ผู้ป่วยหายจากโควิด เล่าย้อนไทม์ไลน์ละเอียดยิบ ตั้งแต่ติดเชื้อสู่ขั้นตอนการรักษา

ผู้ป่วยหายจากโควิด เล่าย้อนไทม์ไลน์ละเอียดยิบ ตั้งแต่ติดเชื้อสู่ขั้นตอนการรักษา

เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่จะทำให้ทุกคนได้เรียนรู้เป็นอย่างดี หลังจากคุณ ธเรศ คีรี เจ้าของร้านหนังสือดวงกมลได้ออกมาเล่าประบการณ์ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว เพื่อให้ทุกคนได้เห็นภาพ และได้เรียนรู้ หลังจากตนเองต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เพราะติดเชื้อโควิด-19 โดยมีเนื้อหาทั้งหมดระบุว่า...

มีเพื่อน ๆ หลายคนอยากให้ผมเล่าเรื่องเป็นภาษาไทย ดังนั้นขอเรียบเรียงประสบการณ์ดังนี้ครับ ถึงเพื่อนที่รัก ทุกคน,

ผมได้โพสต์ข้อความครั้งสุดท้ายเมื่อเดินทางกลับจากอังกฤษวันที่ 16 มีนาคม ที่ผ่านมา และไม่ได้โพสต์อะไรเพิ่มเติมจนถึงวันนี้ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ผมขอรอเพื่อแจ้งให้เพื่อนๆ ทราบเมื่อทุกอย่างผ่านพ้นไปด้วยดี (ถึงแม้จะเป็นความโชคร้าย แต่จริง ๆ มันคือความประทับใจที่ไม่มีวันลืมครับ)

ผมได้กลับจากอังกฤษถึง กทม. เมื่อเย็นวันอังคารที่ 17 มีนาคมและได้กักตัวเองที่ห้องเป็นเวลา 14 วัน ซึ่งในครั้งแรกรู้สึกอึดอัด ที่ไม่สามารถอยู่ใกล้ชิดกับครอบครัว และรู้สึกสับสนว่าเราต้องระวังตัวมากขนาดนี้ด้วย อย่างไรก็ตามผมเริ่มรู้สึกเจ็บคอและมีไข้เล็กน้อยเมื่อถึงวันศุกร์เช้า ซึ่งเข้าใจว่าเป็นเพราะอากาศเปลี่ยนและผมไม่ได้เป็นหวัดมาเกือบปีแล้ว แต่ภรรยาและพี่สาวยืนยันว่าผมควรไปตรวจคัดกรอง #COVID#-19

ดังนั้น ผมจึงติดต่อไปที่โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่ง ซึ่งไม่สามารถตรวจได้ทันที จนสามารถติดต่อที่ รพ. บำรุงราษฏร์ได้ และเตรียมจะไปตรวจในเช้าวันอาทิตย์ แต่ด้วยความเป็นห่วงใยของ พิณ ภรรยาสุดที่รัก ได้พยายามประสานงานและสามารถติดต่อให้ไปตรวจที่โรงพยาบาลรามาธิบดีแทน โดยได้ขับรถไปส่งและ นั่งรออยู่ เราไปถึงที่ รามาฯ ประมาณ 9.00 ซึ่งมีการตรวจคัดกรองไข้ทุกคน ซึ่งผมไม่มีไข้ด้วยซ้ำเมื่อผ่านเข้ารพ.


ผมต้องไปอยู่ในมุมพิเศษสำหรับคนที่มาตรวจหาเชื้อ ซึ่งมีคนรอประมาณ 100 กว่าคน เจ้าหน้าที่ได้ซักถามผมถึง 2 รอบเนื่องจากต้องการเช็คคนที่มีโอกาสเสี่ยง เพราะน้ำยาสำหรับตรวจมีจำนวนจำกัด และถ้าผู้มาตรวจเฉยๆ จะมีค่าใช้จ่ายถึงคนละ 5,000 บาท แต่เมื่อทราบว่าผมเพิ่งกลับจากอังกฤษ ก็ได้รับการยกเว้น อย่างไรก็ตามผมนั่งรอเกือบ 3 ชั่วโมงกว่าจะได้รับการตรวจ โดยหมอให้ผมโทรศัพท์เข้าไปเพื่อแจ้งอาการ เนื่องจากหมอจะไม่เข้ามาแตะต้องตัวเรา นอกจากเจ้าหน้าที่ซึ่งทำการตรวจที่ใส่ชุดป้องกันทั้งตัว ได้เอาหลอดเล็ก ๆ มาแหย่ที่จมูกและลำคอเพื่อเอาสารคัดหลั่งไปตรวจ ซึ่งรู้สึกเจ็บเล็กน้อย จากนั้นพยาบาลให้นั่งรออีกเกือบชั่วโมงเพื่อรอรับยา โดยพยาบาลบอกว่าจะโทรแจ้งให้ทราบผลอีกครั้งในวันจันทร์ จากนั้นผมก็ได้รับยาลดไข้ และยาแก้หวัด Chlorpheniramine พร้อมยาน้ำแก้ไอ มาโดยไม่ได้เสียเงินแม้แต่บาทเดียว พิณได้นั่งรออยู่ตลอดเวลา 5 ชั่วโมง จากนั้นก็ขับรถพาผมกลับบ้าน โดยพวกเราได้ใส่หน้ากากตลอดเวลา

เมื่อกลับถึงบ้านผมรู้สึกมีไข้และเริ่มทานยาที่หมอให้มา และมีอาการดีขึ้นจึงมีความรู้สึกว่าเราคงเป็นหวัดธรรมดาแต่แล้วเมื่อถึงวันจันทร์ตอนเที่ยง ผมก็ได้รับโทรศัพท์แจ้งว่า “ผมติดเชื้อ #โควิด#-19 และทางโรงพยาบาลจะจัดรถพยาบาลมารับที่บ้านในวันอังคาร” ผมตะลึงกับข่าวและพยายามคิดว่าเป็นฝันร้ายหรือไม่ และทันทีอาการไข้และไอก็เหมือนสลายหายไปคล้ายว่าจะค้านกับข่าวที่ได้รับ แต่ผมก็ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องจริงจากนั้นผมเริ่มลำดับ timeline ผมตั้งแต่การเดินทางไปอังกฤษ และส่งอีเมลกับข้อความถึงทุกคนที่ผมพบใน London, Oxford และที่ Cambridge ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่าทุกคนมีอาการปกติยกเว้น คนที่สำนักพิมพ์ Cambridge ที่มีไข้เล็กน้อย เพราะทุกคนที่ผมได้พบนั้น ผมไม่ได้มีการสัมผัสแต่ละคนหรือจับมือแต่อย่างใด แต่สิ่งที่ไม่น่าเชื่อคือ คุณหมอ James ชาวมาเลเซียที่ผมได้พบเขาโดยบังเอิญเมื่อเช้าวันอาทิตย์ที่ 15 ตอนที่ไปวิ่งออกกำลังกายตอนเช้าริมแม่น้ำ Thames ใน Oxford เพราะผมได้พบเขาและครอบครัวอีกครั้งที่ร้านอาหาร ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลก และด้วยความเผลอผมได้จับมือทักทายกับเขาเป็นคนเดียวเท่านั้น ซึ่งเขาได้แจ้งกลับมาว่าเขามีอาการไข้สูงในวันศุกร์วันเดียวกับที่ผมเริ่มมีอาการไข้เช่นเดียวกัน แต่ไม่สามารถไปโรงพยาบาลได้และต้องรักษาตัวอยู่ที่บ้าน

คืนนั้น ผมนอนไม่หลับและก่อนนอนได้โทรแจ้งเพื่อนหลายคน รวมถึงคุณพ่อมิเกล ที่วัดบ้านเซเวียร์ ที่เป็นบาทหลวงที่เหมือนคุณพ่อวิญญาณของผมที่ให้แนวทางในการไตร่ตรองชีวิตตามแบบนักบุญอิกญาซิโอ เพราะผมรู้สึกหดหู่ใจ แต่ก็ได้ภาวนาขอพรให้ผู้ป่วยคนอื่น ๆ และทุกคนที่กำลังเพื่อต่อสู้กับไวรัสนี้ให้มีความปลอดภัยและแข็งแรง

วันที่อังคาร 24 มีนาคม 2020 เวลา 8.00 รถพยาบาลโทรมานัดหมายว่าจะมารับเป็นคนแรกประมาณ 9.00 ก็เลยรีบกินข้าว แต่ตอนหลังแจ้งมาว่าไปรับคนที่ลาดพร้าวก่อน ดังนั้นจึงนั่งรอจนถึง 9.52 รถพยาบาลพร้อมเจ้าหน้าที่ 2 คน ก็โทรมาและให้สัญญาณเตรียมตัวขึ้นรถ เพราะเขาไม่ให้ผมแตะอะไรที่ตัวรถเลย ได้ฤกษ์ขึ้นรถเวลา 10.00 พอดี โดยรถพยาบาลมีเก้าอี 4 ตัว โชคดีที่ได้นั่ง เก้าอี้หันหลังให้คนขับซึ่งเป็น 2 ตัวติดกัน รถไม่มีแอร์ นอกจากมีหน้าต่างบานเล็ก ๆ แค่ 2 บาน ร้อนมาก เก้าอี้ทุกตัวถูกบุไว้ด้วยพลาสติก (ซึ่งทราบภายหลังว่าหลังจากส่งคนไข้เสร็จแล้ว เขาจะเอารถไปบุพลาสติกใหม่และฆ่าเชื้อก่อนที่จะไปรับคนป่วยรอบต่อไป) รถพยาบาลวิ่งตะลอนไปรับคนป่วยคนที่ 3 ซึ่งอยู่ใกล้ๆ ซอยสมาหาร (สุขุมวิทซอย 4 นานาใต้) และถึงรู้ว่าคนป่วยคนแรก และคนที่ 3 ทำงานที่เดียวกันคือที่ Hilary Bar ในซอยนานา และจัดเลี้ยงวันเกิดพนักงาน เมื่อวันที่ 17 มีนาคมและติดโควิดที่เดียวกันเกือบ 20 คน

 

 

ผู้ป่วยหายจากโควิด เล่าย้อนไทม์ไลน์ละเอียดยิบ ตั้งแต่ติดเชื้อสู่ขั้นตอนการรักษา

 

 

จากนั้นรถพยาบาลก็มุ่งหน้าไปขึ้นทางด่วน โดยไม่ได้เปิดไซเรนแต่อย่างใด รถก็ติดพอสมควร ถือว่าเป็นการใช้โทษบาปในเตาอบได้เลยครับ

 

 

ผู้ป่วยหายจากโควิด เล่าย้อนไทม์ไลน์ละเอียดยิบ ตั้งแต่ติดเชื้อสู่ขั้นตอนการรักษา

 

 

11.08 น. รถได้เลี้ยวเข้าเขตโรงพยาบาล#รามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์# ซึ่งถนนที่จะเข้ายังไปมาลำบากมาก โรงพยาบาลนี้สร้างบนบ่อปลา 3 บ่อใหญ่ และ ยังไม่ได้เปิดใช้หอผู้ป่วยอย่างทางการ ผมและภรรยาได้สนับสนุนบริจาคเพื่อร่วมสร้างโครงการนี้ทุกปี และแทบไม่เชื่อว่าผมจะได้มารักษาตัวที่นี่

11.15 รถมาจอดอยู่หน้าหอผู้ป่วยพรีเมียม และคนไข้ทั้ง 3 คน ยังต้องนั่งรออยู่เจ้าหน้าที่ประสานงาน กับพยาบาลบนตึก ในระหว่างรอ บุรุษพยาบาลที่ใส่ชุดคลุมทั้งตัว รวมทั้ง มีหน้ากากพลาสติกปิดด้านหน้า ก็มาวัดไข้,ออกซิเจน แต่ละคน และรายงานโดยวิทยุสื่อสาร ให้พยาบาลทราบ เพราะเขาไม่ต้องการให้เข้าใกล้พยาบาลหรือหมอเลย ผมวัดได้ Oxygen 97 และหัวใจเต้น 72 ยังปกติดี

11.25 บุรุษพยาบาลได้พาเดินเข้าไปในตึก โดยมีลิฟท์เฉพาะคนป่วย และพวกเราต้องเดินตามเส้นสีแดงห้ามเดินออกจากเส้น ผมได้ไปนอนห้องรวมกับหนุ่ม(อายุ 31 ปี) ที่มาด้วยกัน แต่ด้วยพระอวยพร ผมได้นอนเตียงคนป่วย ขณะที่อีกคนนอนเตียงโซฟา พยาบาลได้แนะนำว่าไม่ให้ออกจากห้อง และห้ามจับลูกบิดประตูทางเข้าโดยเด็ดขาดด้วย ภายในห้องมีจอพร้อมระบบวีดีโอคอล เพราะคุณหมอจะคุยกับคนไข้ผ่านทางนี้เท่านั้น นอกจากนี้คนไข้จะต้องวัดความดัน, ชีพจร, ระดับออกซิเจน และอุณหภูมิ (แบบหนีบรักแร้) เอง และให้จดเพื่อรายงานให้พยาบาลทราบ โดยพยาบาลจะโทรมาถามเป็นระยะ ภายในห้องมีเสื้อผ้าและผ้าเช็ดตัว, หน้ากากให้คนละ 5 ชุด พร้อมน้ำดื่ม 6 ลิตร (6 ขวด) ซึ่งสามารถขอเพิ่มได้ตลอดเวลา และใช้ห้องน้ำร่วมกัน แต่มีอ่างล้างหน้าอยู่ข้างนอกคนละมุมห้อง ถือว่าเป็นห้องพักที่ใหม่มาก ซึ่งพยาบาลบอกว่าเป็นห้องพักแบบ premium ที่ถูกนำมาใช้เป็นการเฉพาะกิจสำหรับ COVID-19 และเปิดอยู่ 3 ชั้น (4-6) เราอยู่ชั้น 5 ห้องหมายเลข 7

12.00 เจ้าหน้าที่ได้เข็นเครื่อง X-Ray เพื่อมา X-Ray ปอดที่เตียงคนไข้เลย จากนั้นพยาบาลก็มาเจาะเลือด (การเจาะเลือดและ X-Ray มีทุก 2 วัน) ทางแขนด้านขวา (และภายหลังผมให้เจาะแขนซ้ายเพราะเห็นเส้นเลือดใหญ่ชัดเจนกว่า) ในเวลาเดียวกัน คุณหมอ ได้ Video Call เข้ามา ถามเรื่องประวัติการเดินทางและรายละเอียดต่าง ๆ ซึ่งหมอบอกผมว่า อาจต้องอยู่ถึง 8 วัน และจะมีการให้ยาต้านไวรัส เป็นระยะ โดยหมอบอกว่า อาการที่จะรุนแรงของผมน่าจะเป็นวันพฤหัส หรือวันศุกร์นี้ เพราะครบ 1 อาทิตย์ที่เริ่มมีไข้

13.00 เจ้าหน้าที่ได้ส่งอาหารเที่ยงมื้อแรก โดยใส่เป็นภาชนะกล่องแบบย่อยสยาย แยกเป็นคนละถุง ผมเสนอให้คนไข้อีกคนกินก่อน จะได้ไม่ติดกัน เพราะอีกคนยังใส่หน้ากากอยู่

14.00 รู้สึกง่วงนิดหน่อยก็เลยนอนไปประมาณ 20 นาที และถูกปลุก เพราะพยาบาลโทรมาให้ใส่ หน้ากาก (พยาบาลที่นี่จะเคร่งครัดเรื่องกลัวติดเชื้อมาก) เพราะจะมีพยาบาลจะเข้าไป ดูเพื่อนร่วมห้องซึ่งต้องให้ออกซิเจนถังอยู่ตลอด น่าสงสารเขามากเพราะอาการน่าจะหนักกว่าผมมาก

15.00 ตื่นขึ้นมานั่งทำงานต่อ ภายในห้องไม่มีอะไรให้ดูหรือฟังเลย ดังนั้น คนไข้จะรู้ข่าวสารผ่านมือถือของตัวเองเท่านั้น นอกจากนี้ ทางโรงพยาบาลยังไม่อนุญาตให้นำมีดทุกชนิดเข้ามาด้วย คงเกรงว่าคนไข้อาจเกิดอาการเครียด

17.00 หยุดทำงานนั่งดูมือถือ และขณะเดียวกันก็ฟังเสียงโทรศัพท์ที่โทรเข้ามาเป็นระยะเพื่อช่วยรายงานอาการของคนไข้อีกคน ซึ่งอาการไม่ดีขึ้นเลย เพราะเขาแค่ขยับตัวก็เหนื่อยแล้ว

17.30 ทางโรงพยาบาลต้องเอาเพื่อนร่วมห้องมาใกล้หัวเตียงผม เนื่องจาก ถัง Oxygen หมด ผมเลยขยับออกไปนั่งที่มุมห้องเพื่อนั่งห่างกัน

18.00 อาหารเย็นมาส่ง ผมให้เขาทานข้าวก่อน จะได้ไม่ขาด Oxygen ส่วนผมก็นั่งไตร่ตรองและคิดถึงพระพรต่าง ๆ ที่พระเจ้ามอบให้ รวมถึง การมีวินัยที่เราออกกำลังกายทุกวันตลอดเวลา 20 ปี ที่ผ่านมาทำให้เราแข็งแรงเมื่อเทียบกับคนอื่น เพราะปกติอาการคนไข้ทั่วไปแค่ขยับตัวก็จะหัวใจเต้นเร็วและเหนื่อยหอบ

19.00 หมอและพยาบาลลงความเห็นว่าต้องคนไข้ร่วมห้องออกไปอยู่ห้องผู้ป่วย Negative ผมบอกเขาว่าจะภาวนาให้และขอให้มีสติอย่าท้อแท้

19.15 ผมเริ่มทานข้าวเย็น (เย็นจริง) เพราะรอนาน และทานยาต้านไวรัสครั้งแรก มี 4 เม็ด แต่ก็ขอบคุณพระที่ ให้ลูกได้มีโอกาสอยู่ห้องพักผู้ป่วยเพียงคนเดียว

20.45 เข้าห้องน้ำถ่ายเหลว และก็อาบน้ำ จากนั้น ได้มีเจ้าหน้าที่ใส่ชุดป้องกันอย่างมิดชิดเพื่อมาเก็บขยะและเสื้อผ้าที่ใช้แล้ว (เก็บวันละครั้งหลังเวลา 20.00)

21.00 นั่งดูไลน์ และโทรไปถามพยาบาลว่า ต้องการพรมเช็ดเท้าหรือ ซึ่งคำตอบคือไม่มี เพราะเขาพยายามไม่ให้มีอะไรเจอปนอยู่บนพื้น แต่สามารถเอามาเองได้แต่จากนั้นต้องทิ้ง ก็เลยโทรบอกที่บ้านช่วยเตรียมกาต้มน้ำไฟฟ้า, พรมเช็ดเท้า, ไม้แขวนเสื้อ 2 อัน, ถุงพลาสติกสำหรับใส่เสื้อผ้าที่จะซัก

21.15 สวดสายประคำ 1 สาย โดยระลึกถึงคนป่วยทั้งหมด รวมถึงคนที่ผมได้พบเห็นในวันนี้ และขอขอบพระคุณที่ให้ลูกได้ประสบกับความลำบากครั้งนี้เพื่อให้การเจ็บป่วยครั้งนี้ เป็นเหมือนการเตือนให้คนอื่นระวังตัว และไม่ประมาท

