- 26 ก.ค. 2562
สิ้น หลวงปู่แสน ปสนฺโน เกจิดัง6แผ่นดิน อายุ 112 ปี
วันที่ 26 กรกฎาคม 2562 มีรายงานข่าวเศร้าเมื่อนายเสาร์ คุ้มครอง ลูกชายและเป็นลูกศิษย์เอกของหลวงปู่แสน ปสันโน พระเกจิอาจารย์ชื่อดังของ จ.ศรีสะเกษ เปิดเผยว่าหลวงปู่แสนพระอริยสงฆ์ 6 แผ่นดิน ได้ละสังขารอย่างสงบ เมื่อเวลา 22.24 น.ของคืนวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 ที่กุฏิภายในวัดบ้านหนองจิก หมู่ 2 ต.ภูฝ้าย อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ
นายเสาร์กล่าวว่าสำหรับกำหนดการพิธีการทำบุญสรีระสังขารของหลวงปู่แสน ขณะนี้ได้แจ้งให้สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดศรีสะเกษเพื่อขอพระราชทานน้ำหลวงสรงน้ำสรีระสังขารของหลวงปู่เป็นการเบื้องต้นไว้ก่อนแล้ว ทว่ายังไม่ได้กำหนดว่าจะจัดพิธีสรงน้ำวันใด
เมื่อได้รับพระราชทานน้ำหลวงมาแล้วจึงจะกำหนดวันเวลารวมทั้งกำหนดการประกอบพิธีต่าง ๆ ด้วย ซึ่งจะต้องรอนำไปกราบหารือกับพระราชกิตติรังษี เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อเตรียมจัดพิธีทางศาสนาต่อไป
นายเสาร์ เล่าอีกว่า ก่อนหน้านี้ หลวงปู่แสนมีอาการป่วยด้วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากระยะที่ 2 และป่วยด้วยโรคหัวใจ กระเพาะลำไส้ ปอดติดเชื้อ ตนพร้อมด้วยญาติพี่น้องและคณะศิษย์ได้นำหลวงปู่ไปเข้ารับการรักษาพยาบาลที่ ร.พ.กันทรลักษ์ และ ร.พ.ศรีสะเกษมาอย่างต่อเนื่องหลายเดือนแล้ว ล่าสุดได้เข้าพักรักษาตัวอยู่ที่ตึกสงฆ์อาพาธ ร.พ.ศรีสะเกษ
หลังจากนำตัวหลวงปู่กลับมาถึงกุฏิวัดบ้านหนองจิกเมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. หลวงปู่ยังไม่ละสังขาร แต่ว่าได้รอลูกศิษย์ ลูกหลาน ญาติพี่น้อง ที่กำลังเดินทางมาหาหลวงปู่ ซึ่งเมื่อทุกคนมาพร้อมกันแล้ว หลวงปู่ได้ละสังขารอย่างสงบเมื่อเวลา 22.24 น. ซึ่งลูกศิษย์และลูกหลานญาติพี่น้องต่างพากันร่ำไห้ด้วยความอาลัยหลวงปู่
สำหรับประวัติของหลวงปู่แสน ชื่อเดิมคือ นายแสน คุ้มครอง เกิดขึ้น 10 ค่ำเดือน 10 ปีมะแม ตรงกับ วันศุกร์ ที่ 11 กันยายน 2451 วัตถุมงคลของหลวงปู่แสนนั้นขึ้นชื่อในเรื่อง แคล้วคลาดปลอดภัย และ เมตตามหานิยม
