- 27 มี.ค. 2562
ศาลนัดฟังคำพิพากษา คดีที่นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ร่วมกับตำรวจกองปราบปราม และผู้เสียหายรวม 6 คน ทุจริตต่อหน้าที่ในการเบิกเงิน 11 ล้านมาแบ่งกัน
จากกรณีเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2559 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้มีคำพิพากษาในคดี นางสาวรัฏฏิการ์ ชลวิริยะบุญ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.อ.พงษ์ไสว แช่มลำเจียก พ.ต.ท.ชัยพร นิตยภัตร์ พ.ต.อ.ณษ เศวตเลข นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ นายณัฐพสิษฐ์ ชาญจรูญจิต นางสาววิภาณี ต๊ะมามูล นางสาวธนสร แก้วเทพ เป็นจำเลยที่ 1-7 ตามลำดับ และมีการถอนเงิน 11 ล้าน จากบัญชีธนาคารที่ถูก ปปง. อายัดไว้จ่ายให้ผู้เสียหายคดีฉ้อโกงประชาชน นำมาแบ่งกันเองจนผู้เสียหายตัวจริงได้รับเงินไม่ครบ
ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2560 มีรายงานว่า ศาลได้มีการนัดสอบปากคำให้การจำเลย โดยก่อนหน้านี้นายอัจฉริยะนั้น เป็นคนที่ออกมาระบุว่านางจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร อดีตข้าราชการครู ติดคุกฟรี ไม่ได้เป็นแพะในคดีขับรถชน แต่เป็นแกะที่สร้างเรื่องขึ้นมา ซึ่งถ้าหากครูจอมทรัพย์เป็นแพะจริง พร้อมให้ฟ้องทั้งอาญาและแพ่ง และยุติการทำหน้าที่ในชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม
ล่าสุดวันนี้ (27 มี.ค) ศาลนัดฟังคำพิพากษา คดีที่นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ร่วมกับตำรวจกองปราบปราม และผู้เสียหายรวม 6 คน ทุจริตต่อหน้าที่ในการเบิกเงิน 11 ล้านมาแบ่งกัน ที่ศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบกลาง ซ.สีคาม (ซ.วิทยาลัยเทคโนโลยีวิมล) แยกศรีย่าน ถ.นครไชยศรี โดยมีผลตัดสินว่ายกฟ้องในคดีดังกล่าว
ขณะที่ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ ประธานเครือข่ายทนายคลายทุกข์ โพสต์เฟซบุ๊ก ผ่านทนายคลายทุกข์ ระบุว่า "ศาลอาญาทุจริตพิพากษายกฟ้องอัจฉริยะ เมื่อสักครู่นี้ ทองแท้ไม่ต้องกลัวการถูกพิสูจน์ ดีใจด้วย #ทนายคลายทุกข์"
โดยนายอัจฉริยะ ได้กล่าวภายหลังฟังคำพิพากษา ว่า ขอขอบคุณศาลที่ให้ความเป็นธรรมกับตนและพวก ที่ผ่านมาก็ยืนยันโดยตลอดว่าพวกเรามีความบริสุทธิ์ไม่มีพฤติการณ์การกระทำความผิดทุจริตการเบิกเงินดังกล่าว การเบิกเงินเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ส่วนจะมีการฟ้องกลับคู่กรณีหรือไม่ต้องพิจารณาอีกที แต่จะดำเนินการฟ้องกลับพยานเท็จ1รายของฝ่ายโจทก์ เนื่องจากพบว่ามีการทำข้อมูลหลักฐานปลอมนำมาใช้ต่อสู้คดี
สำหรับคดีนี้โจทก์คือ น.ส.รัฏฏิการ์ เจ้าของกิจการร้านรับซื้อขายแลกเปลี่ยนและซ่อมแซมอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ ย่านมาบุญครอง ชื่อร้าน EST2001, ร้าน INSTALL และมีร้านของสามีชื่อร้าน 55 โฟน ส่วนจำเลยที่ 1-3 เป็นพนักงานสอบสวนสังกัดกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม จำเลยที่ 4 เป็นประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม จำเลยที่ 5-7 เป็นผู้สั่งซื้อโทรศัพท์มือถือเพื่อนำไปขายต่อ
คำฟ้องระบุว่า เมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม 2556 ถึงมกราคม 2557 น.ส.บุศรินทร์ ยื่อโหนด และนายมนัส โชติขัน มาซื้อโทรศัพท์ที่ร้านของโจทก์ และร้านอื่นๆ ในย่านมาบุญครอง ในราคาท้องตลาดจำนวน 2,000 กว่าเครื่อง นำไปหลอกลวงผู้อื่นว่าจะขายในราคาต่ำกว่าทุน แต่เมื่อหลอกลวงได้จำนวนมากแล้ว (โดยได้หลอกลวงจำเลยที่ 5-7 ด้วย) ได้หลบหนีไป ต่อมา น.ส.บุศรินทร์ และนายมนัส ถูกจับ และถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกคนละ 20 ปี
พนักงานสอบสวนตรวจสอบบัญชีของ น.ส.บุศรินทร์ และนายมนัส พบการโอนเงินเข้าบัญชีของโจทก์และผู้อื่นอีก 20 กว่าราย แต่เลือกบัญชีของโจทก์เพียงบัญชีเดียว ว่าเป็นบัญชีที่รับโอนเงินที่ได้จากการฉ้อโกงประขาชน และแจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ให้อายัดเงินในบัญชีธนาคารกสิกรไทย สาขามาบุญครอง ชื่อบัญชีโจทก์ เลขที่บัญชี 7022883555 เลขที่บัญชี 7022484499 และบัญชีของโจทก์อีก 3 บัญชี ซึ่งโจทก์ได้โต้แย้งคัดค้านแล้ว
ต่อมา ปปง.มีหนังสือถึงโจทก์ ลงวันที่ 24 เม.ย. 2558 แจ้งมติคณะกรรมการธุรกรรม ปปง. เห็นชอบให้เลขาธิการ ปปง.ส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนกองปราบปราม ดำเนินการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย และให้ดำเนินการกับทรัพย์สิน ตาม พ.ร.บ.ปปง. 2542 มาตรา 49 วรรคหก และ ป.วิฯ อาญา มาตรา 85 หลังจากนั้น พนักงานสอบสวนได้ส่งมอบพยานหลักฐานเกี่ยวกับทรัพย์สินให้จำเลยที่ 5-7 ไปแจ้งความดำเนินคดีโจทก์ข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน จึงถือว่าจำเลยทั้ง 7 ได้ร่วมกันกระทำความผิด แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย กลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับโทษ กล่าวหาว่า โจทก์ร่วมกับนางสาวบุศรินทร์ และ นายมนัส ฉ้อโกงประชาชน โดย น.ส.บุศรินทร์ และนายมนัส โอนเงินที่ได้จากการฉ้อโกงประชาชนให้โจทก์ ซึ่งเป็นความเท็จ เพราะความจริงโจทก์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการซื้อขายโทรศัพท์ระหว่างจำเลยที่ 5-7 กับ น.ส.บุศรินทร์ และนายมนัส ส่วนเงินที่โอนมาเป็นเงินค่าโทรศัพท์ ไม่ใช่เงินที่ได้จากการฉ้อโกงประชาชน
ต่อมาระหว่างเดือนกันยายน 2558 ถึงวันที่ 8 ตุลาคม 2558 จำเลยที่ 5 มีหนังสือถึงผู้บังคับการปราบปราม เร่งรัดให้ดำเนินการตามคำสั่งของคณะกรรมการธุรกรรม ปปง. โดยออกคำสั่งให้ธนาคารกสิกรไทย สาขามาบุญครอง อายัดบัญชีเลขที่ 7022883555 จำนวนเงิน 11,534,800.70 บาท และบัญชีเลขที่ 7022484499 จำนวนเงิน 94,550.79 บาท ผู้บังคับการปราบปรามจึงส่งให้จำเลยที่ 1-3 พิจารณาและออกคำสั่งไปยังธนาคารกสิกรไทย
ต่อมาวันที่ 8 ตุลาคม 2558 จำเลยที่ 1-3 นัดจำเลยที่ 4 และ 5 มารับเงินทั้งสองจำนวนที่ธนาคารกสิกรไทย สาขามาบุญครอง และจำเลยที่ 1-3 ให้ธนาคารถอนเงินในบัญชีของโจทก์ จำนวนเงิน 11,534,800.70 บาท และจำนวนเงิน 94,550.79 บาท ส่งมอบให้จำเลยที่ 5 ในเวลา 18.18 น. การกระทำของจำเลยที่ 1-3 เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ และเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ทั้งยังเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับโทษหนักขึ้น ส่วนจำเลยที่ 4-7 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1-3 เพื่อเอาเงินของโจทก์ไปโดยมิชอบ จึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด
ศาลพิเคราะห์แล้ว มีคำวินิจฉัยคำฟ้องของโจทก์ว่า จำเลยที่ 5-7 เป็นผู้เสียหายจากการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนของ น.ส.บุศรินทร์ และ นายมนัส และจากการตรวจสอบเส้นทางการเงิน พบว่า มีการโอนเข้าบัญชีของโจทก์ด้วย จำเลยที่ 5-7 ย่อมเข้าใจว่าโจทก์ร่วมกระทำความผิดด้วย เมื่อจำเลยที่ 5-7 เข้าแจ้งความร้องทุกข์ตามที่ได้รับทราบและเข้าใจ จึงเป็นการใช้สิทธิของผู้เสียหายอันพึงกระทำได้ตามกฎหมาย ข้อกล่าวหาว่าจำเลยที่ 5-7 แจ้งข้อความอันเป็นเท็จเพื่อกลั่นแกล่งให้โจทก์ได้รับความเสียหายจึงไม่มีมูล
ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1-3 เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่นั้น จำเลยที่ 1-3 เป็นพนักงานสอบสวนและเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย การดำเนินการถอนเงินในบัญชีของโจทก์เพื่อจ่ายคืนแก่จำเลยที่ 5 ในฐานะผู้เสียหาย เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ โดยได้หารือไปยัง ปปง. และแจ้งไปยังกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกสิกรไทย เพื่อแจ้งถอนการอายัดตามขั้นตอนแล้ว และการถอนเงินจากธนาคารกสิกรไทย สาขามาบุญครอง ในเวลา 18.00 น. ซึ่งธนาคารยังเปิดดำเนินการอยู่ สามารถกระทำได้ เพราะการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1-3 ไม่ได้ถูกจำกัดเฉพาะเวลาราชการ
อย่างไรก็ตาม กรณีเกี่ยวกับจำนวนเงินที่ คณะกรรมการ ปปง.มีมติให้คุ้มครองสิทธินั้น ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ปปง. ให้คุ้มครองสิทธิจากเงินในบัญชีธนาคารของโจทก์ทั้งสองบัญชีรวมกันเพียง 4,698,404.03 บาท ตามเอกสาร จ.10 แต่ตามเอกสาร จ.1 แผ่นที่ 10 ระบุจำนวนเงินคุ้มครองสิทธิจากเงินในบัญชีของโจทก์ทั้งสองบัญชีรวมกัน 11,629,351 บาท ทั้งนี้ เกิดจากการผิดหลงเกี่ยวกับการแจ้งจำนวนเงินคุ้มครองสิทธิของ ปปง. และปรากฏด้วยว่าจำเลยที่ 1 ทราบเรื่องผิดหลงแล้วแต่ไม่ทักท้วง และร่วมกับจำเลยที่ 2 ดำเนินการเบิกถอนเงินเต็มจำนวนที่ผิดหลง ทั้งนำเงินที่ถอนออกมาส่งมอบให้ผู้เสียหายแต่ละคนไม่ครบเต็มจำนวนที่เบิกถอน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-ทนายตั้มพารปภ.ให้การเพิ่มตร. อัจฉริยะบุกโรงงาน โดนแจ้งข้อหาแล้วเจอหนัก
-"ทนายเดชา" แย้มเอง "หนุ่ม กรรชัย" สู้ถึงที่สุดคดี โดน "อัจฉริยะ" ฟ้องหมิ่น
-คกก.สอบคำร้อง "อัจฉริยะ - พ.ต.ท." ร่วมทำพยานหลักฐานเท็จ - ปลอมเอกสารราชการ มีมติเอกฉันท์ผิดจริง
-"อัจฉริยะ" ฟ้อง "หนุ่ม-กรรชัย" แค่สัมฯ "ทนายตั้ม" คู่แค้น (คลิป)