- 13 มี.ค. 2562
กรมอุตุฯ ออกเตือน ฉ.2 มาแน่ๆ พายุฤดูร้อน-ฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง
ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 14-18 มีนาคม 2562)" ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 13 มีนาคม 2562 ในช่วงวันที่ 14-18 มีนาคม 2562 ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมถึงมีฟ้าผ่า โดยจะเริ่มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกก่อน ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้รับผลกระทบในวันถัดไป
จึงขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่จะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง รวมถึงระวังอันตรายจากฟ้าผ่า สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย สำหรับผลกระทบตามภาคต่างๆ มีดังนี้
-ภาคเหนือ จังหวัดกำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์
-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดหนองบัวลำภู อุดรธานี ขอนแก่น เลย ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
-ภาคกลาง จังหวัดอุทัยธานี นครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
-ภาคตะวันออก จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา
ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ในขณะที่บริเวณประเทศไทยมีอากาศร้อน ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด ประกาศ ณ วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2562 เวลา 05.00 น. กรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศฉบับต่อไปใน วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2562 เวลา 11.00 น.
พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดบางพื้นที่ โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศร้อนในตอนกลางวันไว้ด้วย อนึ่ง ในช่วงวันที่ 14-18 มีนาคม 2562 บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และทะเลจีนใต้ ในขณะที่
ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ทำให้ประเทศไทยตอนบน มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่
โดยเริ่มจาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกก่อน ส่วนภาคอื่นๆ จะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวเตรียมการระมัดระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อน และควรอยู่ห่างจากต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรระมัดระวัง และป้องกันความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย
ความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศไทยตอนบน ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนโดยทั่วไป กับมีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่.
ขอบคุณ : กรมอุตุนิยมวิทยา