- 03 ม.ค. 2562
ความหมายของ "พายุปาบึก" กับความรุนเเรงที่หลายคนต่างหวาดกลัว
เวลานี้คงไม่มีใครที่จะไม่รู้สึกวิตกกังวลกับข่าว“พายุปาบึก” ซึ่งกำลังจะพัดเข้าพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยในช่วงระหว่าง 3-5 มกราคมนี้ ทางด้านกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศแจ้งเตือนถึง “พายุปาบึก” ที่กำลังเคลื่อนตัวเข้ามาในเร็ว ๆ นี้ นอกจากนี้ ในโลกของโซเชียลมีเดียได้มีการแชร์ข้อมูลที่ระบุว่า “พายุปาบึก” ลูกนี้มีความรุนแรงอย่างมาก มีฤทธิ์ทำลายล้างเทียบเท่ากับพายุโซนร้อนแฮเรียต ซึ่งเกิดขึ้น เมื่อปี 2505 ที่ได้สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยประเทศไทยอย่างไม่เคยมีมาก่อน มีผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก
เเละนั่นคือสิ่งที่หลายคนต่างหวาดกลัว “พายุปาบึก” วันนี้เราจะมาไขข้อสงสัยว่า “ปาบึก” ที่เรียกกันอยู่นั้น เป็นชื่อของพายุหรือชื่อของปลาชนิดหนึ่งกันแน่ สำหรับ “ปาบึก” (Pabuk) เป็นชื่อของพายุหมุนเขตร้อนในชุดที่ 2 ที่มาจากการเสนอชื่อโดยสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ชื่อ “ปาบึก” นั้น ก็มีที่มาจาก “ปลาบึก” ปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่อยู่ในแม่น้ำโขง เป็นพายุหมุนเขตร้อนที่ก่อตัวทางมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตกตอนบนและทะเลจีนใต้
โดย พายุโซนร้อน คือพายุหมุนที่มีกำลังปานกลาง ก่อตัวขึ้นในบริเวณทะเล หรือมหาสมุทรในเขตโซนร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตร บริเวณที่เกิดพายุจะมีฝนตกหนัก ลมแรง มีความเร็วลมรอบบริเวณศูนย์กลางตั้งแต่ ๓๔ นอต (๖๓ กิโลเมตรต่อชั่วโมง) แต่ไม่ถึง ๖๔ นอต (๑๑๘ กิโลเมตรต่อชั่วโมง) นอกจากได้รับ ลมแรงและฝนตกเเล้ว พายุหมุนเขตร้อนมีความสามารถในการสร้างคลื่นสูง และก่อให้เกิดความเสียหายจากน้ำขึ้นจากพายุ และทอร์นาโด ซึ่งมักจะลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงที่พายุอยู่บนแผ่นดิน เนื่องจากถูกตัดขาดจากแหล่งพลังงานหลักของมัน จากเหตุผลนี้ ทำให้บริเวณชายฝั่งทะเล มักมีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายจากพายุหมุนเขตร้อนมากกว่า เมื่อเทียบกับในแผ่นดิน อย่างไรก็ตามในแผ่นดินเองก็เกิดความเสียหายได้จากน้ำท่วมบนแผ่นดิน จากฝนตกหนัก และน้ำขึ้นจากพายุสามารถก่อให้เกิดน้ำท่วมบนแผ่นดินได้กว้างถึง 40 กิโลเมตร จากชายฝั่งทะเล
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้พายุปาบึกกำลังเคลื่อนตัวลงอ่าวไทยในช่วงวันที่ 2-3 มกราคม 2562 ซึ่งพื้นที่ภาคใต้จะได้รับผลกระทบในช่วงวันที่ 3-5 มกราคม 2562 ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากไว้ ณ ที่นี้ด้วย
ขอขอบคุณ กรมอุตุนิยมวิทยา ภาพบางส่วนจาก ประเทศคอน