- 23 ธ.ค. 2561
กำหนดวันพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อคูณ ในวันที่ 29 ม.ค. 2562
เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายต่างยังคงเร่งก่อสร้างเมรุภายในพุทธมณฑลอีสาน ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับการประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพ พระเทพวิทยาคม หรือ หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ที่มีกำหนดวันพระราชทานเพลิงศพ ในวันที่ 29 ม.ค. 2562
โดยพบว่าจุดที่สร้างเมรุลอยนั้น ฐานเมรุเสร็จแล้ว โดยมีการวางเตาเผาไว้ตรงกลาง เหลือเพียงการก่อสร้างและเก็บรายละเอียดรอบเมรุที่ยังไม่เรียบร้อย รวมทั้งยังคงมีการสร้างอาคารและถนนทางเข้าและพื้นที่โดยรอบเมรุดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การดำเนินงานในขั้นตอนต่างๆแล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด
รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. กล่าวว่า เตาเผาที่ใช้ในพิธีพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อคูณ นั้นสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยเป็นเตาเผาสีทองอร่าม ประตูเตาเผา ฉลุเป็นรูปหลวงพ่อคูนในท่านั่ง ซึ่งขณะนี้ได้ถูกนำมาวางไว้ตรงกลางเมรุลอย ห่อหุ้มด้วยพลาสติกใส ไม่ให้โดนฝุ่นละออง ซึ่งเตาเผานี้จะถูกใส่ไว้ภายในเมรุลอยนกหัสดีลิงค์
“เตาเผาดังกล่าวนี้มีขนาดเตาหากวัดจากภายนอกได้ ไม่รวมฐานเหล็ก กว้าง 1.52 เมตร ยาว 2.78 เมตร สูง 1.61 เมตรใช้อิฐประสาน 860 ก้อน ภายในเตาจะวางเรียงด้วยไม้จิก 129 ท่อน และไม้มงคลชนิดต่างอีก 6 ท่อน แบ่งเป็นไม้รองฟืน 2 ท่อน ไม้รองโลง 2 ท่อน และไม้ล็อคหัวโลง 2 ท่อน เมื่อเกิดการเผาไหม้ เถ้าอัฐิ จะหล่นลงถาดแสตนเลส ไม่ฟุ้งกระจาย และจะนำไปลอยอังคารแม่น้ำโขงตามพินัยกรรม”
รศ.ดร.นิยม กล่าวต่ออีกว่า สำหรับสถานที่ที่ใช้เป็นที่ตั้งเมรุลอยในพิธีพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อคูณ นั้น เนื่องจากบริเวณดังกล่าว เป็นสถานที่ก่อสร้างโรงพยาบาลศรีนครินทร์ แห่งที่ 2 คณะแพทยศาสตร์ มข. ซึ่งเป็นผู้ที่หลวงพ่อคูณ ระบุไว้ในพินัยกรรมให้เป็นผู้ดำเนินการฌาปนกิจศพหลวงพ่อ
จึงได้มีการหารือแนวทางการดำเนินงานร่วมกันทุกฝ่าย โดยเฉพาะกับคณะศิษยานุศิษย์ที่จะใช้สถานที่ดังกลางในการประกอบพิธี แต่ด้วยการที่หลวงพ่อคูนเป็นพระผู้ปฏิบัติ ที่มีผู้คนเคารพ และต้องการให้สมเกียรติ จึงขอพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อคูณ และจัดสร้างเมรุลอย ณ พุทธมณฑลอีสาน ริมถนนเลี่ยงเมือง พื้นที่บ้านเต่านอ ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น ซึ่งสามารถรองรับศิษยานุศิษย์หลวงพ่อคูณที่จะมาร่วมพิธีพระราชทานเพลิงฯ ได้มากกว่า 5 แสนคน
“เตาเผาดังกล่าวจะอยู่ในเมรุลอย ที่ออกเเบบโดยอาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยเป็นรูปแบบ นกหัสดีลิงค์ ซึ่งเป็นตำนานตามความเชื่อของชาติพันธุ์ไทอีสานโบราณ ด้วยการจำลองเขาพระสุเมรุ มีสระอโนดาต และสัตว์ในตำนาน 30 ตัว ความสูง 22 เมตร โดยการก่อสร้างทั้งหมดเป็นสีขาว สื่อถึงความบริสุทธิ์ เรียบง่าย ตามเจตนารมณ์ของหลวงพ่อคูณ ที่ระบุไว้ในพินัยกรรม”