คืนนั้นผมนอนหลับอย่างสบายเนื่องจากเหนื่อยจากคืนวันจันทร์ที่นอนไม่หลับ และก็ได้ตื่นขึ้นเช้าวันพุธตอนเวลา 05.30 เพราะพยาบาลโทรปลุกคนไข้ทุกห้องให้วัดไข้, ความดันและระดับ Oxygen ในตอนเช้าและตอนค่ำทุกวัน ผมรู้สึกสดชื่นเหมือนไม่ป่วยและคิดว่าคงรักษาตัวไม่กี่วันก็น่าจะกลับบ้านได้ เมื่อทานอาหารเช้า (ข้าวต้ม, ผลไม้ และน้ำผลไม้) แล้ว ก็นั่งทำงานจาก คอมพิวเตอร์ laptop ที่เอามาด้วย เนื่องจากต้องประสานงานกับพนักงานที่กรุงเทพฯ, ย่างกุ้ง และเวียงจันทน์ เพราะเป็นช่วงที่ต้องติดตามโรงเรียนที่จะสั่งหนังสือเรียนสำหรับเทอมต่อไป. อย่างไรก็ตามผมเริ่มรู้สึกเหนื่อยและเมื่อยสายตามาก และไม่สามารถทำงานต่อได้ จากนั้นคุณหมอดารารัตน์ เจ้าของไข้ได้โทรเข้ามาถามอาการ และแจ้งเตือนว่าผมจะเริ่มมีอาการรุนแรงขึ้นเมื่อถึงวันที่ 7 ของการมีอาการไข้ ซึ่งจะเป็นในวันพรุ่งนี้ (พฤหัสบดี) จากนั้นในตอนเที่ยง พิณ (ภรรยาผม) ก็ได้ขับรถเอากาต้มน้ำไฟฟ้าและของใช้เพิ่มเติมใส่เป้มาให้ ซึ่งพิณ ไม่สามารถเข้ามาใกล้ตัวตึกผู้ป่วยและต้องฝากของไว้ ผมได้บอกดูพิณที่อยู่ถนนด้านล่าง จากชั้น 5 ซึ่งตอนหลังเจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะไม่มีการอนุญาตให้นำของจากภายนอกมาอีก รวมถึงการสั่งอาหารจากข้างนอกเช่นเดียวกัน

ผมนอนอยู่ในห้องคนเดียวจนถึงเวลา 15.00 ทางพยาบาลได้แจ้งให้ผมใส่หน้ากากให้เรียบร้อยเพราะจะมีคนไข้อีกคน (อายุ 44 ปี) ซึ่งเป็นนักดนตรีที่ Hilary Bar และเป็นไข้มาตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคมแต่ไม่ได้ไปตรวจเพราะเพิ่งตกงานและไม่มีเงินไปรักษา เขามีอาการหนักกว่าเพื่อนเขาที่อยู่กับผมเมื่อวาน เพราะระดับ Oxygen ต่ำกว่า 90% และต้องสวมเป็นหน้ากากช่วยหายใจเนื่องจากแค่ขยับตัวก็เหนื่อยหอบแล้ว ผมต้องช่วยคุยโทรศัพท์กับคุณหมอแทนเนื่องจากไม่สามารถขยับตัวได้ และภายหลังคุณหมอดารารัตน์ต้องใส่ชุดป้องกันและเข้ามาดูแลเขาที่ห้องโดยตรง

18.00 ผมเตรียมทานข้าวเย็น (เย็นจริง ๆ) เพราะพอจะเริ่มทานพยาบาลก็เข้ามาเจาะเลือดเพื่อนร่วมห้องผม ซึ่งผมต้องหยุดทานและใส่หน้ากากขณะที่พยาบาลพยายามหาเส้นเลือดของเขา เพราะสภาพเส้นเลือดหดตัวทำให้การเจาะเลือดใช้เวลามากกว่า 50 นาที ซึ่งเป็นบรรยากาศที่เครียดมาก

19.00 พยาบาล 2คน ได้มานำตัวเพื่อนร่วมห้องผมใส่เตียงเข็นไปห้องผู้ป่วยวิกฤติ ซึ่งผมได้แต่ภาวนาขอให้เขาฟื้นตัวได้เร็ว (แต่จากนั้นผมก็ไม่ทราบข่าวของเขาอีกเลย)

19.26 ผมเริ่มมีอาการไข้ขึ้นสูง จึงทานยาลดไข้ และรู้สึกเครียดและนอนไม่หลับ ผมได้สวดภาวนาขอพรของพระสำหรับพระเมตตาเพื่อผู้ป่วยทุกคน จากนั้นก็หลับไปและตื่นขึ้นมาเวลา 03.25 เพื่อทานยาลดไข้เม็ดที่ 2 ผมพยายามทานยาให้ทิ้งช่วงเพราะนึกถึงตับตัวเองที่ต้องทำงานหนักกับยาที่ต้องทานหลายขนาน

ในเช้าวันพฤหัสบดี ผมบอกหมอถึงอาการไข้และความเครียด ซี่งหมอได้เริ่มสั่งยานอนหลับให้ผมทานทุกคืนตั้งแต่คืนวันพฤหัสบดี. ผมได้แต่นอนบนเตียงและเริ่มรู้สึกเบื่ออาหาร แต่ก็พยายามทานให้มากที่สุดเพราะรู้ว่าร่างกายต้องการสารอาหารไปต่อสู้กับไวรัส COVID-19.

