- 18 ม.ค. 2562
ลึกอีกมุม จริงหรือไม่ฝุ่นพิษฟุ้งกรุง มาจากเขมร?
ถือเป็นปัญหาระดับประเทศไปเเล้วกับกรณี สถานการณ์คุณภาพอากาศ ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ระบุว่า คุณภาพอากาศอยู่ในระดับ ปานกลางถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยตรวจพบสารมลพิษทางอากาศที่ตรวจพบเกินมาตรฐาน ตั้งเเต่วันที่ 14 มกราคม ที่ผ่านมา ฝุ่นละอองในชั้นบรรยากาศ มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ซึ่ง เกินมาตรฐานทั้งใน กรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้ง จ.นครปฐม นนทบุรี และ สมุทรสาคร หลายคนคงเกิดคำถามว่า ในวันอากาศปิดสถานการณ์ฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพฯเเละปริมณฑลจะเป็นเช่นไร เพราะในตอนนี้ดูท่าว่า ฝุ่นละอองเเละควันพิษที่อยู่ในเขตพื้นที่ดังกล่าว ดูเหมือนจะเป็นกลุ่มหมอกที่ดูอึมครึม ทำให้คุณภาพอากาศอยู่ในขั้นหน้าสะพรึงกลัว เเถมยังกระทบต่อสุขภาพประชาชน
ด้านผศ.ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ออกมาเปิดเผยว่า ในตอนนี้ต้องเฝ้าระวังวันที่ 18 ม.ค. อย่างใกล้ชิด เพราะอากาศจะปิด เเละจากการพยากรณ์อากาศพบว่า ในช่วง 1-2 วัน นี้สภาพอากาศมีความกดอากาศสูงเข้ามา ละเมื่อมวลอากาศเย็นแผ่ลงมาจนหมดกำลังก็จะถอยกลับไป ซึ่งช่วงระหว่างที่มวลอากาศเย็นหมดกำลังและถอยกลับไปนั้น จะทำให้สภาพอากาศของกรุงเทพและปริมณฑลนิ่งอยู่กับที่ และจะมีหมอกเกิดขึ้น ซึ่งสภาพแบบนี้ก็จะเกิดในช่วง 17-19 ม.ค. อาจจะมีลมบ้างเล็กน้อย แต่จะไปหนักสุดในวันที่ 20 ม.ค. นี้ ซึ่งอาจจะเกิดการสะสมของฝุ่น PM2.5 กลับมาอีกครั้ง ส่งผลให้อากาศมีความชื้น ฝุ่นจะกลับมา ปัญหาฝุ่นพิษไม่ใช่ปัญหาเฉพาะกรุงเทพฯ เเต่หลายประเทศในเอเชีย ทั้งไทย เกาหลีใต้ จีน และอินเดียก็กำลังเผชิญปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กปกคลุมหลายเมืองในประเทศเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ในเกาหลีใต้ จากข้อมูลสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ชี้ว่า ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กอยู่ในระดับเลวร้ายที่สุด นับตั้งแต่มีการติดตามข้อมูลในปี 2558โดยเฉพาะกรุงโซลและพื้นที่ใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทางการท้องถิ่นต้องออกมาตรการฉุกเฉิน เพื่อบรรเทาอันตรายต่อสุขภาพ รวมทั้งเตือนให้ประชาชนสวมหน้ากากป้องกัน และหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกอาคาร มาตรการฉุกเฉินดังกล่าวประกาศใช้ต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 เมื่อวานนี้ และคาดว่าในวันนี้ ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กน่าจะแตะระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ในกรุงโซล อยู่ที่ 195 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงกว่าระดับปลอดภัยที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 25 ไมโครกรัม เกือบ 5 เท่า ขณะเดียวกันมาดูข้อมูลที่กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ซึ่งได้มีการประสานงานกับ กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล รวม 5 จังหวัด เพื่อดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหากันอย่างต่อเนื่อง เช่น เพิ่มจำนวนจุดตรวจวัดรถยนต์ควันดำเป็น 20 จุด รอบกรุงเทพฯ กวาดล้างถนนอย่างเข้มงวดทุกวัน พร้อมทั้งจัดอุปกรณ์ฉีดพ่นละอองน้ำเพื่อลดปัญหาฝุ่นละออง และเร่งคืนพื้นที่ผิวจราจรลดฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง ร่วมถึงปฏิบัติการฝนหลวง
หากเรามองภาพรวมสถานการณ์ในตอนนี้จะเห็นว่า สาเหตุหลัก ที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศขณะนี้ได้เเก่ ฝุ่น PM2.5 มาจากการจราจรเป็นหลัก โดยเป็นรถยนต์ดีเซลที่ปล่อยควันดำเพราะการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ซึ่งบวกกับอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองสะสมยืดยาวมาถึงตอนนี้ อีกทั้งยังมีการเผาพืชสวนในกลุ่มภูมิภาคต่างๆทำให้ปัญหาดังกล่าวยิ่งเเก้ไขได้ยาก อย่างไรก็ตามทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อมได้มีการกำหนดนโยบายเร่งเเก้ไขปัญหาฝุ่นละอองพิษ 4 ด้านคือ
1.ให้มีการตรวจสภาพรถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ทั้งหมดแล้วเสร็จภายในวันที่ 18 ม.ค.2562 โดยจะต้องไม่มีรถโดยสารที่มีควันดำวิ่งโดยเด็ดขาด
