- 03 มี.ค. 2562
คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่องค์สุดท้าย ความงาม อาถรรพ์ และ สิ่งลี้ลับ
เรื่องเล่าในอดีตกาลประวัติความเป็นมา ตำนาน ของคุ้มเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ (หรือพระยาพิริยวิไชย) เจ้าผู้ครองนครเมืองแพร่องค์สุดท้าย ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยในขณะนั้นเมืองแพร่ถือเป็นหัวเมืองประเทศราชของสยาม ดังนั้น นอกจากเมืองแพร่จะมีเจ้าเมืองปกครองตัวเองแล้ว ก็จะมีเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ จากเมืองหลวง ถูกส่งขึ้นมาดูแลราชการควบคู่ไปด้วยในฐานะเมืองประเทศราชนั้นเองเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ มีพระนามเดิมว่า เจ้าน้อยเทพวงศ์ ประสูติวันที่ 17ก.พ.2379 เป็นราชโอรสในพระยาพิมพิสารราชา และแม่เจ้าธิดาเทวี ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระยาอุปราชเมื่อปี พ.ศ. 2421 เมื่อราชบิดาประชวร ท่านก็ได้ว่าราชการแทน จนได้รับสถาปนาเป็นเจ้าเมืองแพร่ และเลื่อนเป็นเจ้านครเมืองแพร่ในปี พ.ศ. 2443 มีราชทินนามว่า เจ้าพิริยเทพวงษ์ เจ้าหลวงมีพระชายาทั้งหมด 8 องค์
หลังได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าเมืองแพร่ เมือปี 2432 ท่านก็ให้สร้างคุ้มเจ้าหลวงขึ้นในปี พ.ศ. 2435 เพื่อเป็นที่ประทับ สถานที่ราชการ รับแขก ไปจนถึงใช้เป็นเรือนส่วนตัว ในปี พ.ศ. 2445 ได้เกิดกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ โดยพวก ไทใหญ่หรือ เงี้ยว ที่ได้เข้ามาอยู่อาศัยในเมืองแพร่ และทำมาหากินในการขุดพลอย ที่ตำบลบ่อแก้ว อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ในปัจจุบัน ได้ทำการก่อจลาจลในเมืองแพร่เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2445 เหตุการณ์ครั้งนี้ เจ้าเมืองนครแพร่ถูกกล่าวหาว่าสมคบกับพวกเงี้ยว ก่อการกบฎขึ้น เมื่อความทราบถึงในหลวงรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีนำทัพหลวงเข้าปราบปรามพวกเงี้ยวจนราบคาบ และโปรดเกล้า ให้เจ้าหลวงเมืองแพร่ ถอดออกเจ้าจากยศ จากตำแหน่ง ริบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งหมดคืน เจ้าหลวงท่านจึงหลบไปใช้ชีวิตบั้นปลายที่เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว และได้พำนักอยู่ที่นั่นไม่ได้กลับมาอีกเลยจนกระทั่งพิราลัยในปี พ.ศ. 2455
(กบฎเงี้ยว)
คุ้มเจ้าหลวงแห่งนี้เป็นอาคารโอ่โถง มีประตู หน้าต่างทั้งหมด 72 บาน งดงามด้วยลวดลายฉลุไม้อยู่ด้านบนปั้นลม และชายคาน้ำ เป็นสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 5 ยุคต้น มีรูปทรงเป็นแบบสถาปัตยกรรมไทยผสมยุโรป หรือที่เรียกกันว่า ทรงขนมปังขิง ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยนั้น ส่วนหลังคามุงด้วยไม้ เรียกว่า "ไม้แป้นเกล็ด" ไม่มีหน้าจั่ว เป็นแบบหลังคาเรือนปั้นหยา มีมุขสี่เหลี่ยมยื่นออกมาด้านหน้าของตัวอาคาร หลังคามุขมีรูปทรงสามเหลี่ยม ทั้งปั้นลมและชายคาน้ำ รอบตัวอาคารนั้นประดับด้วยไม้แกะฉลุสลักลวดลายอย่างสวยงาม เป็นฝีมือช่างชาวจีน ที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น มุขด้านหน้าตัวอาคารแต่เดิมนั้นมีบันไดขึ้นลงทั้ง 2 ด้าน คือด้านทิศเหนือและด้านทิศใต้ คงเหลือบันไดขึ้นลงเฉพาะด้านหน้าและด้านหลังเท่านั้น ตัวอาคารสร้างด้วยอิฐถือปูน มี 2 ชั้น ไม่มีการฝังเสาเข็ม แต่ใช้ไม้ซุงท่อน ส่วนใหญ่เป็นไม้แก่น ไม้แดง และไม้เนื้อแข็ง รองรับฐานเสาทั้งหลัง.. ภายในบ้านตกแต่งด้วยสิ่งของเครื่องใช้เก่าแก่และภาพถ่ายที่หายากของเมืองแพร่
