- 26 พ.ค. 2562
หลังจากที่ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ได้ถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบ ด้วยวัย 98 ปี ที่โรงพยาบาลพระมงกุฏ เมื่อช่วงเช้าของวันนี้ หลังจากมีอาการป่วยระบบหัวใจล้มเหลวและเจ้าหน้าที่ได้นำส่งโรงพยาบาล
หลังจากที่ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ได้ถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบ ด้วยวัย 98 ปี ที่โรงพยาบาลพระมงกุฏ เมื่อช่วงเช้าของวันนี้ หลังจากมีอาการป่วยระบบหัวใจล้มเหลวและเจ้าหน้าที่ได้นำส่งโรงพยาบาล
ในเฟซบุ๊ก "Wassana Nanuam" ของ "วาสนา นาน่วม" ผู้สื่อข่าวสายทหาร ได้โพสต์ข้อความ..รำลึก..... "พลเอกเปรม" ประธานองคมนตรี 2 แผ่นดิน ... กับรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และการพูดถึง การจากลา พลเอกเปรม จากลา ไปอย่างสงบ เมื่อรุ่งสางของวันนี้ แม้พาส่ง รพ. ก็ไม่อาจ ยื้อ ป๋าท่าน กลับมาได้ ป๋า ท่าน 98 จะ 99 แล้ว ท่านเหนื่อยมาเยอะแล้ว ขอให้ป๋าไปสู่ สรวงสวรรค์ Rest in Peace ค่ะป๋า"
หากย้อนกลับไปเมื่อ 2 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมาได้มีประกาศแต่งตั้งประธานองคมนตรี โดยระบุว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ประธานองคมนตรี ได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งประธานองคมนตรีและทรงพระราชดำริเห็นเป็นการสมควรแต่งตั้งประธานองคมนตรี อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557
ประกอบกับมาตรา 12 มาตรา 13 และมาตรา16 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นประธานองคมนตรี ตั้งแต่ วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2559 เป็นปีที่ 1 ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้รับสนองพระราชโองการ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
หลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พลเอกเปรม เป็นองคมนตรี ในวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2531 จากนั้นในวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2531 ได้รับโปรดเกล้าฯ ยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษ และในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2541 มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานองคมนตรี โดยพลเอกเปรม ถือว่าการได้รับโปรดเกล้าฯให้เป็นประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษนั้น เป็นเกียรติยศสูงสุดของชีวิต
จะเห็นได้ว่า ในอารัมภบท ของหนังสือ รัฐบุรุษชื่อเปรม บรรยาย ความรู้สึกที่มีต่อพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ไว้ว่า "ตลอดระยะเวลาที่ได้มีโอกาสปฎิบัติหน้างานใกล้ชิดกับท่าน ทั้งด้านการทหาร และการบริหารราชการแผ่นดิน ทำให้ตระหนักดีถึงคุณลักษณะของตัวท่านว่าเป็นผู้ที่มีความเสียสละอันยิ่งใหญ่ อุทิศชีวิตเพื่อส่วนรวม และประเทศชาติอย่างแท้จริง มีความซื่อสัตย์สุจริตยึดมั่นในชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความจงรักภักดีและเทิดทูนพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ อย่างสูงยิ่ง"
เมื่อครั้งที่พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ตอบคำถามแก่ผู้สื่อข่าวมากมายหลายเรื่องแต่มีอยู่ตอนหนึ่งท่านได้พูดถึงความรู้สึกของท่านต่อสถาบันหลักของชาติว่า "เราต้องยอมรับว่าราชวงศ์จักรีรักษาบ้านเมืองมาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน ท่านได้เสียสละทุกอย่าง เหน็ดเหนื่อย เพื่อจะทำให้เกิดความคิดของพระองค์ท่านคิดแต่เรื่องของคนอื่น เรื่องของพระองค์เองผมไม่คิดว่าจะคิด เท่าที่ผมเฝ้าสังเกตดูพระองค์ท่านนึกแต่เรื่องของคนอื่นตลอดเวลา"
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 เวลา 18.49 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี นำคณะองคมนตรีซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง จำนวน 10 คน ประกอบด้วย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์, นายเกษม วัฒนชัย, นายพลากร สุวรรณรัฐ, นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ, นายศุภชัย ภู่งาม, นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ, พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข, พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ, พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ,พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่
การนี้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นำกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณว่า "ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้ และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ"
โอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชดำรัสกับคณะองคมนตรีที่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณว่า "ขอบใจ และแสดงความยินดี ขอบใจที่มีน้ำใจช่วยงาน ที่ว่าคณะองคมนตรีในยุคนี้ ปัจจุบันนี้ก็จะได้รับการมอบภารกิจ ตลอดจนได้รับโอกาส หรือหน้าที่ ที่จะให้คำแนะนำ ตลอดจนช่วยกันดำรงความมั่นคงสถาบันของประเทศชาติ ตลอดจนแบ่งงานกันให้ละเอียดอีกครั้งว่าใคร ทำอะไร เรื่องทำงานก็จะให้ขอคำแนะนำ ตลอดจนปรับความสำคัญในการทำงานของประเทศให้สอดคล้องกับนโยบายเกี่ยวกับสถาบันและประเทศชาติ เป็นเรื่องของแผ่นดิน มีเรื่องต่างๆ ที่จะมอบให้ก็มาก ดังที่ได้คุยกันนอกรอบแล้ว ขอขอบคุณ และได้ป๋ามาเป็นประธาน ก็อุ่นใจแล้ว ทุกคนก็เคยทำหน้าที่ถวายรัชกาลก่อน หลายคนก็เชื่อมือกัน มีความสุข ตั้งใจทำงานได้ ขอบคุณ"
ขอบคุณข้อมูล-ภาพ : มูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์