- 08 มี.ค. 2562
กพฐ.ยกเลิกหลักสูตร "Englishprogra" หลังพบเด็กเรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษ อ่านข้อสอบภาษาไทยไม่เข้าใจ (รายละเอียด)
วันนี้ (08/03/2562) รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธุ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยผลการประชุม กพฐ. วันที่ 8 มี.ค. ว่า ที่ประชุมมีมติให้ปรับการจัดการเรียนการสอนในโครงการพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาค หรือ Education Hub ใหม่เป็น 3 หลักหลักสูตร คือ 1.หลักสูตรภาษาอังกฤษนานาชาติ International Program (IP) โดยใช้หลักสูตรที่มาจากต่างประเทศ จัดการเรียนการสอนโดยครูเจ้าของภาษาหรือครูที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด 2.หลักสูตรภาษาอังกฤษแบบเข้มข้น Intensive English Program (IEP) โดยเน้นเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ ต้องจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษมากกว่า 5 คาบต่อสัปดาห์ เพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะการฟัง การพูด การอ่าน การเขียน และการใช้ภาษาอังกฤษต้องอยู่ในระดับ B2 สามารถสื่อสารเรียนรู้ และทำงานในสภาพแวดล้อมหรือประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักได้ สามารถเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มได้ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ 3.หลักสูตรภาษาอังกฤษเพื่อทุกคน General English Program (GEP) เด็กต้องได้เรียนภาษาอังกฤษครบทุกทักษะ ตั้งแต่ยังเล็ก ๆ เน้นการสอนให้สื่อสารได้ ครูใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารได้จริง
โดยนำครูจากโครงการ English Boot Camp ที่มีความสามารถในการสอนภาษาอังกฤษ และกระจายอยู่ทั่วประเทศมาสอน โรงเรียนไม่จำเป็นต้องเก็บเงินเด็กเพิ่ม อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ใช้หลักสูตร IP อยู่จำนวน 19 สถานศึกษา ใช้หลักสูตร English Program (EP) ที่ใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานแต่สอนเป็นภาษาอังกฤษทุกวิชา ยกเว้นภาษาไทย และใช้หลักสูตร Mini English Program (MEP) ที่สอนเป็นภาษาอังกฤษบางวิชา รวม 400 สถานศึกษา
“เมื่อเด็กเรียนวิชาต่าง ๆ เช่น เคมี ชีวะ ฟิสิกส์ และภูมิศาสตร์ เป็นภาษาอังกฤษ แต่ถึงเวลาไปสอบเพื่อเข้าเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งข้อสอบเป็นภาษาไทย ทำให้เด็กและไม่เข้าใจ ดังนั้น จึงปรับ EP และ MEP ให้เป็น IEP ทั้งหมด โดยเข้มทางด้านภาษาอังกฤษ ส่วนวิชาอื่น ๆ เรียนเป็นภาษาไทย โดย สพฐ.จะแจ้งให้สถานศึกษาในสังกัดที่เปิดสอน EP และ MEP ทบทวนตัวเองว่าจะปรับมาสอนในระดับ IEP หรือ GEP” ประธาน กพฐ กล่าว
นอกจากนี้ จะเปิดเว็บไซต์ในการจัดหาครูต่างชาติ เพื่อให้ครูต่างชาติสามารถสมัครและส่งคุณสมบัติของตนเองมาไว้ที่เว็บไซต์นี้ เพื่อให้สถานศึกษาที่ต้องการครูต่างชาติ เข้ามาชอปปิงครูได้ ซึ่งจะเป็นการตัดนายหน้าหาครูเข้ามาสอน ออกไปและเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายของโรงเรียน รวมทั้งให้ สพฐ.จัดทำสัญญาจ้างงานเป็นภาษาอังกฤษเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่สถานศึกษา ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการการศึกษาพื้นฐานสู่สากล ได้จัดทำคู่มือ English HANDBOOK DRAFT สพฐ.จะแจ้งให้สถานศึกษาในสังกัดทราบ และปรับปรุงหลักสูตรให้ทันในปีการศึกษา 2562
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง