- 18 มิ.ย. 2562
อย่าชะล่าใจ กรณีลูกติดเกมส์หนัก แพทย์ชี้ ส่อก้าวร้าวและมีอาการป่วย
วันนี้ 18 มิ.ย. 62 สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 มิ.ย.62 ผู้สื่อข่าวได้รายงานว่า จากกรณีที่มีการแชร์กันในโลกออนไลน์ว่า สุดทนพฤติกรรมของลูกชายที่ใส่ยาฆ่าแมลงในโอ่งน้ำ หวังฆ่าพ่อแม่ให้ตายทั้งบ้าน เพียงแค่ผู้เป็นพ่อถอดปลั๊กสัญญาณ WiFi ไม่ให้เล่นเกมกลางดึกเท่านั้น เพราะเสียงดังรบกวนเวลาพักผ่อนของพ่อแม่ที่ทำงานเหนื่อยมาทั้งวัน เพื่อเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าวจึงได้เดินทางไปที่บ้านเลขที่ 124 บ้านโนนเจริญ ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เมื่อไปถึงได้พบกับ นางสุบัญ ดวงจันทร์ อายุ 51 ปี เจ้าของบ้านซึ่งเป็นผู้โพสต์เรื่องราวที่เกิดขึ้น และพบนายจักรี คำเรือง อายุ 52 ปี ซึ่งเป็นพ่อเลี้ยงของคนที่ก่อเหตุ โดยนางสุบัญได้นำผู้สื่อข่าวไปตรวจสอบบริเวณโอ่งน้ำข้างบ้าน จำนวน 2 โอ่ง โดยทั้ง 2 โอ่ง มีเศษของยาฟูราดานซึ่งเป็นยาฆ่าแมลงลอยอยู่ในน้ำและมีเศษยาฆ่าแมลงตกอยู่ที่พื้น ซึ่งโอ่งน้ำ จำนวน 1 โอ่ง ถูกคว่ำเทน้ำออก แต่ก็ยังมีเศษยาฆ่าแมลงอยู่ที่ขอบโอ่งน้ำ
จากเหตุการณืดังกล่าวทางผู้สื่อข่าวได้สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการติดเกมส์ โดยได้ข้อมูลจาก กรมสุขภาพจิต ว่า "นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้ให้รายละเอียดว่า ปัญหาพฤติกรรมเสพติดเกม เป็นปัญหาจิตเวชเด็กและวัยรุ่นที่พบบ่อย ในอายุระหว่าง 6 - 18 ปี มีความสัมพันธ์กับชนิดของเกมประเภทต่อสู้ออนไลน์แบบมีผู้ลงแข่งเป็นทีมเป็นหลัก และเกิดโรคร่วมทางจิตเวช เช่น โรคสมาธิสั้น วิตกกังวล ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน โรคติดสารเสพติด โรคจิต และโรคลมชัก โดยเฉลี่ยเด็กและวัยรุ่นจะใช้เวลาเล่นเกมนาน 5 ชม.ต่อวันและเล่นเกมแข่งขันต่อสู้ออนไลน์ 1 - 4 เกมสลับกันไป ซึ่งเกินระดับความปลอดภัยในการเล่นเกม 9 ชั่วโมง /ต่อสัปดาห์ เด็กมักแสดงอาการหงุดหงิด ก้าวร้าวเมื่อให้เลิกเล่น และมักไม่ทำหน้าที่ตามความรับผิดชอบของตนเองซึ่งเกิดผลกระทบต่าง ๆ ตามมา ได้แก่ ปัญหาการเรียน สอบตก ไม่ยอมไปโรงเรียน ซ้ำชั้น เรียนไม่จบ จากการเล่นนานเกิน 4 ชั่วโมงต่อวันขึ้นไป พฤติกรรมเสี่ยงเรื่องเพศ ผ่านการแชทในห้องเกม ปัญหาการเติมเงิน การซื้อขายและการพนัน พฤติกรรมก้าวร้าวทางวาจา เช่น การด่าทอด้วยภาษาหยาบคาย พฤติกรรมก้าวร้าวทางกาย เช่น การทุบตีคนอื่น อาละวาดทำลายของ คุกคามคนใกล้ชิด เป็นต้น"
ทั้งนี้ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้ โรคติดเกม เป็นหนึ่งโรคทางจิตเวช เป็นโรคที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาสมอง พัฒนาการ และพฤติกรรมของเด็ก
และยังเสนอแนะวิธีการการป้องกันการติดเกม ไว้ว่า "ครอบครัวมีส่วนสำคัญในการวางกรอบกติการ่วมกัน กำหนดเวลา ลักษณะเกม และร่วมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว อีกทั้งผู้ปกครองต้องเป็นแบบอย่างที่ดีของผู้มีวินัยแนวทาง ไม่ปล่อยให้เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ เล่นไอแพด ไอโฟน แทนการเลี้ยงดูและการได้รับการกระตุ้นพัฒนาการจากพ่อแม่"
ขอบคุณ: กรมสุขภาพจิต /ชยงค์ มณีพันธุ์เจริญ ผู้สื่อข่าวภูมิภาค สำนักข่าวทีนิวส์ จ.ศรีสะเกษ