ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ตีแผ่ความลึกลับของโควิด-19

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ตีแผ่ความลึกลับของโควิด-19

วันที่ 27 เมษายน 2563 บนเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ของ ศ.นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา โพสต์ตีแผ่ความลึกลับของโควิด-19 ความรุนแรง การกลับมาเป็นซ้ำ และการแพร่ต่อ ระบุรายละเอียดดังต่อไปนี้

ความรุนแรง เป็นใหม่ แพร่ต่อ? : ความลึกลับของโควิด-19

ศ.นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา 18/4/63 ปรับปรุง 27/4/63 สำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

ลักษณะของการติดเชื้อเช่นโควิด-19 คิดว่าเปรียบเสมือนเป็นการได้รับวัคซีนตามธรรมชาติ ทั้งนี้โดยหวังว่าเมื่อประชากรอย่างน้อยครึ่งหนึ่งหรือ 60% ขึ้นไปเมื่อมีการติดเชื้อแล้วจะมีภูมิคุ้มกันหมู่ และเป็นปราการป้องกันไม่ให้มีการแพร่เชื้อออกไปอีกอย่างมาก แต่ประเด็นที่สำคัญก็คือการตอบสนองของแต่ละคนจะไม่เท่ากัน
ทั้งนี้อาจจะขึ้นกับการที่ไวรัส “ชอบ” ที่จะเข้าไปอยู่ที่คอจมูกและระบบทางเดินหายใจส่วนต้น หรือ”รัก”ที่จะเข้าไปอยู่ในปอดลึกๆ และทำให้ไม่มีอาการหรือแทบจะไม่มีอาการเลย ทั้งๆที่มีปอดอักเสบและไม่มีอาการไอด้วยซ้ำ

ตำแหน่งที่ไวรัสอยู่จะมีผลในการ กระตุ้นขั้นตอนของการสร้างภูมิคุ้มกันต่างกัน กระบวนการหลบหลีก การมองเห็นของระบบภูมิคุ้มกัน ในที่ต่างๆเหล่านี้อาจไม่เหมือนกัน นอกจากนั้นในส่วนของไวรัสเริ่มมีข้อมูลว่ามีการเข้าไปกวนการสร้างภูมิคุ้มกันของ Tเซลล์ แบบไวรัสเอชไอวีแต่ไม่ได้ทำให้จำนวนเซลล์ต่ำลง

และชนิดของไวรัสเอง ไม่ได้ขึ้นกับ lineage A B หรือ C ว่า variant ใดมีผลต่อระบบการต่อสู้ของร่างกาย ผู้ติดเชื้อ ให้เก่งหรือไม่เก่งในส่วนของ antiviral protein แต่เป็นลักษณะในรหัสพันธุกรรม ตามpoint mutation บางตำแหน่ง และ/หรือสัดส่วนบางอย่างของไวรัสที่กระทบระบบการต่สู้ของคนติดเชื้อ และมีส่วนในการกำหนดความรุนแรงของโรค

ขั้นตอนต่างๆเหล่านี้ ส่งผลทั้งการเพิ่มจำนวนและปริมาณของไวรัส ตั้งแต่ระดับ transcription replication รวมทั้งการประกอบร่างตั้งแต่ subgenomic RNA และยังมีผลต่อเนื่องไปถึงการที่ไวรัสไปท้ารบ กับร่างกายโดยร่างกายสร้างการอักเสบมากเกินพอดี เกิด cytokine storm หรือมรสุมภูมิวิกฤตและยังส่งผลไปลดทอนระบบการละลายการอักเสบ ผ่านทาง AT1-7 และเหนี่ยวนำนิวโตรฟิลในการทำให้ความรุนแรงโรคเพิ่มขึ้น ผ่านกลไก NET neutrophil extracellular trap

นอกจากนั้น การที่จะหายจากโรคอย่างสมบูรณ์หมดจด มีกระบวนการขั้นต้นที่เรายังไม่ทราบชัดเจนแต่อาจอนุมานเอาว่าเกิดจากการที่มีภูมิคุ้มกันแอนติบอดีชนิดที่ทำลายไวรัสได้ (neutralizing antibody) แต่ยังคงต้องตระหนักว่าเซลล์ในร่างกายแต่ละชนิดที่มีการติดเชื้ออาจจะมีกระบวนการทำลายไวรัสต่างกันในขั้นต้นและในระยะกลาง ซึ่งต้องอาศัยระบบเซลล์และระบบน้ำเหลืองเข้ามาควบคู่กันและในที่สุดถ้าไม่สามารถทำลายไวรัสได้อย่างหมดจดเนื่องจากต้องทำลายส่วนของร่างกายที่ติดเชื้อไปด้วย ก็จำเป็นที่จะต้องปล่อยให้มีการติดเชื้อต่อโดยมีการตรวจตราควบคุมไม่ให้ไวรัสกระจายออกมาอีก ซึ่งเป็น long term control โดยใช้ระบบคุ้มกันชนิดเซลล์อย่างเดียวหรือร่วมกับระบบน้ำเหลือง

ทั้งหมดนี้ทำให้ความเข้าใจในโควิด-19 ยังไม่สมบูรณ์และยังไม่สามารถทำนาย ได้อย่างชัดเจนว่าใครจะมีอาการหนักเบา แม้ว่าอายุจะน้อยจะมากไม่มีโรคประจำตัวก็ตาม และยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าใครเมื่อหายแล้วจะหยุดปล่อยเชื้อได้เร็วช้าหรือจะกลายเป็นคนที่แพร่เชื้อไปในระยะเวลายาวนาน และเชื้อที่ปล่อยออกมานั้นเป็นตัวสมบูรณ์กระฉับกระเฉงพร้อมที่จะติดต่อไปหาคนอื่นหรือเป็นตัวที่กระปลกกระเปลี้ยมีความสามารถในการแพร่ได้จำกัดหรือเป็นเพียงแต่เศษ RNA ของไวรัสที่ออกมากระปริบกระปรอย จากผลของ intermittent shedding จากเซลล์ที่ไวรัสไปหลบซ่อนอยู่จากการถูกมองเห็นของระบบภูมิคุ้มกัน

และท้ายสุดภูมิคุ้มกันหลังจากการติดเชื้อตามธรรมชาติจะอยู่ได้คงทนนานเท่าใดยังไม่มีใครทราบและถ้าจะอยู่ได้นานแต่ถ้าไวรัสเปลี่ยนหน้าตาไปภูมิคุ้มกันดังกล่าว เพียงแต่รู้จักไวรัสเฉยๆแต่ไม่ไปทำลาย หรือจะซ้ำร้ายไปช่วยไวรัสให้มีการเพิ่มจำนวนและเกิดอาการมากขึ้นหรือไม่ยังไม่มีใครทราบ

และจบที่มนุษย์แต่ละคนจะมีชะตาชีวิตกำหนด (host response profiling) ให้มีการรับมือกับศัตรูได้รวดเร็วเพียงใดและหมดจดแค่ไหน

ขอบคุณ  ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha