- 04 มิ.ย. 2563
เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์มาระยะหนึ่ง จากกรณี ส.อ.ณรงค์ชัย อินทรกวี หรือ หมู่อาร์ม เสมียนงบประมาณแผนกโครงการและงบประมาณกองแผน โครงการศูนย์ซ่อมสร้างสิ่งอุปกรณ์ กรมสรรพวุธทหารบก เข้าร้องเรียนผ่าน คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม เเละสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ถูกผู้บังคับบัญชา ข่มขู่ คุกคามเอาชีวิต อันเนื่องมาจากออกมาเปิดเผยปัญหาทุจริตเบี้ยเลี้ยงภายในกรมสรรพวุธทหารบก จนกระทั่้ง พล.อ อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ต้องออกมาเน้นย้ำ ทุกขั้นตอนปัญหาการทุจริต กองทัพบกมีการตรวจสอบตลอดต่อเนื่อง ยกเว้นกรณีปัญหาที่มีการนำไปร้องเรียนผ่านกระบวนอื่น ๆ
เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์มาระยะหนึ่ง จากกรณี ส.อ.ณรงค์ชัย อินทรกวี หรือ หมู่อาร์ม เสมียนงบประมาณแผนกโครงการและงบประมาณกองแผน โครงการศูนย์ซ่อมสร้างสิ่งอุปกรณ์ กรมสรรพวุธทหารบก เข้าร้องเรียนผ่าน คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม เเละสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ถูกผู้บังคับบัญชา ข่มขู่ คุกคามเอาชีวิต อันเนื่องมาจากออกมาเปิดเผยปัญหาทุจริตเบี้ยเลี้ยงภายในกรมสรรพวุธทหารบก จนกระทั่้ง พล.อ อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ต้องออกมาเน้นย้ำ ทุกขั้นตอนปัญหาการทุจริต กองทัพบกมีการตรวจสอบตลอดต่อเนื่อง ยกเว้นกรณีปัญหาที่มีการนำไปร้องเรียนผ่านกระบวนอื่น ๆ
(คลิกอ่านข่าวประกอบ : บิ๊กแดงฮึ่มๆสื่อซักหมู่อาร์ม เล่นใหญ่ท้าถอดยศ อิงเวทีการเมืองแฉทบ.โกง )
ล่าสุด พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก ทบ. พร้อมด้วย พ.อ. หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษก ทบ. และ พล.ต. บุรินทร์ ทองประไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพระธรรมนูญทหารบก ในฐานะคณะกรรมการตรวจสอบประเด็นการทุจริตภายในศูนย์ซ่อมสร้าง กรมสรรพาวุธทหารบก ได้ร่วมแถลงประเด็นกรณีปัญหาดังกล่าว แยกเป็นแต่ละประเด็นสำคัญ ๆ ดังนี้
กรณีการร้องเรียนเรื่องทุจริตที่ ส.อ. ณรงค์ชัย เปิดเผย ไม่มีการแจ้งมาที่สายตรง ผบ.ทบ. แต่ พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ได้มีคำสั่งตั้งกรรมการสอบเพิ่มเติมเอง โดยผลสอบพบว่า เป็นความจริง ตามที่ส.อ. ณรงค์ชัย ให้ข้อมูล คือ การเบิกเงินเบี้ยเลี้ยงเดินทาง 4 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2560-2562 รวมกว่า 1 แสนบาท และการจัดอบรมยาเสพติด แล้วไม่ได้ดำเนินการจริง 2 ครั้ง มูลค่ากว่า 1 แสนบาท โดยมีผู้เกี่ยวข้องระดับนายพล 3 นาย และทาง ผบ.ทบ. ได้สั่งการให้ส่งเรื่องต่อ ป.ป.ช. พิจารณาต่อไป โดยโทษส่วนใหญ่เป็นคดีอาญา ส่วนโทษวินัยทหารต้องรอผลสอบจาก ป.ป.ช. ก่อน
อย่างไรก็ตามกระบวนการทั้งหมด สามารถแยกประเด็นชี้แจงในแต่ละข้อ ดังนี้
1.การร้องเรียน ของ ส.อ.ณรงค์ชัยฯ ได้ใช้ช่องทางผ่านสายตรง ผบ.ทบ.ร้องขอความเป็นธรรมในเรื่องการถูกลงโทษ โดยไม่ได้รับความเป็นธรรม มิได้ใช้ระบบการร้องเรียน ตามสายการบังคับบัญชา โดยมีลำดับเหตุการณ์ ดังนี้
- ก.ย.62เกิดกรณีพิพาทระหว่างผู้ร้องกับผู้บังคับบัญชา
- ต.ค.62 หน่วยต้นสังกัดตั้งกรรมการสอบ ผลสอบระบุกระทำผิด พ.ร.บ.
