์ที่เปลี่ยนไป ตามหน้าเว็บไซต์ของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยมักมีการแจ้งเตือนผู้ใช้บริการเกี่ยวกับเว็บไซต์ปลอมแปลงเหล่านี้เป็นประจำ เพราะเป้าหมายสำคัญของกลุ่มผู้ทุจริตที่เลือกใช้วิธีการโจมตีแบบนี้นั้นมักเป็นเว็บไซต์ที่ให้บริการทางการเงิน
โดยหวังผลที่จะแอบลักลอบโอนเงินไปสู่บัญชีปลายทางแห่งใดแห่งหนึ่งแล้วถอนเงินหรือโอนขโมยเงินเหล่านั้นออกไป นี่เป็นเพียงหนึ่งในเทคนิคของสิ่งที่เรียกว่า Phishing นั่นเอง คือกลวิธีในการหลอกลวงเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลอันจะนำไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้ที่ถูกล่อลวง ข้อมูลส่วนบุคคลที่กล่าวถึงนี้มักจะเป็น รหัสประจำตัวต่างๆ รหัสในการเข้าใช้งานระบบ รหัสผ่าน เลขที่บัตรเครดิต เลขที่บัญชี หรือเลขที่บัตรประชาชน
กลวิธีในการหลอกลวงผ่านช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น e-Mail Web site ทางโทรศัพท์ Mobile Application SMS Phishing หรือ SMiShing ช่องทางต่างๆล้วนอยู่ใกล้ตัวท่านมาก
ทำอย่างไรไม่ให้เป็นเหยื่อ Phishing ระมัดระวังไม่หลงเชื่อข้อความใดๆใน e-Mail หรือโทรศัพท์ หากมีการอ้างว่าส่งหรือติดต่อมาจากสถาบัน หรือบริษัทใดก็ตาม ควรค้นหาหมายเลขโทรศัพท์ของสถาบันหรือบริษัทนั้น หรือติดต่อไปยังหน่วยงาน Call Center ของบริษัทนั้นๆ (อย่าติดต่อไปตามหมายเลขโทรศัพท์ที่มีอยู่ใน e-Mail ต้องสงสัยฉบับนั้น) เพื่อตรวจสอบว่ามีการส่ง e-Mail ลักษณะดังกล่าวจริงหรือไม่ หรือส่งจากหน่วยงานใด ไม่คลิกลิงค์ใน e-Mail เพื่อการเข้าสู่หน้าเว็บไซต์ ให้ใช้วิธีพิมพ์ URL เข้าสู่เว็บไซต์ของบริษัทดังกล่าวด้วยตัวท่านเอง เป็นวิธีการป้องกันมิให้เผลอคลิกเข้าสู่เว็บไซต์ปลอมที่กลุ่มผู้กระทำการทุจริตนั้นเตรียมไว้
หากเกิดความสงสัย อย่าเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เช่นเลขที่บัตรประชาชน เลขบัตรเครดิต เลขที่บัญชี หรือรหัส ATM แก่บุคคลอื่น หมั่นตรวจสอบข้อมูลการทำรายการธุรกรรมของท่านอย่างสม่ำเสมอโดยไม่จำเป็นต้องรอให้ครบ 1 เดือน แล้วจึงตรวจสอบจากใบแจ้งรายการ และตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่มีรายการธุรกรรมแปลกปลอม หากพบรายการที่น่าสงสัย ให้ติดต่อธนาคารหรือบริษัทผู้ให้บริการ ก่อนทำการดาวน์โหลด ผู้ใช้งานควรสังเกตและดูชื่อผู้พัฒนาโปรแกรม เช่น หากเป็นแอพพิเคชั่น Mobile banking จะต้องเป็นชื่อธนาคารเท่านั้น
ในกรณีที่ไม่แน่ใจไม่ควรดาวน์โหลดหรืออาจจะเช็คกับบริษัทเจ้าของแอพพิเคชั่นก่อนว่าเป็นของจริง และที่สำคัญควรลงโปรแกรม Anti-virus ในอุปกรณ์และหมั่นอัพเดทอยู่เสมอเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งานอุปกรณ์อิเล็คโทรนิคของคุณ เมื่อได้รับข้อความ SMS หรือ IM ที่น่าสงสัย จงอย่าคลิกลิงค์ใดๆใน ข้อความนั้น แม้ข้อความจะถูกส่งมาจากผู้ที่ท่านรู้จักก็ตาม
ภาพ/ข่าว เพจ 123 คนดีมีน้ำใจ โดยสำนักข่าวทีนิวส์