- 25 พ.ค. 2563
จากที่ก่อนหน้านี้ คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม (อดีตผู้บริหารระดับสูงธนาคารไทยพาณิชย์) พร้อมตัวแทนชาวบ้านซอยสุขุมวิท 61 และในซอยเอกมัย (ซอย 1) ได้ร่วมตัวแถลงข่าว คัดค้านการก่อสร้างอาคารโครงการคอนโดมิเนียมไฮเอนด์ ภายใต้แบรนด์ “IMPRESSION EKKAMAI” ขนาดใหญ่ ภายในซอยสุขุมวิท 61 โดยคุณหญิงชฎา เริ่มเหตุผลว่า ด้วยข้อกฎหมายแล้ว ในซอยนี้ ห้ามการก่อสร้างอาคารเกิน 23 เมตรหรือ 7-8 ชั้น แต่เมื่อต้นปี 2562 ทราบว่า จะมีการก่อสร้างโครงการสูงถึง 43 ชั้น ซึ่งอยู่ใกล้กับแนวบ้านของคนในชุมชน
จากที่ก่อนหน้านี้ คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม (อดีตผู้บริหารระดับสูงธนาคารไทยพาณิชย์) พร้อมตัวแทนชาวบ้านซอยสุขุมวิท 61 และในซอยเอกมัย (ซอย 1) ได้ร่วมตัวแถลงข่าว คัดค้านการก่อสร้างอาคารโครงการคอนโดมิเนียมไฮเอนด์ ภายใต้แบรนด์ “IMPRESSION EKKAMAI” ขนาดใหญ่ ภายในซอยสุขุมวิท 61 โดยคุณหญิงชฎา เริ่มเหตุผลว่า ด้วยข้อกฎหมายแล้ว ในซอยนี้ ห้ามการก่อสร้างอาคารเกิน 23 เมตรหรือ 7-8 ชั้น แต่เมื่อต้นปี 2562 ทราบว่า จะมีการก่อสร้างโครงการสูงถึง 43 ชั้น ซึ่งอยู่ใกล้กับแนวบ้านของคนในชุมชน
ล่าสุด คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม ประธานชมรมชาวบ้านซอยสุขุมวิท 61ได้แถลงชี้แจงต่อสื่อมวลชนอีกครั้ง กรณีชาวบ้านย่านเอกมัย-สุขุมวิท 61 ตัดสินใจคัดค้านโครงการก่อสร้างอาคารคอนโดมิเนียม เนื่องจากเป็นกังวลต่อโครงการคอนโดมิเนียมขนาดยักษ์ “IMPRESSION EKKAMAI” ที่จะมีการดำเนินการก่อสร้างขึ้นในซอยเอกมัย เนื่องจากโครงการได้ซื้อที่ดินสองแปลงเชื่อมติดกัน ทำให้ที่ดินมีลักษณะยาวเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว จากซอยเอกมัย (63) ยาวไปถึงซอยสุขุมวิท 61 ซึ่งมีลักษณะเป็นซอยเล็กและตัน ที่ผ่านมาชาวบ้านกว่าร้อยคนได้รวมตัวกันส่งหนังสือคัดค้านโครงการ ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม , ผู้ว่าการกรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร กรุงเทพมหานคร (คชก.) แล้วหลายครั้ง
อาทิ ในการประชุม คชก.ครั้งแรกเมื่อ 12 มีนาคม 2563 คชก.ไม่อนุมัติโครงการโดยระบุเหตุผลต่าง ๆ ถึง 62 ข้อ และระบุให้โครงการกลับมาหารือกับชุมชนเพื่อหาข้อยุติร่วมกัน แต่ปรากฎว่าโครงการเพียงส่งจดหมายมาถึงชาวบ้านว่าได้ทำการปรับปรุงแบบแล้ว ซึ่งโดยข้อเท็จจริงมีการแก้ไขเพียงเล็กน้อยมาก และไม่มีผลแตกต่างแต่อย่างใด
ต่อมาโครงการได้ยื่นเสนอ คชก. เป็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 และในรอบนี้ คชก.เห็นว่าข้อมูลที่โครงการทำมาใหม่ยังไม่ครบถ้วน จึงส่งเรื่องให้กลับไปทำมาอีกครั้งหนึ่ง และกำหนดให้นำมาเสนอคชก.ใหม่เป็นคำรบสาม ในวันที่ 28 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ ชาวบ้านจึงหวั่นวิตกว่า หากโครงการได้รับอนุมัติจากคชก.ให้ผ่าน จ ะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนละแวกนี้ในทุกมิติอย่างมหาศาล และอยากเรียกร้องความเป็นธรรมจากคชก.