ว่าด้วยวินัยทหาร พิจารณาโทษจำขัง ระหว่าง 18 – 24 มี.ค.63
- 12 มี.ค. 63 ส.อ.ณรงค์ชัยฯ ร้องเรียนผ่านสายตรง ผบ.ทบ.เรื่องการถูกลงโทษ โดยไม่ได้รับความเป็นธรรม ขอให้ระงับการสั่งขัง จากกรณีการผิดวินัยเมื่อเดือน ก.ย. 62
- 13 มี.ค. 63 โทรมาสายตรง ผบ.ทบ.ขอยกเลิกการร้องเรียนเมื่อ 12 มี.ค.63
( เนื่องจากศูนย์รับเรื่องร้องเรียนมีการประสานงานให้ เจ้าตัวเห็นถึงความจริงใจของ ทบ. ที่เรื่องร้องเรียนได้รับการช่วยเหลือ ทบ. ได้มีการตรวจสอบและให้หน่วยพิจารณาทบทวน ซึ่งต้นสังกัดยังคงผลการลงโทษตามเดิม เนื่องจากเป็นการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.วินัยทหาร )
- 18 มี.ค.63 หนีราชการ
- 19 มี.ค.63 ร้องเรียนผ่านสายตรง ผบ.ทบ. เรื่องการถูกลงโทษโดยไม่ได้รับความเป็นธรรม
- 14 เม.ย.63 ร้องเรียนผ่านสายตรง ผบ.ทบ. เรื่องการถูกลงโทษโดยไม่ได้รับความเป็นธรรม และเข้าร้องต่อคณะกรรมธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตสภาผู้แทนฯ
- 27 เม.ย.63 ร้องเรียนต่อ กมธ.
2.กองทัพบกได้ดำเนินการตรวจสอบโดยทันที เรื่องการทุจริตในศูนย์ซ่อมสร้างฯ ตามคำสั่งของผบ.ทบ. โดยปัจจุบันคณะกรรมการสอบสวนได้รายงานพบว่าน่าจะมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นจริง ผบ.ทบ.จึงมีคำสั่งให้ดำเนินการต่อไป โดยส่งเรื่องต่อไปให้ ป.ป.ช. พิจารณา
ซึ่งหาก ป.ป.ช. รับเรื่องไว้ไต่สวนและคดีมีมูล ในส่วนการวินิจฉัยจะมีผลทั้งทางคดีอาญาและทางวินัยต่อข้าราชการที่กระทำผิดต่อไป พร้อมยืนยันว่า กองทัพบก ไม่มีการปกป้องผู้ที่กระทำผิดต่อหน่วยงาน เพราะกองทัพบกก็ได้รับความเสียหายจากการทุจริตเช่นกัน
สำหรับการดำเนินการของ ทบ. ในเรื่องการทุจริตนั้น ในช่วงต้นเดือน พ.ค.63 ทางด้านผบ.ทบ. แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเพื่อไต่สวนเรื่องการทุจริต ในศูนย์ซ่อมสร้างฯ จากนั้นช่วงปลายเดือน พ.ค.63 คณะกรรมการฯ ได้สรุปผลการสอบสวน
ทั้งนี้ หากเทียบจากลำดับเหตุการณ์ตามห้วงเวลาจะเห็นได้ว่าการร้องเรียนเข้ามาที่สายตรง ผบ.ทบ. จะสอดคล้องกับห้วงเวลาที่ ผบ.ทบ.สั่งให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการทุจริตศูนย์ซ่อมสร้างฯ แสดงให้เห็นว่า ทบ. ได้ดำเนินการทั้งสองเรื่องควบคู่กันไปโดยทันที แต่อาจจะไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้สาธารณะได้รับทราบ
3. ส.อ.ณรงค์ชัยฯ ถูกดำเนินคดีเพราะขาดราชการ มิใช่เพราะจากการร้องเรียน สืบเนื่องจาก ส.อ.ณรงค์ชัยฯ มีข้อพิพาทกับผู้บังคับบัญชาเรื่องความประพฤติและกระทำผิดวินัยโดยไม่รักษาระเบียบการเคารพระหว่างผู้ใหญ่ผู้น้อย ใช้กิริยาวาจาไม่สมควรต่อผู้บังคับบัญชา ตาม พ.ร.บ.วินัยทหาร มาตรา 2(5),2(7) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือน ก.ย.62
โดยทางหน่วยต้นสังกัดได้มีการดำเนินการตามระเบียบ ด้วยการตั้งคณะกรรมการสอบสวนและมีมติพิจารณาโทษกำหนดจำขัง 7 วัน ตั้งแต่ 18-24 มี.ค. 63 แต่มีการหลบเลี่ยง นำไปสู่การหนีราชการ ตั้งแต่18 มี.ค.63 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งการหนีราชการเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.วินัยทหาร ที่ทหารทุกคนจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หน่วยต้นสังกัด จึงได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนและดำเนินคดีในความผิดฐานหนีราชการ ทั้งในด้านวินัยและอาญา แต่ในกระบวนการทางคดีอาญา ศาลทหารเป็นผู้พิจารณาต่อไป