เมื่อครั้งยังเด็กหลวงปู่เป็นลูกศิษย์อยู่ที่วัดบ้านโพรงและพี่ชายซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านโพงในสมัยนั้นเลี้ยงดู จนได้บวชเณรให้หลวงปู่แสนที่วัดบ้านโพรง ระหว่างบวชเณรได้ไปศึกษาเรียนหนังสือกับหลวงพ่อมุมวัดปราสาทเยอใต้ จนจบ ป.4 และได้เรียนตำราพระเวชจากหลวงพ่อมุมทั้งภาษาขอม ภาษาธรรมบาลี
จนกระทั่งอายุ 21 ปีได้เข้าบรรพชาอุปสมบท ที่วัดบ้านโพง ได้นิมนต์ หลวงพ่อมุม อินทปญโญ วัดปราสาทเยอ อ.ไพรบึง จ.ศรีสะเกษ เป็นพระกรรมมาวาจาจารย์ ส่วนพระอุปปัชชาเป็นหลวงพ่อมา วัดประสาทเยอเหนือ ณ เวลานั้น และระหว่างเป็นพระก็ยังคงเรียนรู้วิชากับพระอาจารย์มุม อย่างต่อเนื่อง หลวงพ่อได้รับการถ่ายทอดจากพระอาจารย์จนมีความเชี่ยวชาญทางด้านวิปัสสนากรรมฐานฝึกจิตให้กล้าแข็งมีสมาธิอันแน่วแน่ เพื่อเป็นพลังสื่อนำมาประกอบการใช้คาถาอาคม หลวงพ่อได้เอาใจใส่ฝึกฝนกับพระอาจารย์เจนจัดเชี่ยวชาญ
ต่อมาตอนอายุ 24 ปี ได้ลาสิขาบทออกมาเพื่อมาช่วยงานทางบ้านที่มีฐานะยากจน แต่ หลังจากสึกเป็นคาราวาสแล้ว ท่านได้บวชเป็นหมอธรรม (บวชกับคุณพ่อธัมญา บ้านหนองหญ้าปล้อง )เป็นระยะเวลาหลายปีเพื่อรักษาคน ปฏิบัติธรรม ช่วยเหลือคนเจ็บไข้ได้ป่วย ขณะที่เป็นคาราวาส ระหว่างว่างเว้นจากการทำเกษตรกรรม หลวงปู่ได้ชักชวนเพื่อนๆหมอธรรมเดินทางไปเขมรเพื่อเรียนเพิ่มเติมที่จังหวัดพระตะบอง เสียมราฐ และเมืองศรีโสภณ สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคารมเป็นนายก ได้เข้าพบพระผู้ใหญ่และอาจารย์จากทางเขมรแล้วได้ร่ำเรียนมาไม่น้อย หลวงปู่ท่านกลับเลือกเรียนวิชาที่เกี่ยวกับช่วยเหลือผู้คน รักษาคน
ต่อมาพอหมดภาระทางบ้านหลวงปู่ได้กลับเข้าใต้ร่มกาสาวพัสตร์อีกครั้ง ตอนอายุ 90 ปี บวชที่วัดกุสดเสล่าซึ่งมีเจ้าคณะตำบลเป็นพระอุปปัชชา และท่านบวชเป็นพระที่อยู่อย่างสมาถะ ไม่มักมาก ไม่ยึดติด เป็นพระนักสร้าง ชาวบ้านกุดเสล่าจึงรักและศรัทธาท่านมาก เนื่องจากหลวงปู่ท่านเป็นพระที่มีเมตตาแม้อายุจะย่างเข้า 93 ปีท่านก็ได้ไปจำพรรษาที่วัดบ้านโพงโดยรักษาการตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดในช่วงนั้น วัดนั้นก็จะเต็มไปด้วยลูกวัด ในขณะที่จำพรรษาอยู่วัดบ้านโพงก็ได้ทำนุบำรุงวัดเชกเช่นวัดอื่น จนอายุ 97 ปี ลูกหลานเป็นห่วงสุขภาพหลวงปู่จึงได้พาชาวบ้านไปนิมนต์หลวงปู่จากวัดบ้านโพงกลับมาจำพรรษาที่วัดหนองจิกจนถึงทุกวันนี้ และท่านก็กลับมาพัฒนาวัดบ้านหนองจิก ดั่งเช่นทุกวัด
ขอบคุณ วิทย์เมืองตาก.com