- 17 ม.ค. 2562
ปอท. เร่งล่าตัว คนปล่อยข่าวปลอม อนุญาตเพาะกัญชา และ ฝุ่นละออง PM2.5 ทำพิษ สังเวย 1 ศพ
จากกรณีที่โลกโซเชียลมีการแชร์ข่าวเกี่ยวกับฝุ่นละออง PM 2.5 เกินมาตรฐาน มีผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในที่โล่งแจ้งและหันมาสวมหน้ากาก N95 ที่สามารถป้องกันฝุ่นละลองระดับ PM 2.5 ได้ ซึ่งต่อมาเว็บไซต์ข่าวปลอม มีการนำเสนอข่าวที่มีข้อมูลเป็นเท็จ ซึ่งอ้างว่ามีประชาชนได้รับฝุ่น PM2.5 จนเกิดอาการผิวหนังพุพองและช็อคเสียชีวิตสร้างความกลัวให้ประชาชนที่รับข่าวสาร จนกระทรวงสาธารณสุขต้องออกมาเตือนว่าเป็นข่าวมั่ว เป็นการนำภาพผู้ป่วยที่แพ้ยาจากสาเหตุอื่นมาสร้างข่าวให้เกิดความตื่นตระหนกนั้น
พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผกก.3 บก.ปอท.ในฐานะ โฆษก บก.ปอท.ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ทางศูนย์เฝ้าระวังโซเชียลของ บก.ปอท.ได้ตรวจสอบพบข่าวดังกล่าวแล้ว ทราบว่าเบื้องต้นเป็นเว็บไซต์ gmmwork.com ทาง ผบก.บก.ปอท.ได้สั่งการให้ฝ่ายสืบสวนตรวจสอบแล้ว นอกจากนี้ได้เสนอกระทรวงดิจิตอลเศรษฐกิจและสังคม ดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์ดังกล่าวต่อไป
จึงอยากจะเตือนพี่น้องประชาชนในเรื่องการรับส่งข้อมูลข่าวสารในโลกออนไลน์ ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบข้อมูลก่อนส่งต่อหรือแชร์ เพราะนอกจากจะส่งข่าวปลอมแล้วยังอาจจะมีความผิดตาม พรบ.คอมพ์ การรับฟังข้อมูลข่าวสารควรตรวจสอบจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ เช่น เว็บไซต์ของรัฐบาล หรือ หน่วยงานราชการ หรือ สำนักข่าวที่มีมาตรฐานเชื่อถือได้
โฆษก บก.ปอท.ยังได้ฝากเตือนประชาชนที่แชร์ข่าวเกี่ยวกับยาเสพติดประเภทกัญชาอีกข่าวหนึ่งด้วยที่ระบุว่า
“สายเขียว เฮลั่น! อนุมัติแล้ว คนไทยสามารถเพาะกัญชาได้ที่บ้าน ไม่เกิน 50 ต้น”
ซึ่งในเรื่องดังกล่าวทาง เลขาธิการ ปปส. ได้ออกมายืนยันว่า การเสนอข่าวดังกล่าวเป็นการนำเนื้อข่าวที่ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนมาเติมแทรกข้อความที่เขียนขึ้นเองโดยไม่ได้ให้สัมภาษณ์ และประการสำคัญข้อความที่เติมแทรกมานั้น นอกจาก เป็นข้อความอันเป็นเท็จ และได้แจ้งความกับพนักงานสอบสวน บก.ปอท.ให้ดำเนินคดีกับคนที่เกี่ยวข้องกับการข่าวปลอมดังกล่าวตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ แล้ว
สุดท้าย มีมิจฉาชีพอาศัยสถานการณ์ฝุ่นละอองในขณะนี้หลอกลวงขายหน้ากากป้องกันฝุ่นละอองในโลกโซเชียล ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ทาง บก.ปอท. อยู่ระหว่างสืบสวนติดตามจับกุม ทาง บก.ปอท.จึงขอเตือนประชาชน ก่อนจะสั่งซื้อสินค้าให้นำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับร้านค้า เช่น ชื่อร้านค้า,ชื่อเจ้าของร้าน,ชื่อเจ้าของบัญชี/เลขบัญชีธนาคาร ,หมายเลขโทรศัพท์ ฯลฯ ไปตรวจสอบกับกูเกิล เพื่อตรวจสอบเบื้องต้นก่อนว่าเป็นมิจฉาชีพ หรือไม่ จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เจอพิษเพจข่าวปลอมอีกราย!! "ไมค์ ภิรมย์พร" แจงข่าวลือ "รถชนอาการสาหัส" ลั่น "ผมไม่มีรถ BMW ขับครับ"
- แชร์ไปให้โลกรู้!! เปิดความจริงชุมนุม10 กุมภาพันธ์! แก๊งค์หลอกลวง ขบวนการสกปรก ทำประชาชนปั่นป่วน ปล่อยข่าวปลอมล้มรัฐบาล!!
ติดตามข่าวอื่นที่น่าสนใจได้ที่ www.Tnews.co.th
ติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ http://bit.ly/คนดีมีน้ำใจ