- 30 พ.ค. 2563
กรุงเทพโพลล์ เผยปชช.หนุนรัฐบาลต่อ "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" เชื่อจำเป็นต่อการคุมโควิด-19
กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “คนไทยว่ายังไง…กับการต่อ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน” โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,205 คน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 57.9 เห็นว่าการต่อ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน การล็อกดาวน์ มีผลต่อการดำเนินชีวิต การทำงาน การเรียน ค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะที่ร้อยละ 42.1 เห็นว่ามีผลค่อนข้างมากถึงมากที่สุด
เมื่อถามว่ากังวลมากน้อยเพียงใดต่อสถานที่ที่เปิดจากมาตรการผ่อนปรนเฟสแรกและเฟสสองว่าจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19 ได้ พบว่า ในมาตรการผ่อนปรนเฟสแรกเคอร์ฟิว 22.00 – 04.00 น. เช่น ตลาด ร้านอาหารขนาดเล็ก สนามกีฬากลางแจ้ง ร้านตัดผม ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 61.8 มีความกังวลต่อสถานที่ที่ผ่อนปรนค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด (แบ่งเป็นค่อนข้างน้อยร้อยละ 43.8 และน้อยที่สุดร้อยละ 18.0) ขณะที่ร้อยละ 38.2 มีความกังวลค่อนข้างมากถึงมากที่สุด (แบ่งเป็นค่อนข้างมากร้อยละ 32.8 และมากที่สุดร้อยละ 5.4)
ส่วนมาตรการผ่อนปรนเฟสสอง เคอร์ฟิว 23.00 – 04.00 น. เช่น ห้างสรรพสินค้า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 61.6 มีความกังวลต่อสถานที่ที่ผ่อนปรนค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด (แบ่งเป็นค่อนข้างน้อยร้อยละ 44.6 และน้อยที่สุดร้อยละ 17.0) ขณะที่ร้อยละ 38.4 มีความกังวลค่อนข้างมากถึงมากที่สุด (แบ่งเป็นค่อนข้างมากร้อยละ 32.6 และมากที่สุดร้อยละ 5.8)
ทั้งนี้เมื่อถามต่อว่าสถานที่ที่กังวลมากที่สุดหากมีการผ่อนปรนในเฟสที่ 3 และเฟสที่ 4 ว่าอาจจะทำให้มีการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ได้ คือ สถานบันเทิง ผับ บาร์คิดเป็นร้อยละ 80.5 รองลงมาคือ สนามมวย สนามม้า สนามแข่งกีฬาต่างๆ คิดเป็นร้อยละ 77.6 และโรงภาพยนตร์ คิดเป็นร้อยละ 46.2
เมื่อถามว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการลดเวลาเคอร์ฟิวลงเหลือ 23.00 – 03.00 น. ส่วนใหญ่ร้อยละ 82.4 เห็นด้วยเพราะ เวลาไม่ได้แตกต่างจากเดิมที่ 23.00 – 04.00 น. จะได้มีความยืดหยุ่นในการดำเนินชีวิตได้มากขึ้น ขณะที่ร้อยละ 17.6 ไม่เห็นด้วยเพราะ จะทำให้มีการพบปะ สังสรรค์ ชุมนุมกันเพิ่มขึ้น เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19
สำหรับความเห็นต่อ พ.ร.ก. ฉุกเฉินยังจำเป็นมากน้อยเพียงใดต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ส่วนใหญ่ร้อยละ 69.5 เห็นว่ายังจำเป็นค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 30.5 เห็นว่าจำเป็นค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด
สุดท้ายเมื่อถามถึงเรื่องที่ห่วงมากที่สุด กับอนาคตของประเทศไทย ในการต่อ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน คือ ปัญหาการขาดรายได้ ค่าครองชีพของประชาชนคิดเป็นร้อยละ 77.9 รองลงมาคือ มีการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นคิดเป็นร้อยละ 70.0 และการศึกษาของลูกหลานเรียนออนไลน์คิดเป็นร้อยละ 57.7