- 20 เม.ย. 2563
ล่าสุดเว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ กฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 ความว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และมาตรา 79/1 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ล่าสุดเว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ กฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 ความว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และมาตรา 79/1 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ1 ในกฎกระทรวงนี้ “เหตุสุดวิสัย” หมายความรวมถึง ภัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโรคติดต่ออันตรายอื่นตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อซึ่งมีผลกระทบต่อสาธารณชน และถึงขนาดที่ผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้หรือนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ
ข้อ2 ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิ์ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย มีสิทธิ์ได้รับประโยชน์ทดแทนตามกฎกระทรวงนี้
ข้อ3 ในกรณีมีเหตุสุดวิสัย และลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิ์ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน ไม่ได้ทำงานหรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากต้องกักตัวหรือเฝ้าระวังการระบาดของโรค ให้ลูกจ้างดังกล่าวซึ่งไม่ได้รับค่าจ้างมีสิทธิ์ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน ในอัตราร้อยละหกสิบสองของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน แต่ไม่เกินเก้าสิบวัน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2563 หรือตามระยะเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
ข้อ4 ในกรณีมีเหตุสุดวิสัย ถึงขนาดที่นายจ้างต้องหยุดประกอบกิจการไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเป็นการชั่วคราว และลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิ์ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานไม่สามารถทำงานได้และไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น ไม่ว่านายจ้างจะหยุดประกอบกิจการเองหรือหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งของทางราชการ ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อหรือกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินก็ตาม ให้ลูกจ้างดังกล่าวซึ่งไม่ได้รับค่าจ้างมีสิทธิ์ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน ในอัตราร้อยละหกสิบสองของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการ แต่ไม่เกินเก้าสิบวัน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2563 หรือตามระยะเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
ข้อ5 การจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามข้อ 3 และข้อ 4 ให้จ่ายเป็นรายเดือน สำหรับเศษของเดือนให้คำนวณจ่ายเป็นรายวัน และให้นำบทบัญญัติมาตรา 57 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 มาใช้บังคับแก่การคำนวณค่าจ้างรายวัน เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานด้วยโดยอนุโลม
ข้อ6 ให้สำนักงานงดการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยแก่ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนเมื่อ
(1)ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนลาออกจากงานหรือถูกเลิกจ้าง โดยให้สิ้นสุดการรับประโยชน์ทดแทนตั้งแต่วันที่ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนได้ลาออกจากงานหรือถูกเลิกจ้าง
(2)ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนได้สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างเนื่องจากสัญญาจ้างได้สิ้นสุดลงโดยให้สิ้นสุดการรับประโยชน์ทดแทนตั้งแต่วันที่สัญญาจ้างแรงงานได้สิ้นสุดลง
ข้อ7 ให้นายจ้างออกหนังสือรับรองการขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายการตามหนังสือรับรองที่แนบท้ายกฎกระทรวงนี้ การออกหนังสือรับรองตามวรรคหนึ่ง นายจ้างอาจจัดทำในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์และส่งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ แต่ต้องเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องไว้เป็นหลักฐาน