 

 

ผู้ป่วยหายจากโควิด เล่าย้อนไทม์ไลน์ละเอียดยิบ ตั้งแต่ติดเชื้อสู่ขั้นตอนการรักษา

 

 

ผู้ป่วยหายจากโควิด เล่าย้อนไทม์ไลน์ละเอียดยิบ ตั้งแต่ติดเชื้อสู่ขั้นตอนการรักษา

 

 

ผมได้ทานยาลดไข้เม็ดที่ 3 เวลาเที่ยง จากนั้นก็หลังอาหารเย็นอีก 1 เม็ด เพราะผมรู้สึกหนาวสั่นขณะที่อุณหภูมิไข้ขึ้นถึง 38.7 ผมรอและทานยาลดไข้เม็ดถัดไปเวลา 03.30 ในเวลานั้นแห่งความทรมานนั้น ผมรู้สึกว่าพระเจ้าได้โอบกอดผมอยู่ และอาการไข้สูงได้หายไปเมื่อตื่นขึ้น อย่างไรก็ตามพอถึงบ่ายวันศุกร์ ไข้ก็กลับสูงอีกถึง 38.2 และเริ่มไอมากขึ้น แต่ยังไม่เหนื่อยหอบ ผมรู้ว่าอาการเริ่มแย่ลงแต่ก็พยายามไม่ทานยาลดไข้จนถึงเวลา 21.00 และเย็นนั้นคุณหมอได้เพิ่มยาต้านไวรัสอีก 1 ชนิด Favipiravir (Avigan 200mg) ให้ทานทันทีพร้อมอาหาร 8 เม็ด ซึ่งยานี้เป็นยาตัวใหม่ที่เพิ่งผลิตมาเพื่อใช้ต้านไวรัส COVID-19 โดยตรง และเมื่อผมศึกษารายละเอียดว่า คนไข้ต้องทานไม่ต่ำกว่า 40 เม็ด อย่างต่อเนื่องทุก 12 ชั่วโมง ซึ่งหมอต้องให้ยา Mirax-M ให้ผมทานก่อนอาหารเพื่อป้องกันการอาเจียนระหว่างทานข้าว และในวันเสาร์เช้าผมก็ทานยานี้อีก 8 เม็ด จากนั้นก็ได้ลดลงเหลือ 3 เม็ดในมื้อที่ 3 และต่อไป ผมเริ่มรู้สึกว่าวันเวลาในแต่ละวันผ่านพ้นไปอย่างเชื่องช้ามาก

 

 

ผู้ป่วยหายจากโควิด เล่าย้อนไทม์ไลน์ละเอียดยิบ ตั้งแต่ติดเชื้อสู่ขั้นตอนการรักษา

 

 

ผู้ป่วยหายจากโควิด เล่าย้อนไทม์ไลน์ละเอียดยิบ ตั้งแต่ติดเชื้อสู่ขั้นตอนการรักษา

 

 

เช้าวันอาทิตย์ คุณหมอดารารัตน์ ได้โทรมาสอบถามอาการและแจ้งว่า คุณหมอธนาดล จะเป็นผู้ดูแลผมต่อ เพราะคุณหมอแต่ละท่านจะมีเวรดูแลรักษา 7 วัน และจะย้ายไปดูแลส่วนอื่นต่อ ซึ่งเป็นเหมือนการสับเปลี่ยนเพื่อให้คุณหมอทุกท่านได้มีประสบการณ์ในการรักษาคนไข้มากขึ้น คุณหมอธนาดลได้ประเมินระดับ Oxygen ของผมซึ่งตกเหลือ 95% ซึ่งเกิดจากเชื้อลงปอด โดยหมอได้นำท่อ Oxygen มาต่อให้ผมใช้ (เป็นครั้งแรกในชีวิต) ตั้งแต่เที่ยงวันอาทิตย์ และบอกให้ผมเดินออกกำลังกายในห้องให้ได้ 12 นาทีเพื่อสังเกตว่าผมจะมีอาการเหนื่อยหอบ หรือ Oxygen ลดลงหรือไม่ ซึ่งโชคดีทีผมไม่มีอาการเหนื่อยหอบแต่อย่างใด และพบว่า ระดับ Oxygen ดีขึ้น และหมอให้หยุดใช้ได้หลังใช้ไป 48 ชั่วโมง

