- 04 ก.พ. 2562
"ปวีณา" ร่วมทีมแพทย์ แถลงผลตรวจร่างกาย ชายถูกแม่ขังในบ้าน พบป่วยนานเป็น 10 ปี ซ้ำยังพูดไม่ได้
จากกรณีที่มีพลเมืองดี แจ้งข้อมูลไปยัง นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี พร้อมผู้กำกับ สน.โชคชัย เข้าช่วยเหลือชายวัย 40 ปี หลังรับว่าถูกขังในอาคาร ย่านโชคชัย 4 มานานหลายปี เพื่อขอให้เจ้าหน้าที่เร่งส่งตัวรักษา
อ่านข่าว : แม่ชราปิดบ้านขังตัวเองเงียบหลายปี เฝ้าดูแลลูกชายโดนรถชน ชาวบ้านผิดสังเกตแจ้ง "ปวีณา" ช่วยด่วน
ล่าสุดนางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาฯ ได้ประสานไปยังน.ส.ดรุณี มนัสวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือสังคม (OSCC) กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เพื่อร่วมประชุมหารือร่วมกัน นพ.สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร รพ.ยันฮี พ.ต.อ.สุพล ค้ำชู ผกก.สน.โชคชัย เพื่อรับฟังผลการตรวจร่างกาย นาย.ก (นามสมมุติ) เพื่อบูรณาการให้การช่วยเหลือครอบครัวนี้ให้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขต่อไป
โดยทราบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สอบปากคำเบื้องต้น ารดา นาย.ก (นามสมมุติ) แต่ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาแต่อย่างใด โดย พ.ต.อ.สุพล ค้ำชู ผกก.สน.โชคชัย ได้ประสานนายวุฒิพงษ์ มนัส ผอ.เขตลาดพร้าว เพื่อขอให้เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปทำความสะอาดร่วมกับ มารดา นาย.ก (นามสมมุติ) ให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน
สืบเนื่องจากเมื่อวันเสาร์ที่ 2 ก.พ. 2562 ที่ผ่านมา ได้มีพลเมืองดีแจ้งขอความช่วยเหลือมายังมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี แจ้งว่าพบคนถูกขังอยู่ภายในตึกแถว 3 ชั้น ซึ่งเป็นอาคารเก่า ภายในซอยโชคชัย 4 ถนนลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นผู้ชายเพราะเห็นแขนที่ยื่นออกมาทางช่องประตูเหล็กยืดที่ถูกใส่กุญแจจากด้านนอก ทั้งนี้พลเมืองดีไม่ได้อยู่ในละแวกนั้นแต่เพียงแต่ผ่านไปพบเมื่อ 2 วันก่อน แล้วรู้สึกสงสาร เพราะจากการสอบถามคนที่อยู่แถวนั้นก็บอกว่าไม่ทราบข้อมูลอะไรมาก เพียงแต่เห็นคนที่ถูกขังมานานแล้วประมาณ ร่วม 30 ปี พูดจาไม่เป็นภาษาคล้ายกับคนเป็นใบ้
บางวันก็จะเห็นหญิงสูงวัยซึ่งคาดว่าเป็นแม่หรือญาตินำอาหารมาให้ผ่านทางประตู บางวันก็ไขกุญแจเข้าไปด้านในและกลับออกมาก็ใส่กุญแจประตูจากด้านนอกเหมือนเดิม ขอให้มูลนิธิปวีณาฯ ช่วยเหลือคนที่ถูกขังด้วยเพราะดูจากสภาพน่าจะมีอาการป่วย หากปล่อยไว้เกรงจะเป็นอันตราย
อย่างไรก็ตามทางแพทย์โรงพยาบาลยันฮี ได้ชี้แจงถึงผลการตรวจร่างกายของชายที่ถูกขังในบ้านนั้น ว่าเบื้องต้น ไม่พบร่องรอยการถูกทำร้าย หรือมีบาดแผลฟกช้ำ แต่ไม่สามารถพูดคุยหรือส่งเสียงได้ มีหัวเราะเอง ยิ้มได้ตามปกติ ขยับแขนขาได้ แต่ไม่สามารถจะพยุงตัวเองให้ลุกขึ้นได้ ผลการตรวจเลือดเป็นปกติ และยังสามารถทานอาหารอ่อนๆ ได้เอง แนวทางการรักษาของแพทย์หลังจากนี้ ยังต้องดูแลต่อเนื่อง ทำการกายภาพบำบัด เนื่องจากมีประวัติเคยรักษาอาการป่วยมาก่อน โดยแม่ของชายคนดังกล่าวก็ยืนยันว่าลูกชายตนเองนั้นป่วย