2.ให้รถโดยสาร ขสมก.เปลี่ยนมาใช้น้ำมันไบโอดีเซล B 20 เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและลดการเกิดฝุ่นละอองภายในวันที่ 1 ก.พ. ส่วนการแก้ปัญหาในระยะต่อมา ให้ ขสมก.จัดหารถที่ใช้พลังงานสะอาดทั้งหมด 2,188 คัน ประกอบไปด้วยรถโดยสาร NGV รถไฮบริด รถ EV
3.งานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างดำเนินการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะพิจารณางดหรือปรับเวลาการก่อสร้างที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองในช่วงวันที่ 16-22 ม.ค. โดยเฉพาะพื้นที่ถนนลาดพร้าว แจ้งวัฒนะ ศรีนครินทร์ รามคำแหง รามอินทรา ต้องมีการคืนพื้นผิวจราจรโดยเร็วที่สุด รวมทั้งต้องฉีดล้างถนนพื้นที่ก่อสร้าง ล้างล้อรถบรรทุกอยู่เสมอทุกครั้ง
4.ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ติดตั้งเครื่องปล่อยฝอยละอองน้ำ ที่ถนนทางแยกต่างระดับที่บางขุนเทียน เพื่อชะล้างและลดการเกิดฝุ่นที่เกิดจากรถบรรทุก ให้จัดการจราจรทุกด่านเก็บเงินค่าผ่านทางพิเศษให้มีความคล่องตัว พร้อมรณรงค์เชิญชวนให้ประชาชน ลดการใช้พาหนะส่วนบุคคลมาใช้รถโดยสารสาธารณะเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดการเกิดมลพิษบนท้องถนนและลดการเกิดปัญหาจราจร
โดยนักวิชาการหลายท่าน ได้ให้เหตุผลของการเกิดฝุ่นควันพิษในครั้งนี้ มีทิศทางมาจากประเทศเพื่อนบ้าน อย่างประเทศเขมร ล่าสุดทางเพจ "คัดข่าว" ได้เปิดเผยข้อมูล เกี่ยวกับการเกิดฝุ่นละออง ที่เกินค่ามาตรฐานในครั้งนี้ จะเห็นว่าภาพถ่ายดาวเทียมในชั้นบรรยากาศ พบฝุ่นละอองกลุ่มใหญ่พัดมาจาก ประเทศเขมร ซึ่งเกิดจากการเผานาไร่ในพื้นที่ จ.อุดรมีชัย จ.พระวิหาร จ.เสียมราฐ(สังเกตจุดส้ม สีแดง บนแผนที่) ซึ่งเผากันมาก แล้วลมหอบมารวมกับฝุ่นที่เกิดใน กทม. จนทำให้เกิดฝุ่นละอองหนักกว่าเดิม สิ่งที่ยืนยันได้คือกลุ่มจังหวัดชายแดน ไทย กัมพูชา สระแก้ว ปราจีน สระบุรี ก็อ่วมมลพิษพอกับ กทม ทั้งๆที่รถไม่มากเท่าและไม่มีการก่อสร้าง ลมหนาวแผ่วผิดปกติ อากาศนิ่ง พัดจากเหนือลงใต้ ปะทะกับลมจากอันดามัน ทำให้มลพิษเป็นฝุ่นใน กทม ไม่ไปไหน เรื่องนี้เป็นปัญหาอาเซี่ยนแบบไฟป่า อินโดฯ
ทั้งนี้ ศ.ดร.เสริม จันทร์ฉาย ผู้ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษาภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดเผยว่า “ผมและทีมงานได้นำภาพถ่ายจุดที่มีการเผาไหม้ (fire spots) จากดาวเทียมโมดิส (MODIS) ของนาซ่า (NASA) มาตรวจสอบร่วมกับแผนที่อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า มีจุดของการเผาไหม้หนาแน่นมากในประเทศกัมพูชา และจากแผนที่อากาศพบว่า มีกระแสลมพัดจากประเทศกัมพูชาเข้ามายังประเทศไทย จากข้อมูลโฟโต้มิเตอร์ซึ่งบอกว่าฝุ่นละอองส่วนใหญ่มาจากการเผาไหม้ชีวมวลและจากภาพถ่ายจุดที่มีการเผาไหม้ประกอบกับแผนที่อากาศจึงสรุปได้ว่า ฝุ่นละอองที่ก่อปัญหาให้กับประเทศไทยขณะนี้ส่วนใหญ่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน”
นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2555 ถือเป็นปีเเรกที่ปัญหาฝุ่นควันพิษ มีเเนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ 1 มกราคม จนรัฐบาลเข้ามาเเก้ไขสถานการณ์สภาพอากาศ จนในที่สุดสภาพอากาศก็อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเป็นครั้งแรก ในวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2555 ตามค่ามาตรฐาน PM10 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง เท่ากับ 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยก่อนหน้าวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2555 ในบางช่วงบางเวลามีค่าฝุ่นละอองในอากาศมากกว่า 200 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรซึ่งถือว่าสูงมากจัดอยู่ในขั้นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งพบในหลายพื้นที่ของ 8 จังหวัดภาคเหนือ ส่งผลให้ยอดผู้ป่วยในตอนนั้น ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลพุ่งสูงขึ้น ระหว่างวันที่ 1-7 มีนาคม 2555 ในโรงพยาบาล 87 แห่ง มีรายงานผู้ป่วยเข้ารับการรักษาใน 4 กลุ่มโรค ได้แก่ กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด 23,685 ราย กลุ่มโรคทางเดินหายใจทุกชนิด 24,837 ราย กลุ่มโรคตาอักเสบ 2,265 ราย และกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ 2,610 ราย
ขอขอบคุณ ศ.ดร.เสริม จันทร์ฉาย , ผศ.ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ , ข้อมูลสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ , กรมควบคุมมลพิษ