สำหรับเหตุผลที่ชาวบ้านรวมตัวกันคัดค้านโครงการนี้มีสาระสำคัญ กล่าวคือ
1. ขนาดและความสูงของโครงการ โครงการออกแบบเป็นสามอาคารเรียงกันในแปลงที่ดินที่มีลักษณะยาวเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว อาคารหน้าสุดติดถนนเอกมัยสูง 25 ชั้น อาคารตรงกลางสูง 43 ชั้น และหลังสุดท้ายติดซอยสุขุมวิท 61 เป็นอาคารจอดรถแบบอัตโนมัติ 16 ชั้น (บนดิน 9 ชั้น ใต้ดิน 7 ชั้น) พื้นที่ใช้สอยรวม 40,396 ตรม. อาคารสูง 43 ชั้นนั้นสูงกว่าอาคารใหญ่อื่นๆในละแวกนี้อย่างมาก อาคารขนาดใหญ่ในซอยเอกมัยโดยเฉลี่ยจะสูงไม่เกิน 20-30 ชั้น นอกจากนั้นมวลส่วนใหญ่ของอาคารยักษ์ 43 ชั้น และขุดดินที่จอดรถลึก 28 เมตร ยังเยื้องมาอยู่ทางด้านซอย 61 อีก
ชุมชนในละแวกนี้ส่วนใหญ่เป็นบ้านเดี่ยวที่อยู่กันมากว่าครึ่งค่อนศตวรรษ และมีคอนโด 7-8 ชั้นอยู่บ้างประปราย การมีตึกระฟ้าผุดขึ้นมาท่ามกลางบ้านเล็กๆที่สูงเพียงสองสามชั้นย่อมส่งผลกระทบอย่างมากในด้านแวดล้อม แสงแดดที่จะหายไป ความผันผวนและความรุนแรงของลมที่เกิดจากการปะทะของอาคารสูง คุณภาพอากาศที่ย่อมจะเลวลง ปัญหาฝุ่น PM 2.5/PM 10 และมลพิษทางเสียงย่อมเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ชาวบ้านจึงร้องเรียนขอให้ คชก.ทำหน้าที่และพิจารณาถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นกับชาวบ้านจากโครงการนี้ทั้งในระยะสั้นขณะก่อสร้าง รวมทั้งปัญหามากมายที่จะตามมาในระยะยาว
ในทางกฎหมาย การที่ทางผู้ออกแบบและทางโครงการ ได้ใช้วิธีแยกคิดพื้นที่อาคารในโครงการออก แต่ละอาคาร เพื่อให้พื้นที่แต่ละอาคารนั้นไม่เกิน 30,000 ตารางเมตร เพราะหากเกินก็จะไปเข้าเกณฑ์ของกฎหมาย ที่บังคับให้ต้องมีถนนด้านหน้าอาคาร ที่มีขนาดกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตรทันที ซึ่ง ซอยเอกมัยมีความกว้างไม่ถึง 18 เมตร วิธีการดังกล่าวเป็นการเลือกตีความของผู้ออกแบบและผู้ประกอบการอย่างชัดเจน ในการที่นายทุนสามารถสร้างอาคารขนาดใหญ่ ที่มีพื้นที่มากมายมหาศาล หลายหมื่นตารางเมตร ในบริเวณชุมชนที่มีถนนเล็ก ซอยแคบที่มีความกว้างไม่สัมพันธ์กับขนาดพื้นที่อาคาร ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ระบุเรื่องพื้นที่อาคารให้สัมพันธ์กับความกว้างถนนไว้อย่างเห็นได้ชัด
2. ปัญหาเรื่องความปลอดภัยโดยเฉพาะในด้านอัคคีภัย โครงการนี้มีสามอาคาร โดยได้ออกแบบให้อาคาร 25 ชั้นและ 43 ชั้นมีถนนโดยรอบกว้างประมาณ 6 เมตร ซึ่งรถดับเพลิงสามารถวิ่งรอบได้ในกรณีเกิดเพลิงไหม้ แต่สำหรับอาคารจอดรถกลับออกแบบให้มีระยะถอยร่นจากแนวเขตที่ดินเพียงแค่ 3 เมตรกว่าเท่านั้น และยังใช้เป็นพื้นที่สีเขียว หรือพื้นที่ที่รถไม่อาจวิ่งรอบได้อีกต่างหาก เมื่อชาวบ้านทักท้วงไป ได้รับคำชี้แจงว่า เนื่องจากอาคารจอดรถมีความสูงไม่ถึง 23 เมตร ตามกฎหมายให้เว้นระยะห่าง (SET-BACK) เพียง 3 เมตรเท่านั้น โครงการจึงเลือกจะทำตามขั้นต่ำของกฎหมาย แต่ถ้าเกิดเพลิงไหม้ในบริเวณอาคารจอดรถที่มีชั้นใต้ดินที่ถึง 7 ชั้น รถดับเพลิงจะไม่สามารถวิ่งรอบทั้งโครงการได้ นอกจากนั้นอาคารจอดรถเป็นแบบอัตโนมัติทำจากโครงสร้างเหล็กที่มีระบบไฟฟ้าเครื่องกล ย่อมมีความเสี่ยงในด้านอัคคีภัยสูง และในเมื่ออาคารจอดรถดังกล่าง ต้องขุดดินลึก 28 เมตร แต่เว้นระยะห่างจากแนวเขตเพียง 3 เมตร ยังทำให้มีโอกาศที่จะเกิดความเสียหายต่อบ้านข้างเคียงในระหว่างการก่อสร้างเป็นอย่างสูง
3. ปัญหาจราจร เป็นที่ทราบกันดีว่าซอยเอกมัยและถนนสุขุมวิทปัจจุบันมีการจราจรติดขัดอย่างหนักอยุ่แล้ว ซึ่งการวิเคราะห์ของบริษัทที่ปรึกษาด้านการจราจรของโครงการเอง (บริษัท Meinhardt) ก็ระบุว่า สภาพการจราจรบนถนนสุขุมวิทอยู่ในระดับ E ในช่วงเช้าและระดับ Fในช่วงบ่าย ส่วนบนซอยเอกมัยส่วนใหญ่จะเป็นระดับ F ทั้งเช้าและบ่าย (ระดับการจราจรมีตั้งแต่ A ถึง F ระดับ A คือระดับที่ดีที่สุด) บริษัทได้สรุปว่าปัญหาการจราจรของย่านสุขุมวิท-เอกมัยเลวร้ายอยู่แล้ว ดังนั้นการเพิ่มปริมาณรถยนต์ของโครงการไม่ได้ทำให้สถานะการแย่ขึ้นมากเท่าไร ประเด็นของชาวบ้านคือ โครงการนี้มีห้องพัก 380 ยูนิต และมีที่จอดรถกว่า 300 คันนั้นจะเพิ่มการจราจรที่ติดขัดมากขึ้นแน่นอน
บวกกับโครงการใหญ่อีกหลายแห่งในซอยเอกมัยที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน และเมื่อเกิดรถติดบนซอยเอกมัย ก็จะลามไปยังถนนสุขุมวิท ทองหล่อ เพชรบุรีตัดใหม่ ติดกันเป็นลูกโซ่ต่อไป ผลกระทบเรื่องการจราจรส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจและสังคมกรุงเทพมหานครอย่างมหาศาล การเผาผลาญน้ำมัน ซึ่งสร้างมลพิษ PM2.5 ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน และยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของกรุงเทพมหานครที่ต้องการส่งเสริมให้เป็นเมืองน่าอยู่ น่าท่องเที่ยว แล้วทำไมหน่วยงานของรัฐจึงซ้ำเติมปัญหานี้ด้วยการอนุมัติโครงการขนาดใหญ่ออกมาอีกมากมาย เพิ่มปริมาณรถเข้ามาในบริเวณนี้อีกนับพันคัน
4. โครงการในลักษณะนี้มีผลทำลายสังคมและความเป็นชุมชนที่อยู่มาช้านาน ในละแวกนี้ ถ้าหากโครงการนี้ได้รับอนุมัติให้สร้างก็เป็นที่แน่นอนว่าจะมีโครงการอื่นๆในลักษณะเดียวกันนี้ ติดตามมาอีก โดยจะเกิดการกว้านซื้อที่ดินแบบเส้นก๋วยเตี๋ยวเชื่อมต่อกันสองซอยแบบนี้ ผุดเป็นโครงการขนาดใหญ่ยักษ์รุกล้ำเข้าไปในบริเวณที่อยู่อาศัยขนาดกลางและขนาดเล็กมากขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนที่มีบ้านเรือนอยู่ในซอยเล็กๆที่เคยอยู่กันอย่างสงบ โดยได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายในเรื่องการจำกัดความสูงและขนาดของสิ่งก่อสร้าง ซึ่งตระหนักถึงการพัฒนาที่มีความสัมพันธ์สอดคล้องกับความกว้างของถนนและระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในพื้นที่ การพัฒนาในลักษณะของโครงการนี้นอกจากจะไม่เป็นมิตรต่อชุมชนที่อยู่มาดั้งเดิมแล้ว ยังเป็นการพัฒนาเมืองแบบไม่ยั่งยืนอีกด้วย
ชุมชนจึงอยากจะวิงวอนไปยังหน่วยงานต่างๆของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ดูแลเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและการให้อนุญาตก่อสร้าง โปรดช่วยพิทักษ์สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนให้สามารถอยู่อาศัยในบ้านของตนเองได้อย่างปลอดภัยและปกติสุข โดยไม่ต้องถูกคุกคามจากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่มีอยุ่ไม่สามารถรองรับได้ และโปรดอย่าส่งเสริมการพัฒนาที่ไม่เหมาะสมกับบริบทโดยรอบเป็นอย่างมากเช่นนี้ ชาวบ้านไม่ได้คัดค้านการพัฒนาหรือการขยายตัวของเมือง แต่ควรเป็นการพัฒนาแบบยั่งยืน ชนิดที่ไม่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตต่อประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่
และที่สำคัญควรคำนึงถึงการดำเนินชีวิตของคนส่วนมาก ไม่ใช่สนับสนุนคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งให้แสวงหากำไรและผลประโยชน์ให้ตนเองมากที่สุด ในขณะที่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เดือดร้อน ส่วนผู้ประกอบการและที่ปรึกษาก็ไม่ควรคำนึงแต่ผลกำไรเป็นหลัก แสวงหาผลประโยชน์สูงสุดจากการใช้ที่ดินที่ได้ลงทุนไป โดยการออกแบบให้สร้างได้สูงที่สุด มีเนื้อที่ใช้สอยมากที่สุด แต่ผลกระทบตกมาอยู่กับชุมชน หากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องไม่รับผิดชอบและทำตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ชุมชนจะสงวนสิทธิ์ขอตรวจสอบกระบวนการยุติธรรมอื่นต่อไป
โครงการ “IMPRESSION EKKAMAI” เป็นโครงการของบริษัทเอเอชเจ เอกมัย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทออลล์อินสไปร์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ร่วมทุนกับกลุ่มฮูซิเออร์ และบริษัทเจอาร์ คิวชู ประเทศญี่ปุ่น