ผมยังอยู่ห้องที่ 7 จนถึงเช้าวันพุธ และพยาบาลได้โทรมาให้ผมเตรียมย้ายห้องไปห้องหมายเลข 8 เนื่องจากห้องผมต้องมีการบำรุงรักษา ดังนั้นจึงเป็นการย้ายออกจากห้องคนไข้หลังจากที่พักมา 9 วัน ซึ่งห้องที่ย้ายไปอยู่นั้นมีคนไข้อายุ 28 ปีอยู่มาแล้ว 6 วัน เพราะเพื่อนร่วมห้อง (ที่ทำงานเดียวกันคือ Hilary Bar) เพิ่งย้ายออกไปกักตัวที่ ม. ธรรมศาสตร์ รังสิตต่ออีก 14 วัน สำหรับคนไข้หนุ่มรุ่นลูกผมนี้ อาการไม่หนักมาก และกำลังรอว่าจะย้ายออกเมื่อไร จากนั้นตอนเที่ยง พยาบาลได้โทรมาสอบถามเรื่องการกินอาหารประจำวันก่อนผมป่วย เพื่อประเมินความสมบูรณ์ของร่างกายว่าได้สารอาการครบหรือไม่ และขอให้ผมทานอาหารโรงพยาบาลให้ได้มากที่สุด ซึ่งอาหารของโรงพยาบาลเป็นอาหารรสจืดไม่มีเครื่องปรุง จะมีแกงจืดพร้อมไก่หรือหมู และผัดผัก 1 อย่าง ทานพร้อมข้าวสวยและผลไม้ รวมถึงน้ำผลไม้ (น้ำส้ม, น้ำฝรั่ง หรือน้ำแอปเปิล) ซึ่งโดยความเป็นจริงคนไข้จะเบื่ออาหารและอยากทานอาหารรสจัด หรือก๋วยเตี๋ยว ซึ่งไม่สามารถจัดหาได้ คุณหมอได้แจ้งว่า เมื่อคนไข้หายดี จะต้องไปกักตัวเองอย่างน้อย 14 วัน หากไม่สามารถหาที่กักตัวได้ก็สามารถไปพักที่โรงแรม Princeton แถวสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นดินแดง หรือที่ ธรรมศาสตร์รังสิต

 

 

ผู้ป่วยหายจากโควิด เล่าย้อนไทม์ไลน์ละเอียดยิบ ตั้งแต่ติดเชื้อสู่ขั้นตอนการรักษา

 

 

ซึ่งผมได้บอกหมอว่าผมสามารถกลับมากักตัวเองที่บ้านและไม่ปะปนกับสมาชิกครอบครัวคนอื่น ซึ่งหมอยังแนะนำว่ารถที่มารับก็ต้องมีการคลุมที่นั่งพลาสติกและแยกคนขับให้ห่างจากคนไข้อย่างชัดเจน ผมได้บอกภรรยาให้เตรียมรถตู้ Hyundai ซึ่งผมสามารถนั่งหลังสุดแยกห่างจากภรรยาได้

 

 

ผู้ป่วยหายจากโควิด เล่าย้อนไทม์ไลน์ละเอียดยิบ ตั้งแต่ติดเชื้อสู่ขั้นตอนการรักษา

 

 

ผมได้อยู่กับเพื่อนร่วมห้องตั้งแต่คืนวันพุธ จนถึงเช้าวันอาทิตย์ ซึ่งเขาสามารถย้ายไปกักตัวต่อที่โรงแรม Princeton ขณะที่คุณหมอปองกาณจน์ (คุณหมอคนที่ 3) ซึ่งเพิ่งมาดูแลผม แจ้งว่าปอดผมยังไม่ฟื้นฟูได้ดีและยังต้องอยู่ต่อ แต่อาจได้ออกในวันอังคาร ทำให้ผมต้องอยู่ในห้องหมายเลข 8 ต่ออีก 2 คืน และคุณหมอก็อนุญาตให้กลับได้ในบ่ายวันอังคารที่ 7 เมษายน ผมดีใจมากที่จะได้กลับบ้านหลังจากอยู่ในการดูแลรักษาอย่างดีของหมอ, พยาบาล และเจ้าหน้าที่ ซึ่งเหมือนได้อยู่ในโรงพยาบาลเอกชน โดยที่ไม่ได้มีการจ่ายเงินค่ารักษาแม้แต่บาทเดียว

ผมจะไม่มีวันลืมประสบการณ์ครั้งนี้ อันเหมือนความชะล่าใจที่ผมควรตำหนิตัวเอง แต่อย่างไรก็ตาม ผมยินดีที่เกิดขึ้นกับตัวผม มากกว่าจะเป็นสมาชิกครอบครัวคนอื่น ๆ โดยเฉพาะคุณพ่อ (อายุ 92 ปี) และคุณแม่ (อายุ 88 ปี) มันเป็นสัญญาณเตือนให้ทุกคนไม่ใช่เฉพาะคนในครอบครัว, แต่ลูกน้องและเพี่อนร่วมงาน กับเพื่อนทุกคน ให้ “ตระหนักแต่ไม่ต้องตระหนก” ผมรู้ซึ้งถึงความผูกพันของภรรยา (พิณ) และลูกๆ ทุกคน (ลิน, เจ, ปิ๊ก) พี่สาวทั้งสาม และลูกพี่ลูกน้องที่อยู่เชียงใหม่ และเพื่อน ๆ ทั้งทุกภาคและต่างประเทศ ที่ให้กำลังใจและภาวนาให้ผม วันที่ผมประทับใจมากคือวันเสาร์ที่ 5 เมษายน ซึ่งเพื่อนสมาชิกเยสุอิตที่ในกลุ่ม Spiritual นำโดยคุณพ่อวิชัย และเพื่อน ๆ ได้ร่วมกันภาวนาผ่านกลุ่มไลน์ เพื่อขอพระพรจากพระเจ้า สำหรับผู้ป่วย, หมอ, พยาบาล, เจ้าหน้าที่ รวมถึงทุกคนที่กำลังประสบกับเหตุการณ์ COVID-19 และสิ่งสำคัญที่ผมขอยืนยันว่า ทุกภาคส่วนของรัฐได้ถือเป็นความสำคัญในการดูแลประชาชนทุกคนไม่ว่าเป็นเชื้อชาติใด หากคุณอยู่ในประเทศไทยแล้ว #เราไม่ทอดทิ้งกัน ผมภูมิใจมากที่เกิดเป็น#คนไทย#ในแผ่นดินที่สมบูรณ์ด้วยความรักและห่วงใยกัน ซึ่งคุณไม่สามารถหาได้ในประเทศอื่น ๆ ผมขอบคุณพระผู้เป็นเจ้าในพระพรต่าง ๆ ที่ผมได้รับ มันเป็นโอกาสดีที่ผมได้มีเวลาไตร่ตรองก่อนวัน Easter ที่มาถึงนี้ และผมระลึกถึงนักบุญอิกญาซิโอแห่งโลโยลา ในช่วงที่ท่านได้รับบาดเจ็บและพักรักษาตัวและมีประสบการณ์กับความใกล้ชิดกับพระ

 

 

ผู้ป่วยหายจากโควิด เล่าย้อนไทม์ไลน์ละเอียดยิบ ตั้งแต่ติดเชื้อสู่ขั้นตอนการรักษา

 

 

ผมได้เห็นถึง “#การให้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด#” ของคนที่ทำงานหนักในภาครัฐและเอกชน ผมขอสนับสนุนโรงพยาบาลรัฐบาลที่เป็นที่พักพิงของผู้เดือนร้อน ด้วยกำลังทรัพย์และกำลังใจต่อไป

ขอสรุปข้อมูลต่าง ๆ ในประสบการณ์ COVID-19 ของผม

กักกันตัวเองที่บ้านหลังจากกลับจากอังกฤษ ตั้งแต่วันที่ 17 ถึง 31 มีนาคม แต่.... เริ่มมีอาการไข้ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 20 มีนาคม ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อ COVID-19 ในวันที่ 23 มีนาคม เป็นคนไข้รายที่ 848 ได้รับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ บางพลี (ห่างจากบ้าน 54 กม.) ระหว่างวันที่ 24 มีนาคม ถึง 7 เมษายน 2563 และเป็นคนไข้ที่หายป่วยคนที่ 888 ขณะที่ยังมีคนไข้รักษาตัวอยู่ 1,451 คนในโรงพยาบาลทั่วประเทศกลับมากักตัวเองที่บ้านโดยไม่สัมผัสคนในครอบครัวตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน จนถึง วันที่ 23 เมษายน ได้รับยาระหว่างวันที่ 24 มีนาคม ถึง 7 เมษายน ดังนี้

ก่อนอาหาร ยา Mirax-M รวม 33 เม็ด
ก่อนอาหาร ยา Azycin รวม 3 เม็ด
ยาทานพร้อมอาหาร ยาต้านไวรัส Hydroxychloroquine Sulfate (Quinnel 200 mg) รวม 29 เม็ด
ยาทานพร้อมอาหาร ยาต้านไวรัส ตัวใหม่ล่าสุด Favipiravir (Avigan 200 mg) รวม 70 เม็ด
ยาทานพร้อมอาหาร ยาต้านไวรัส Prezista 600 mg รวม 26 เม็ด
ยาทานพร้อมอาหาร ยาต้านไวรัส Norvia 100 mg รวม 26 เม็ด
ยาหลังอาหาร ยาแก้ไอ Ropect รวม 27 เม็ด (และกลับมาทานต่อที่บ้านอีก 20 เม็ด)
ยาหลังอาหาร ยาละลายพร้อมน้ำ Nac Long รวม 9 เม็ด
ยานอนหลับ Ativan รวม12 เม็ด
ยาลดไข้ Sara รวม12 เม็ด
เช็คเลือดรวม 7 ครั้ง
X-Ray ปอด รวม 6 ครั้ง
ใส่สาย Oxygen รวม 48 ชั่วโมง
ทานอาหารครบ 5 หมู่จากโรงพยาบาล 43 มื้อ
ขอให้เพื่อนและครอบครัวทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรงและผ่านเหตุการณ์นี้ไปได้ด้วยดีครับ

 

ขอบคุณเรื่องราวจาก : Thares Keeree