ดังนั้นจากข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงชี้ให้เห็นได้ว่า ส.อ.ณรงค์ชัยฯ ได้ถูกดำเนินคดีจากฐานความผิดเรื่องหนีราชการ มิใช่จากการที่ไปร้องเรียนการทุจริตในหน่วยงาน ( พ.ร.บ.วินัยทหาร เป็นกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงของกองทัพ และของประเทศชาติ เป็นหลักกฎหมายสากลที่ใช้กับกองทัพทั่วโลก เพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ)
4.หากมีการข่มขู่ถือเป็นคดีอาญา ที่ควรไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนตามกระบวนการยุติธรรม การที่ ส.อ.ณรงค์ชัยฯ ผู้ร้องอ้างว่าถูกข่มขู่ รู้สึกไม่ปลอดภัยนั้น เข้าใจความรู้สึกของ ส.อ.ณรงค์ชัยฯ ที่อาจมีความวิตกกังวลและเครียดกับเหตุการ์ที่เกิดขึ้น จนทำให้รู้สึกว่าตนเองไม่ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม หากมีหลักฐานองค์ประกอบหรือถูกกระทำก็สามารถใช้ช่องทางการแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการตามกฎหมายบ้านเมืองปกติได้ น่าจะเหมาะสมที่สุด ในส่วนของกองทัพบกพร้อมให้ความร่วมมือในทางคดีตามความเป็นจริง
ทั้งนี้เรื่องการข่มขู่คุกคามจะเอาชีวิตนั้น เป็นเรื่องคดีอาญาทั่วไป ซึ่ง ส.อ.ณรงค์ชัยฯ ควรจะใช้กระบวนการทางกฎหมาย โดยไปแจ้งความดำเนินคดีกับพนักงานสอบสวน ซึ่ง ทบ.พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวนในทางคดีตามความเป็นจริง รวมถึงหากพนักงานสอบสวนร้องขอให้มีการคุ้มครองพยานตามขั้นตอนของกฎหมาย
ส่วนกรณีคลิป ฝ่าย สำนักงานทหารพระธรรมนูญ(สธน.)ได้พิจารณาแล้ว เป็นการอบรม และขอขมากัน ในประเด็นผิดวินัยระหว่างผู้ใหญ่ผู้น้อย เมื่อ ก.ย.62 และ ในบทสนทนาไม่ใช่เรื่องคดีเรื่องการทุจริตแต่อย่างใดรวมถึงไม่มีลักษณะการขู่อาฆาต แต่อย่างใด
5.ผบ.ทบ. ไม่ได้มีการสั่งการ ให้มีการดำเนินคดีต่อส.อ.ณรงค์ชัยฯ แต่เป็นการดำเนินการตามสายการบังคับบัญชาของหน่วยต้นสังกัด ส่วนที่บางบุคคลเข้าใจว่า ผบ.ทบ. ทราบเรื่องข่าวการทุจริตแล้ว ยังสั่งให้มีการดำเนินคดีกับ ส.อ.ณรงค์ชัยฯ ฐานหนีราชการ ทั้งที่ ส.อ.ณรงค์ชัยฯ เป็นคนนำเรื่องมาเปิดเผยให้กองทัพบกนั้น ความเข้าใจดังกล่าวอาจอยู่บนพื้นฐานของการมีข้อมูลไม่ครบถ้วน ในข้อเท็จจริง ผบ.ทบ. ไม่ได้มีการสั่งการเกี่ยวกับการดำเนินคดีต่อกำลังพลดังกล่าว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการดำเนินการตามสายการบังคับบัญชาของหน่วยต้นสังกัด
การให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อทางราชการ ถือเป็นเรื่องที่ดีทั้งต่อกองทัพบกและสังคมไทย เหมือนกรณีกำลังพลอีกจำนวนหลายร้อยคน เช่น ผู้ที่ให้ข้อมูลมายัง ผบ.ทบ. ผ่านสายตรง ผบ.ทบ. หรือให้ข้อมูลมายังหน่วยงานที่มีหน้าที่ของ ทบ. เพื่อให้ ทบ. ดำเนินการแก้ไขให้ทุกเรื่องราวเป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสม
ข้อมูล : ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพบก Army PR Center