- 23 ม.ค. 2562
หมอล็อต ลุ้นนาที ช่วยเเร้งหิมาลัยพลัดหลงกลางกรุง หลังเจอฝุ่นเเละสภาพอากาศเปลี่ยน (คลิป)
วันนี้ 23 ม.ค. นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน สัตวแพทย์กรมอุทยานแห่งชาติ และสัตวแพทย์ ฝ่ายจัดการสุขภาพสัตว์ป่าได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า Lotter:”ลุกแล้ว ลุก Skywalker”ลุ้นกันตัวโก่ง กับการดูแลนกแร้งหิมาลัยอพยพที่บาดเจ็บและพลัดหลงอย่างใกล้ชิดของกลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่าและกลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ข้อมูลการช่วยเหลือแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย วันอาทิตย์ที่20 มกราคม 2562 ได้รับแจ้งทางสายด่วน 1362 ว่าพบนกแร้งพลัดหลง ร่างกายอ่อนแรง อยู่ที่สถานีวิทยุโทรทัศน์ ช่อง 3 หนองแขม เขตบางแค กรุงเทพฯ ต่อมาเวลา 15:20 น. นายวรพจน์ แสงเทียน เจ้าหน้าที่กู้ภัยบางขุนนนท์ ประเมินว่า แร้งมีอาการคอตก บินไม่ได้ อ่อนแรง โคนจงอยปากมีสีเขียวคล้ำ ตาพล่ามัว หายใจแผ่วเบา จึงได้รีบเร่งนำนกแร้งมามอบที่ฝ่ายสุขภาพสัตว์ป่า กลุ่มงานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เพื่อช่วยเหลือชีวิต
ปัจจัยร่วมสำคัญที่ทำให้แร้งพลัดหลงนั้น ประกอบไปด้วย
1.ปัจจัยเรื่องอายุ แร้งตัวนี้อายุประมาณ 5-7 ปี กำลังเข้าสู่ระยะโตเต็มวัย (กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า) เรื่องประสบการณ์ในการบินอพยพ อาจมีไม่มาก พลัดหลง
2. ปัจจัยเรื่องอาหาร จากการตรวจสุขภาพทางห้องปฏิบัติการ พบว่า เกิดภาวะโลหิตจาง ค่าตับสูงและโปรตีนในเลือดต่ำ คาดว่าเกิดจากการอดอาหารเป็นเวลานานและมีการใช้กำลังของกล้ามเนื้อมากเกินไป ซึ่งสอดคล้องกับเส้นทางการบินอพยพของแร้ง ที่ผ่านมานั้นไม่มีแหล่งอาหาร เช่น ซากสัตว์ เป็นต้น
3. ปัจจัยด้าน สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง อาจส่งผลต่อเส้นทางการบินอพยพและสุขภาพ เช่นระบบทางเดินหายใจ ตัวที่โตเต็มวัยหรือมีประสบการณ์ในการบินอพยพก็จะบินหลีกเลี่ยงพื้นที่มลพิษ
ประวัติการรักษานกแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย
1. ได้รับนกเมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 ม.ค 62 ประชาชนนำมามอบให้ที่กลุ่มงานสุขภาพสัตว์ป่า โดย สันนิษฐานว่าน่าจะบินพลัดหลงมาเจอสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสมทำให้ระบบทางเดินหายใจมีปัญหา อาการโคม่า เจ้าหน้าที่เวรได้ให้น้ำเกลือเข้าใต้ผิวหนังและทำการกกไฟเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายและให้อยู่ในพื้นที่อากาศถ่ายเท
2. วันจันทร์ที่ 21 ม.ค 62 สัตวแพทย์ประจำคลินิกสัตว์ป่า ได้ให้น้ำเกลือเข้าเส้นและฉีดยาบำรุงให้แก่สัตว์ และได้ทำการเจาะเลือดส่งตรวจ ณ ห้องปฏิบัติการ และวัดระดับของออกซิเจนในกระแสเลือดโดยใช้เครื่อง pluse oximeter พบว่านกแร้งสามารถยืนและเริ่มกินเนื้อหมูเองได้
3. วันอังคารที่ 22 ม.ค 62 ช่วงเช้าได้ให้สารน้ำ วิตามิน ทางเส้นเลือด และกินซี่โครงไก่ นกแร้งสามารถจิก ฉีก เนื้อกินได้เองตามปกติ ปริมาณอ๊อกชิเจนในเลือดอยู่ในระดับปกติ
การดำเนินการในวันนี้
ชั่งน้ำหนัก วัดขนาดตัว ตรวจสุขภาพ เก็บตัวอย่างเพื่อตรวจโรค ให้สารน้ำ อ๊อกซิเจน หยดยากำจัดพยาธิภายนอก และอาบแดด รวมถึงการปรับเปลี่ยนอาหารจากซี่โครงไก่ เป็นเนื้อวัวสดคลุกกับวิตามินต่างๆ ถึงแม้ว่าแร้งจะลุกขึ้นยืนได้ กินอาหารได้เองแล้ว ทางกลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า ยังต้องดูแลอย่างไกลชิดและประสานงานการดูแลร่วมกันกับศูนย์ฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (กำแพงแสน) ร่วมกันติดตามและให้กำลังใจ เจ้า ลุก Skywalker แร้งหิมาลัยตัวนี้และเจ้าหน้าที่ ฝุ่นPM2.5นั้น เป็นปัจจัยร่วมนะครับ#SurvivalTogether.
ขอขอบคุณ ภัทรพล ล็อต มณีอ่อน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช