- 09 พ.ค. 2562
ในสมัยโบราณมีความเชื่อว่าต้นพิกุลเป็นต้นไม้ชนิดหนึ่งที่อยู่ในสวนของพระอินทร์ ด้วยเหตุนี้คนไทยจึงนิยมนำดอกพิกุลมาใช้ประโยชน์ในงานพิธีมงคลต่างๆ ในการประกอบพระราชพิธีสำคัญๆ
ในสมัยโบราณมีความเชื่อว่าต้นพิกุลเป็นต้นไม้ชนิดหนึ่งที่อยู่ในสวนของพระอินทร์ ด้วยเหตุนี้คนไทยจึงนิยมนำดอกพิกุลมาใช้ประโยชน์ในงานพิธีมงคลต่างๆ ในการประกอบพระราชพิธีสำคัญๆ ในราชสำนักไทย เจ้านายชั้นสูง ผู้ซึ่งเป็นองค์ประธานในพิธีจะทรงโปรยดอกพิกุลที่ทำจากเงินและทองคำที่เรียกว่า “ดอกพิกุลเงิน ดอกพิกุลทอง” แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานอย่างชัดเจนว่ามีที่มาตั้งแต่สมัยใด แต่ในสมัยรัตนโกสินทร์ การโปรยดอกพิกุลเงิน ดอกพิกุลทองในงานพระราชพิธีสำคัญนั้น ได้ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบต่อกันมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงคติความเชื่อเชิงสัญลักษณ์เกี่ยวกับดอกไม้มงคลที่มีต่อราชสำนักไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ
*ที่มาและความหมาย*
ต้นพิกุล ชาวต่างประเทศเรียกว่า “Bullet wood” เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางสูง ๑๐ – ๒๕ เมตร ผิวเปลือกสีน้ำตาลเข้ม ใบมีลักษณะมัน สีเขียว ออกดอกเป็นกระจุกตามง่ามใบหรือยอด เป็นพันธุ์ไม้ที่มักพบตามป่าดิบชื้นทั่วไปในแถบประเทศที่มีอากาศร้อน ดอกพิกุลมีขนาดเล็กออกเป็นช่อ มีสีขาว เมื่อบานจะเห็นริมดอกเป็นจักๆ มีกลิ่นหอมเย็นทั้งเมื่อยังสดและแห้ง ชนิยมใช้บูชาพระ หรือทำเป็นยาแผนโบราณ แม้ร่วงหล่นกลายเป็นสีน้ำตาล แต่ก็ยังมีกลิ่นหอม สามารถนำมาร้อยเป็นพวงมาลัยได้
คำว่า “พิกุล” มาจากภาษาอินเดีย แต่ในภาษาบาลีและสันสกฤต ออกเสียง “พิกุล” ว่า “พกุล” จากหนังสือมหาชาติคำหลวง กัณฑ์มหาพน ที่แต่งขึ้นในสมัยอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.๒๐๒๕) ได้กล่าวถึงตอนอจุตฤาษี พรรณนาถึงต้นไม้ในป่าให้ชูชกฟังว่า “ปงกุรา พกุล เสลา ไม้พกุลศุรกรมก็มี” แสดงให้เห็นว่าในสมัยอยุธยายังคงเรียก “พกุล” กันอยู่ แต่ต่อมาภายหลังได้กลายเป็น “พิกุล” ซึ่งเป็นการแปลงคำแบบไทย โดยพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) ได้อธิบายไว้ว่า “พกุลคำในบาลี ไทยใช้พาที เติมอิเป็นพิกุลไป”
**คติความเชื่อเกี่ยวกับดอกพิกุล**
คนไทยในสมัยก่อนมีความเชื่อว่า หากปลูกต้นพิกุลไว้ในบริเวณบ้าน จะทำให้คนที่อาศัยอยู่มีอายุยืน เนื่องจากต้นพิกุลเป็นไม้ที่แข็งแรงทนทาน และมีอายุยาวนาน ดังนั้นจึงมักนำมาใช้ประโยชน์ในงานพิธีมงคล อาทิ เสาบ้าน พวงมาลัยเรือด้ามหอก ประกอบกับความเชื่อว่า ต้นพิกุล เป็นต้นไม้ที่มีความขลังและศักดิ์สิทธิ์ เป็นไม้ที่มีเทพสิงสถิตอยู่ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อยู่อาศัยนอกจากนี้มีความเชื่อว่า ต้นพิกุล เป็นต้นไม้ชนิดหนึ่งในสวนของพระอินทร์ ดอกพิกุลจึงเปรียบเสมือนดอกไม้จากสวรรค์ การประกอบพระราชพิธีต่างๆ ของราชสำนักไทย จึงนิยมจำลองดอกพิกุลเสมือนจริงที่สร้างจากเงินและทองคำ สำหรับให้องค์ประธานทรงโปรยในระหว่างการประกอบพระราชพิธี เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีโสกันต์ พระราชพิธีลงสรง เป็นต้น ด้วยความเชื่อที่ว่าเจ้านายผู้เป็นองค์ประธานนั้นอยู่ในสภาวะสมมติเทพที่ได้อุบัติลงมาจากสวรรค์ การโปรยดอกพิกุลจึงเสมือนกับการที่องค์สมมติเทพทรงโปรยดอกไม้จากสวรรค์ลงมาให้มนุษย์ได้ชื่นชมนั่นเอง อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความมีพระทัยโอบอ้อมอารีที่มีต่อเหล่าพสกนิกรที่มาเข้าร่วมในพระราชพิธี และเมื่อพิจารณาจากลักษณะของดอกพิกุลที่มีกลีบจำนวนมาก ซึ่งมีลักษณะคล้ายดอกเบญจมาศของจีน เป็นข้อสังเกตว่าอาจมีการผสมผสานความคิดอันเป็นมงคลเกี่ยวกับการเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ด้วยก็เป็นได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เปิดใจ สายสวรรค์ ขยันยิ่ง หนึ่งในผู้บรรยายงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
- กุ้ง สุธิราช นำทัพศิลปินดารา ร่วมรับเสด็จงานพระราชพิธีบรมราชภิเษก ร.10
- เปิดเบื้องหลังทหารดุริยางค์ ปฏิบัติภารกิจสำคัญในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
- กนก โพสต์คลิปน้ำใจไทยไม่เคยแห้ง ประชาชนพัดคลายร้อนให้ทหาร ระหว่างพระราชพิธีบรมราชาภิเษก(คลิป)
ขอบคุณ สัตตมาลี เครื่องหอมตำรับในวัง