แม้ว่าคุ้มเจ้าหลวงจะมีความงดงามทรงคุณค่าทางด้านสถาปัตยกรรม แต่ว่า ณ ที่แห่งนี้ มี "คุก" อยู่ในคุ้มด้วย เป็นคุกใต้ดินอยู่บริเวณ ภายใต้ตัวอาคารซึ่งสูงจากพื้นดินประมาณ 2-3 เมตร มีห้องที่ถูกสร้างขึ้น สำหรับไว้คุมขัง ข้าทาส บริวาร นักโทษ เหล่ากบฏ ที่กระทำความผิด จำนวน 3 ห้อง ด้วยกันห้องกลางเป็นห้องมืดทึบแสงสว่างสาดส่องเข้าไปไม่ได้เลย ห้องนี้จะใช้เป็นที่คุมขังผู้ที่กระทำความผิดขั้นร้ายแรง นักโทษจะได้รับบทลงโทษใส่โซ่ตรวนที่แสนทรมานส่วนอีก 2 ห้อง ทางปีกซ้ายและปีกขวา มีช่องแสงให้แสงสว่างพอลอดเข้าไปได้บ้าง ใช้เป็นที่คุมขังผู้มีความผิด ชั้น ลหุโทษ ซึ่งห้องทั้ง3ห้อง ถูกใช้งานคุมขังมาเป็นเวลายาวนาน และนักโทษจะได้รับบทลงโทษที่แสนทรมาน
จนกระทั่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ประกาศเลิกทาส “คุกทาส “จึงกลายมาเป็นที่คุมขังนักโทษทั่ว ๆ ไปของเจ้าเมืองข้าหลวงในสมัยต่อมา จนกระทั่งไดมีการสร้างเรือนจำ เมืองแพร่ขึ้นมาใหม่ คุกแห่งนี้ จึงว่างลง หลงเหลือไว้เพียงตำนาน ที่เล่าสืบต่อกันมาว่าคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่นั้น มีอาถรรพ์ลึกลับมีความเฮี้ยนของวิญญาณเหล่าทาส นักโทษที่อาฆาตพยาบาทวนเวียนอยู่ ในกาลต่อมาคุ้มเจ้าหลวงกลายเป็นจวนหรือบ้านพักของผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ราวปี พ.ศ.2528 สมัยนั้น นายธวัช รอดพร้อม เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ มีบทความของ สำเริง มณีวงศ์ ได้เขียนไว้ใน สยามอารยะ ถึงเรื่องราวปริศนาและอาถรรพณ์ลี้ลับ ภายในคุ้มเจ้าหลวงแห่งนี้ ว่าหลังจากที่นายธวัช รอดพร้อม ได้เข้ามาพักอาศัยจวนหลังนี้ได้เพียงชั่วคืนเท่านั้น ก็เกิดเหตุการณ์ประหลาด เมื่อญาติของผู้ว่าคนหนึ่งกำลังเดินลงบันไดจากชั้นบนลงมาชั้นล่างเพื่อทำธุระส่วนตัว ก็เกิดหกล้มกลิ้งตกบันไดลงมา ทุกคนต่างสะดุ้งตกใจสอบถามเรื่องราวได้ความว่า ขณะที่กำลังเดินลงบันไดอยู่นั้น รู้สึกว่าเหมือนมีมือยื่นออกมาจับขาไว้อย่างแรง จนสะดุดหกล้ม นอกจากนั้นยังมีเหตุการณ์แปลกๆ เกิดขึ้นภายในจวนผู้ว่าฯ อีกหลายประการ จนผู้ว่าราชการ ธวัช รอดพร้อม ได้อัญเชิญพระพุทธรูปวิโมกข์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์จากหลวงปู่โง่น โสรโย จากจังหวัดพิจิตร นำมาประดิษฐานบนแท่น ใต้ต้นโพธิยักษ์เก่าแก่อายุกว่า 200 ปีข้างๆ อาคารคุ้มเจ้าหลวงและจัดทำพิธีทำบุญล้างจวน นับแต่นั้นมาเรื่องราวปริศนาแห่งอาถพรรณ์วิญญาณภายใน คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ก็กลายเป็นเรื่องราวที่เล่าขานสืบต่อมากันมา ทั้งจากประสบการณ์ตรงของผู้ดูแลคุ้ม ผู้ที่เคยพักอาศัย ว่า เคยพบเห็นเรื่องลี้ลับ ว่าพบเงาตามผนังต่างๆ และมีคนเดินตาม นอกจากนี้ยังพบกับ รอยเท้าปริศนาที่เดินตามบ้าน เจ้าหน้าที่บางคนเคย ได้ยินเสียงคนร้องไห้ เมื่อไปตรวจสอบก็ไม่พบเห็นใคร สักพักได้ยินเสียงร้องไห้เสียงดัง ทำให้ขนลุกไปตามๆกัน
ความเชื่อ เป็นเรื่องส่วนบุคคล สถานที่สำคัญต่างๆ ที่มีมาแต่โบร่ำโบราณ มักมีเรื่องเล่าตำนานประวัติศาสตร์ความเป็นมา และทุกที่ มีเจ้าบ้าน เจ้าเรือน เจ้าที่เจ้าทางไม่เชื่อ อย่าลบหลู่ ปัจจุบันคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ เปิดให้เป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนทั่วไป เข้าชมความงดงามของอาคาร และเพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาโดยไม่เสียค่าเข้าชมเปิดตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30น.
(ขอบคุณข้อมูล: วิกิพีเดีย,สำนักวัฒนธรรมจังหวัดแพร่ .www.museumthailand.com)
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : 13 สถานที่อาถรรพ์ เมืองผีเฮี้ยน ดุ ที่สุดในโลก โศกนาฏกรรมที่ไม่มีใครลืม!
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ข้อห้าม "การสร้างบ้าน" ดึงดูดสิ่งอาถรรพ์ และความโชคร้าย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : "ตุ๊กตาอาถรรพ์" เรื่องเล่าสุดหลอนซ่อนปริศนา หลังตุ๊กตาหายไป9วันจู่ๆกลับมาได้เองพร้อมเรื่องประหลาด!